หน้าแรก

ใครจะเชื่อว่าจากนักเตะอนาคตไกล เจ้าของหมายเลข 24 ของสโมสร มาแชร์ ชัยภูมิ เอฟซี อย่าง คุณนัฐพล อาจประจักษ์ ที่ครั้งหนึ่งเคยฝันไกลถึงการเป็นหนึ่งในนักเตะทีมชาติไทย วันนี้เขาจะผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรไร่อ้อยรุ่นใหม่ ที่นำเอาวิธีการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม เข้ามาใช้อย่างจริงจังเพื่อเพิ่มผลผลิตอ้อย พร้อมกับตั้งความฝันครั้งใหม่ที่จะเป็นต้นแบบเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้กับเพื่อนมิตรชาวไร่รายอื่นๆ ได้นำไปปฏิบัติตาม

จุดเปลี่ยนความฝันจากนักฟุตบอลอาชีพ

"ผมเป็นพี่ชายคนโต มีน้องชายคนหนึ่ง กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยม น้องชายผมเขาเป็นคนหัวดี ตั้งใจเรียนหนังสือมีความฝันอยากจะเป็นหมอ ที่บ้านผมเขาเลยมาคาดหวังให้ผมมาช่วยงานในไร่อ้อยแทน (หัวเราะ)" มิตรชาวไร่หนุ่มเริ่มเล่าประวัติให้เราฟังอย่างอารมณ์ดี

"ถ้าผมไม่ตัดสินใจมาช่วยทำไร่อ้อยแล้ว อนาคตพ่อแม่ผมก็อายุเยอะ น่าจะทำไร่กันเองไม่ไหว ถามว่าอยากเล่นฟุตบอลต่อไหม ใจหนึ่งก็ต้องบอกว่าก็ยังอยากเล่นอยู่นะ มันเป็นความฝันของคนเตะฟุตบอล ที่อยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ อยากติดทีมชาติไทย อยากสวมเสื้อช้างศึกสักครั้ง ผมเชื่อว่าใคร ๆ ก็มีความฝันแบบเดียวกันนี้ แต่เอาจริงใจหนึ่งก็อยากกลับมาอยู่ที่บ้านกลับมาช่วยพ่อแม่ทำไร่อ้อย เห็นผมแบบนี้ตอนเรียนผมก็ช่วยที่บ้านทำไร่อ้อยมาตลอดนะ (หัวเราะ) นักฟุตบอลอาชีพก็อยากจะเป็น เกษตรกรก็อยากจะทำ แต่อย่างว่ามันเลือกทั้งสองอย่างไม่ได้ สุดท้ายก็ตัดสินใจเลือกทำไร่อ้อยดีกว่า"

เดิมทีครอบครัวของคุณนัฐพล ได้เปิดโควตาอ้อยกับทางมิตรผล ไว้เพียงแค่ 3,000 กว่าตัน เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ปัจจุบันได้เพิ่มจำนวนโควตาเป็น 20,000 กว่าตัน ซึ่งในส่วนนี้รวมโควตาของลูกไร่อยู่ 10,000 ตัน ที่เหลือเป็นส่วนโควตาของครอบครัวเขาเองที่ต้องดูแล"ก่อนหน้านี้ผมก็เคยคิดอยู่ตลอดว่าต้องมารับช่วงการทำไร่อ้อยต่อจากที่บ้าน เพราะอาชีพนักฟุตบอลมันมีอายุของมัน ส่วนใหญ่พอนักเตะอายุประมาณ 30 ปี ก็เตรียมที่จะแขวนสตั๊ดกันแล้วเพราะอายุมันเยอะเกินไป ถึงจะดูแลตัวเองดีอย่างไรก็ตามก็วิ่งไม่ไหว ไม่ค่อยมีแรง ตอนนั้นก็คิดว่าพออายุ 30 ยังไงก็ต้องกลับมาทำไร่อ้อย เอาเข้าจริงได้มาทำไร่อ้อยตั้งแต่อายุ 23"

