หน้าแรก

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สุดยอดปราถนาของมิตรชาวไร่ พ.ศ. นี้ คง ไม่มีอะไรตอบโจทย์พวกเราได้ดีไปกว่า "รถตัดอ้อย" คันโต สมรรถนะสูงที่ได้แสดงฝีไม้ลายมือตะลุยตัดอ้อยแทนการใช้แรงงานคนได้มากที่สุดเท่าที่เราเคยบันทึกไว้คือ 825 ตันต่อคันต่อวัน สูสีกับพี่เบิ้มออสเตรเลียได้สบาย ๆ แต่นั้นหมายถึงการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการทำงานของรถตัดอ้อยเข้ามาเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จร่วมด้วย การเพิ่มประสิทธิภาพให้รถตัด จึงเป็นเรื่องที่เราต้องนำมาแชร์กัน

รถตัดอ้อยคันหนึ่งมีความสามารถในการทำงานตัดอ้อยเฉลี่ย 100-300 ตันต่อวัน ช่วยทดแทนแรงงานคนที่นับวันจะหายากขึ้นเรื่อย ๆ และลดความยุ่งยากในการบริหารจัดการแรงงานคนได้อีกมาก ทำให้มิตรชาวไร่สามารถกำหนดเป้าหมายและวางแผนการตัดอ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานคนแล้ว พื้นที่ 100 ไร่ ใช้รถตัดอ้อยตัดเพียง 2 วัน คนร่วมด้วยเพียง 1-2 คน ก็ปิดจ๊อบได้แล้ว จะใช้น้ำมันเพียง 1.5-2 ลิตรต่อไร่แต่หากใช้แรงงานคนต้องใช้มากถึง 30 คน กินเวลานานถึง 1 สัปดาห์ เลยทีเดียว

กระบวนการทำงานของรถตัดอ้อยนั้นจะทำงานร่วมด้วยกับรถตะกร้าหรือรถบิน (Bin) คอยรับท่อนอ้อยที่ผ่านการสับท่อนและลำเลียงสู่รถเซมิเทรลเลอร์ทันทีที่จุดขนถ่ายอ้อยกลางไร่หรือ "Cane yard" ก่อนวิ่งตรงไปยังโรงงานน้ำตาล นี่คือระบบโลจิสติกส์ที่เอื้อให้อ้อยมีคุณภาพดีที่สุด แต่ยังจำเป็นต้องมีการวางแผนการจัดการที่ดีเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้รถตัดอ้อย จึงจำเป็นต้องคิดต่อกันในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

1. ขนาดของแปลงอ้อย หากว่ามีขนาดเล็กเกินไป จะทำให้รถตัดอ้อยทำงานไม่สะดวกเพราะต้องย้ายแปลงบ่อย ๆ ต้องเสียเวลา แปลงทุกแปลงควรมีความยาวของแถวอ้อย มากกว่า 250 เมตร เพื่อลดการกลับรถบ่อยครั้ง ประหยัดเวลาและพลังงาน

2. ถนนหัวแปลงและท้ายแปลง ควรมีความกว้างอย่างน้อย 6 เมตร มีระดับความสูงเท่ากันกับแปลงอ้อย มีความราบเรียบสม่ำเสมอเพื่อความสะดวกในการกลับรถตัดอ้อย ลดการเหยียบย่ำอ้อยในแปลง ระยะระหว่างแถวอ้อยที่เหมาะสมที่สุดคือ 1.85 เมตร หากเป็นร่องอ้อยที่แคบกว่านี้ รถตัดสามารถตัดอ้อยได้แต่จะเกิดความเสียหายจากยางหลังที่เหยียบย่ำอ้อยในแถวถัดไปที่ยังไม่ได้ตัด ทำให้อ้อยแตกหักเสียหายและไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้หรือเก็บเกี่ยวได้แต่มีการสูญเสียเรื่องน้ำหนักอ้อย

3. ความเหมาะสมของรูปร่างเบด เพื่อให้สามารถตัดอ้อยได้ชิดติดดิน และให้หน่อของอ้อยตอเกิดจากใต้ดิน รูปร่างของเบดควรจะต้องมีลักษณะโค้งมนหรือสันเหลี่ยมก็ได้ มีความสูงประมาณ 15 เซนติเมตร ไม่มีหลุมบ่อที่จะทำให้อ้อยตกค้างในแปลงแต่ละร่อง จะทำให้เก็บเกี่ยวอ้อยได้ดีที่สุด ควรมีการปรับระดับพื้นที่เพื่อให้มีการระบายน้ำในแปลงได้ดี ป้องกันปัญหาอ้อยงอกไม่สม่ำเสมอและลดความเสี่ยงของรถตัดอ้อยติดหล่ม

4. การจัดโซนนิ่งอ้อยรถตัด โดยปรับให้แปลงอ้อยที่อยู่ติดกัน มีระยะร่องรองรับรถตัด เพื่อให้เครื่องจักรทำงานได้อย่างต่อเนื่องมากที่สุด ก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้รถตัดอ้อยได้เช่นกัน

ข่าวปักหมุด