หน้าแรก

ระบบนำร่อง หรือ GPS Guidance ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในงานเกษตรกรรม ในพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ต้องการความแม่นยำ (Precision Farming) ในการควบคุมกระบวนการหว่านเมล็ด โรยปุ๋ย และการเก็บเกี่ยว การนำ GPS Guidance มาใช้ในไร่อ้อย จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน เครื่องจักร การลงทุนต่อไร่ต่ำ มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ด้วยระบบ Software และ Hardware สามารถตอบสนองต่อการสำรวจพื้นที่ ออกแบบ การปลูก การชลประทาน การระบายน้ำ การบำรุงรักษา จนกระทั่งการเก็บเกี่ยว ตลอดจนการขนส่ง

เทคโนโลยี GPS Guidance ที่มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มนำมาใช้ เรียกว่า ระบบ GPS Agriculture System ซึ่งจะมี Base Station ช่วยยืนยันตำแหน่งให้ตัว GPS ที่ติดอยู่กับเครื่องจักรกลการเกษตรอย่าง รถแทรกเตอร์ หรือรถตัดอ้อย มีความแม่นยำมากขึ้น โดยใช้ควบคุมแนววิ่งของเครื่องจักรกลการเกษตรให้วิ่งได้ตรงตามแนวที่กำหนดไว้อย่างแม่นยำและสม่ำเสมอ ใช้ระบบการควบคุมพวงมาลัยแบบอัตโนมัติที่มีทั้งระบบไฟฟ้าที่ทำงานกับพวงมาลัยบริเวณวงพวงมาลัย หรือแกนพวงมาลัย คือ Pilot Assisted Steering System และระบบที่มีความแม่นยำสูง พร้อมรองรับงานทุกประเภท คือ ระบบไฮโดรลิค ที่เรียกว่า Autopilot Automated Steering System

ระบบ GPS Guidance นี้ สามารถควบคุมได้หลายคันในเวลาเดียวกัน มีรัศมีครอบคลุมพื้นที่การใช้งานในที่โล่งประมาณ 25 กิโลเมตร แสดงผลแบบเรียวไทม์ผ่านโทรศัพท์มือถือ สามารถย้ายหน้าจอไปยังรถคัดอื่น ๆ ได้ง่าย และใช้ร่วมกับรถทางการเกษตรหรืออุปกรณ์ที่หลากหลายได้ ทั้งนี้ การใช้งาน GPS ต้องมีการปรับแต่งให้มีความเที่ยงตรง (Calibrate) ปีละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย เพื่อให้การทำงานมีความแม่นยำอยู่เสมอ

ปัจจุบัน กลุ่มมิตรผล ได้นำระบบนี้เข้ามาใช้ในไร่อ้อย 2 แห่ง คือ ที่มิตรผลด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี และมิตรผลภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และคาดว่าในไม่ช้า เทคโนโลยีนี้ จะเป็นที่แพร่หลายและนำไปใช้ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกอ้อยขนาดใหญ่ตามแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิต

ข่าวปักหมุด