อดีตนักเตะอนาคตไกลเล่าต่อไปว่า

"การมาทำไร่อ้อยตั้งแต่อายุแค่ 23 ปี บางคนอาจจะคิดว่า น่าเสียดาย เลิกเล่นเร็วไป น่าจะเล่นฟุตบอลไปอีกสักระยะหนึ่งก่อน เพราะร่างกายผมก็ยังปกติดี ไม่มีปัญหาการบาดเจ็บอะไร แต่ผมกลับคิดต่างกันว่า แทนที่จะคิดว่าเป็นการเลิกเล่นบอลก่อนเวลา ผมมองว่าผมได้มีโอกาสเริ่มต้นการเป็นเกษตรกรก่อนคนอื่น ๆ หลายปี เริ่มก่อนก็ยิ่งได้เปรียบ (หัวเราะ)"

"ตอนนี้ผมมีพื้นที่ปลูกอ้อยอยู่ประมาณ 1,000 ไร่ ปีที่แล้ว ส่งอ้อยได้ประมาณ 10,000 กว่าตัน อ้อยทั้งหมดก็ส่งให้ทางมิตรผลหมดเลยนะ ถามว่าผลผลิตอ้อยต่อไร่ที่ได้โอเคไหม บอกตามตรงผมคิดว่ายังไม่ค่อยเป็นที่น่าพอใจ หลังๆผมเลยพยายามเอาวิธีทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มเข้ามาช่วย เพราะจากที่ได้ไปศึกษาแล้วมันเป็นวิธีที่น่าจะช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้นและช่วยทำให้การทำไร่อ้อยในยุคนี้สะดวกมากกว่าเดิม"

โมเดิร์นฟาร์มกับเครื่องจักรกลการเกษตร

วิธีการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยรุ่นใหม่อย่างคุณนัฐพล เอามาใช้มีทั้งการนำเครื่องจักรกลการเกษตรที่ทันสมัยเข้ามาใช้ทดแทนแรงงานคนมากขึ้น อย่างเช่น รถตัดอ้อยที่ทางครอบครัวของคุณนัฐพลนำมาใช้งานในไร่ได้เกือบ 3 ปีแล้ว แน่นอนว่าผลที่ได้เป็นที่น่าพอใจ เพราะนอกจากจะช่วยลดต้นทุนด้านแรงงานคนที่นับวันจะหาได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วยังมีส่วนในการช่วยคำนวณเวลาที่ใช้ในการตัดอ้อย ช่วยในการวางแผนการตัดอ้อย ส่งผลให้ไม่มีปัญหากับเรื่องการเข้าคิวหีบอ้อยอีกด้วย

นอกจากรถตัดอ้อยที่ทันสมัยแล้ว มิตรชาวไร่รุ่นใหม่อย่าง คุณนัฐพล ยังได้ใช้เครื่องจักรกลการเกษตรแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม

อีกหลายอย่างมาช่วยงานในไร่อ้อย ไม่ว่าจะเป็นริปเปอร์ หรือ เครื่องปลูกอ้อย ซึ่งเขาบอกว่าตอนนี้ใช้อยู่เกือบ 80 เปอร์เซนต์ โดยพื้นฐานสำคัญอันหนึ่งที่มีส่วนช่วยทำให้เครื่องจักรกลการเกษตรสมัยใหม่ สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพนั้น อดีตนักเตะแข้งทอง เผยเคล็ดลับให้เราฟังว่า

"หลักการง่าย ๆ ที่จะทำให้เครื่องจักรกลการเกษตรทันสมัยที่เรามีอยู่ ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพคุ้มราคาค่าตัวที่ซื้อมานั่นก็คือ เราต้องเตรียมออกแบบรูปแปลงรองรับไว้ เริ่มต้นอย่างง่ายที่สุดเลยก็คือ เราต้องมีการกำหนดระยะห่างระหว่างร่องกว้าง 1.85 เมตร จากเดิมที่ชาวไร่อ้อยทั่วไปนิยมปลูกแถวชิด 1 เมตรบ้าง 1.5 เมตรบ้าง เพราะระยะ 1.85 เมตรนี้เป็นระยะที่เครื่องจักรกลการเกษตรจะทำงานง่ายที่สุด การเข้าไปดูแลอ้อยก็ทำได้สะดวก ประหยัดเวลาค่าใช้จ่าย แถมอ้อยที่ได้ยังให้ผลผลิตที่ดีกว่าเดิม ตอนนี้ผมเริ่มทดลองแถวกว้างที่ 2 เมตรในบางแปลงดูบ้างว่าผลผลิตที่ได้จะใกล้เคียงกันหรือเปล่า ถ้าดีอาจจะมีการขยายระยะห่างให้กว้างขึ้น"

หลักการที่คุณนัฐพล เอามาใช้นั้นได้มาจากหนึ่งในหลักสี่เสาพลัส ของมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ในเรื่องการควบคุมแนวล้อวิ่งของแทรกเตอร์และเครื่องจักรกล (Controlled Traffic) โดยในระบบของมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มจะใช้แถวกว้าง 1.85 เมตร ซึ่งจะพอดีกับรถตัดอ้อยรถแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลทุกชนิด และการวัดระยะระหว่างล้อ 1.85 เมตร คือวัดจากกึ่งกลางล้อถึงกึ่งกลางล้อ ผลที่ได้นอกจากจะช่วยให้เครื่องจักรกลการเกษตรทำงานได้สะดวกรวดเร็วขึ้นแล้ว ยังช่วยลดการเกิดชั้นดินดานที่อนุภาคดินจะถูกอัดรวมกันแน่น ที่เกิดจากการกดทับของเครื่องจักรการเกษตรที่มีน้ำหนักมาก ซึ่งชั้นดินดานนี้ทำให้ช่องว่างที่จะเก็บอากาศและน้ำน้อยลง น้ำจะซึมลงดินได้ช้าลง สัตว์ที่มีประโยชน์ในดิน เช่น ไส้เดือน ไม่สามารถอยู่รอดและเจริญเติบโตได้ในชั้นดินดานนี้รวมทั้งรากอ้อยก็จะเติบโตหาอาหารได้ยาก ทำให้มีปัญหาอ้อยไม่โตส่งผลถึงผลผลิตต่อไร่และค่าความหวานที่ลดลงได้นอกจากนี้ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของการใช้รถตัดอ้อย คือมีส่วนช่วยในเรื่องการตัดอ้อยสดทิ้งใบอ้อยคลุมดิน (Trash Blanket) ซึ่งการตัดอ้อยสดทิ้งใบอ้อยคลุมดินจะมีคุณค่ามาก เพราะดินจะมีสุขภาพดีขึ้นเมื่อมีใบคลุม เก็บความชื้นในดินได้ดีกว่าการเผาอ้อย รวมทั้งยังรักษาธาตุอาหารได้ดีกว่า เมื่อเทียบกับแปลงที่เผาอ้อย

ความท้าทายของการเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่

เมื่อถามถึงความท้าทายของการเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ คุณนัฐพล ตอบคำถามอย่างอารมณ์ดีว่า ความท้าทายสำคัญคือการที่ต้องคอยแบกรับความคาดหวังจากรุ่นก่อน ที่เชื่อมั่นว่าคนรุ่นใหม่อย่างพวกเขาจะต้องมีวิธีการอะไรใหม่ ๆ ที่จะมาเป็นจุดเปลี่ยนในการปรับปรุงการทำไร่อ้อยให้ดียิ่งกว่าเก่า

"ในฐานะรุ่นที่ 2 พ่อแม่เขาจะคาดหวังอยู่ลึก ๆ ว่าเราจะต้องทำอะไรให้ดีกว่ารุ่นพวกเขา อย่างเช่น ผมต้องแก้ไขปัญหาในเรื่องที่รุ่นพ่อแม่ผมเจอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาแรงงานขาดแคลน ปัญหาผลผลิตอ้อยตกต่ำ ผมต้องทำให้มันออกมาดีกว่าเก่า"

ส่วนในเรื่องการใช้เทคโนโลยีช่วยทำงานนั้น มิตรชาวไร่อนาคตไกลได้เล่าให้ฟังว่า

"เพื่อให้มันบริหารง่ายกว่าเดิม ผมเลยใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย อย่างเช่น การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาทำบัญชีไม่ต้องใช้มือบวกเลขไม่ต้องจดใส่กระดาษกับเครื่องคิดเลขเหมือนแต่ก่อน ตอนนี้ก็เริ่มสอนให้พ่อกับแม่ได้ลองหัดลองใช้อยู่เหมือนกัน เริ่มต้นจากเล่นไลน์สวัสดีวันจันทร์ไปก่อน (หัวเราะ)"

ปัจจุบันคุณนัฐพล ยังไม่หยุดเรียนรู้โดยพยายามศึกษา หาข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องการปลูกอ้อย เพื่อพัฒนาความรู้ให้กับตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยหลัก ๆ ได้จากการไปศึกษาดูงานวิธีการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ตามไร่ทดลองของบริษัทมิตรผล แล้วเอาวิธีการที่ได้กลับมาลองใช้ตามคำแนะนำทำให้ในอนาคตเกษตรกรชาวไร่อ้อยรุ่นใหม่คนนี้ มีแผนที่จะขอขยายโควตาอ้อยเพิ่มมากขึ้น เพราะเชื่อมั่นว่าวิธีการทำไร่อ้อยสมัยใหม่ที่เขาได้เอามาใช้นั้นจะให้ผลผลิตอ้อยต่อไร่ที่ดีกว่าเดิมมาก

"ตอนนี้ผมก็ลองทำตามโรงงานอยู่ ผลผลิตอ้อยก็ดีขึ้นเพิ่ม มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้มั่นใจว่ามาถูกทาง การทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มนั้นได้ผลจริง ผมเลยอยากให้มิตรชาวไร่คนอื่น ๆ ลองเปลี่ยนดูบ้าง เพราะเขตอื่น ๆ เขาเปลี่ยนเป็นการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มกันหมดแล้ว ผมอยากเป็นต้นแบบให้เขาดูเป็นตัวอย่างครับ"

เกษตรกรรุ่นใหม่คนเก่งยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผลผลิตอ้อย ต่อไร่ที่ได้จากการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มนั้นเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 18-20 ตันต่อไร่ ไม่ว่าจะเป็นอ้อยปลูกใหม่และอ้อยตอ ซึ่งถือว่าให้ผลผลิตที่น่าพอใจเลยทีเดียว ยังไม่รวมถึงการทำไร่อ้อยด้วยวิธีนี้ช่วยประหยัดต้นทุนการผลิตและ ลดการใช้แรงงาน ด้วยการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่ทันสมัย เช่น รถตัดอ้อยทดแทนแรงงานคนอีกด้วย

จุดแข็งของเกษตรกรรุ่นใหม่

อย่างที่รู้กันว่าในยุค 4.0 นี้ เทคโนโลยี ที่ทันสมัยเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลาย ๆ เรื่อง รวมถึงเรื่องการทำไร่อ้อยด้วย ซึ่งความได้เปรียบของเกษตรกรรุ่นใหม่คือ มีความชำนาญในเรื่องการใช้เทคโนโลยี สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะถ้าเทียบกับเกษตรกรยุคก่อน โดยคุณนัฐพลเกษตรกรหนุ่มรุ่นใหม่ของเราได้ยกประโยชน์เรื่องนี้ให้กับพ่อแม่ของเขาครับ

"ตอนนี้ผมเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยงานกิจกรรมในไร่หลายอย่าง บางอย่างก็เพิ่งเริ่มศึกษา แต่มั่นใจว่าไม่น่ายากเกินความสามารถ เพราะได้คลุกคลีอยู่กับพวกนี้มาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ ต้องขอบคุณพ่อกับแม่ที่แม้จะเรียนแค่ ป.6 แต่ก็ปลูกอ้อยหาเงินจนส่งผมเรียนจนได้รับปริญญาได้ ผมเลยอยากใช้โอกาสที่ได้รับนี้ดูแลงานให้ได้ดีไม่แพ้รุ่นพ่อกับแม่ผม"

ซึ่งทิศทางการเกษตรในอนาคตนั้น นอกจากจะมีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่ทันสมัยและเทคโนโลยีชั้นสูงแล้ว เรื่องการใช้ทรัพยากรที่ดินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างเช่น การรวมแปลง ก็มีส่วนในการสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ ช่วยให้ประเทศไทยของเราคงความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรและสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศได้เราจะเตรียมอะไรเพื่อส่งต่อให้รุ่นต่อไป จากการที่เคยเป็นผู้รับ ที่รับช่วงต่อความสำเร็จมาจากรุ่นพ่อแม่ มาวันนี้ถ้าต้องเป็นผู้ให้บ้าง เกษตรกรรุ่นใหม่อย่างคุณนัฐพลได้เตรียมความพร้อมอะไรไว้บ้างเพื่อเป็นรากฐานให้กับรุ่นต่อไป

"ต้องบอกก่อนว่าตอนนี้ผมยังไม่มีลูกนะ (หัวเราะ) แต่ยังไง อนาคตก็ต้องมีลูกแหละ เท่าที่คิดไว้ตอนนี้คือ ผมจะพยายามทำโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการทำไร่อ้อยไว้ให้รุ่นต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเตรียมแปลงขนาดใหญ่รองรับเครื่องจักรกลการเกษตรขนาดใหญ่ เพื่อให้การบริหารจัดการในแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การเตรียมระบบน้ำให้เพียงพอสำหรับอนาคตที่มีแนวโน้มว่าจะแห้งแล้งขึ้นเรื่อย ๆ การนำเอาระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยให้งานในไร่อ้อยสะดวกสบายง่ายยิ่งขึ้นอย่างเช่นการใช้โดรนในการสำรวจไร่และให้ปุ๋ย เอาง่าย ๆ เลย ว่าอยากให้ลงไร่ทีถือแค่แท็บเล็ตเครื่องเดียวก็เอาอยู่ หรือจะให้ดีดูไร่จากที่บ้านได้เลย"

โดยคุณนัฐพล ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอ้อย ในอนาคตว่า "ในอนาคตอีก 10 ปี 20 ปี ข้างหน้า ที่ผมนึกภาพไว้คือการทำไร่อ้อยน่าจะมีความทันสมัยมากกว่านี้เยอะ อาจจะมีการนำเอาเครื่องจักรกลอย่างพวกหุ่นยนต์เข้ามาช่วยงานแทนแรงงานคนมากขึ้น เตรียมรับกับสังคมผู้สูงอายุที่คนในวัยทำงานจะน้อยลงเรื่อย ๆ รวมไปถึงการพัฒนาระบบขนส่งโลจิสติกส์ ที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย เหมือนการใช้ระบบรางในประเทศออสเตรเลีย รวมไปถึงเครื่องจักรกลการเกษตรขนาดใหญ่ที่ออกแบบมาสำหรับแปลงขนาดใหญ่ และการทำเกษตรแบบแม่นยำ เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากยิ่งขึ้น เพราะในอนาคตพื้นที่เพาะปลูกมีแนวโน้มที่จะน้อยลงเรื่อย ๆ สวนทางกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอยู่ตลอด"

ฝากถึงคนรุ่นใหม่

"ผมได้ลองทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มแล้วได้ผลดี ก็อยากให้คนรุ่นใหม่ หรือจะเป็นเพื่อนมิตรชาวไร่รุ่นเก๋าได้มาลองดูบ้าง เพราะเครืองมือเทคโนโลยีสมัยใหม่มันค่อนข้าง จะสะดวกสบาย ช่วยลดต้นทุนในการทำไร่ ช่วยลดเวลาในการทำงาน แต่ให้ผลผลิตทีมากขึ้น แล้วยังช่วยเพิ่มรายได้มากขึน ผลกำไรต่อปีก็ออกมาเป็นทีน่าพอใจ ยิ่งในช่วงนี้ ลที่ ราคารับซื้ออ้อยค่อนข้างดี เหมือนได้กำไรสองต่อเลยทีเดียว เพียงแต่เราต้องลองเปิดใจก่อนเท่านันเอง" คุณนัฐพล อาจประจักษ์ อดีตนักเตะแข้งทองที่ผันตัวมาเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่กล่าวปิดท้ายด้วยรอยยิ้ม

ข่าวปักหมุด