หน้าแรก

หลายท่านคงเคยได้ยินได้อ่านผ่านหูผ่านตามาบ้างแล้วกับคำว่า “ฟาร์มอัจฉริยะ” หรือ “Smart Farm” คือ การทำเกษตรกรรมที่นำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เป็น เครื่องมือทำงาน เพื่อให้เกิดความสะดวกและง่ายต่อการจัดการ เกิดการประมวลผลอย่างรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำ ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่า เพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิต มีความปลอดภัยต่อเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม…ข้อดีเยอะแยะสาธยายไม่หมดค่ะพี่น้อง เอาเป็นว่าวันนี้จะพามารู้จักเทคโนโลยีใหม่ที่เกี่ยวข้องกับฟาร์มอัจฉริยะ เรียกได้ว่าถ้าจะทำสมาร์ทฟาร์ม หากขาดเทคโนโลยีตัวนี้เจ้าจะไม่อัจฉริยะแน่นอนเจ้าฟาร์มเอ๋ย!

ในการทำงานของฟาร์มอัจฉริยะ มีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องหลายชนิดและหลายระบบ ดังนี้

  1. ระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นผิวโลก (Global Positioning System: GPS)
  2. ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS)
  3. การรับรู้จากระยะไกล (Remote Sensing: RS)
  4. การรับรู้ระยะใกล้ (Proximal Sensing: PS)
  5. เทคโนโลยีจัดการพื้นที่ตามความเหมาะสม (Variable Rate Technology: VRT)
  6. เทคโนโลยีเพื่อการตัดสินใจในระบบการทำฟาร์ม (Crop Models and Decision Support System: DSS)

Innovation Tomorrow ขอพาทุกท่านไปรู้จักกับเทคโนโลยีลำดับที่ 5 ของฟาร์มอัจฉริยะ นั่นคือ Variable Rate Technology (VRT) หรือ เทคโนโลยีจัดการพื้นที่โดยปรับตามความเหมาะสม ซึ่งเทคโนโลยีนี้เป็นการให้ปุ๋ย น้ำ และยากำจัดแมลงศัตรูพืช ตามสภาพความแตกต่างของพื้นที่ โดยมักจะใช้ร่วมกับเทคโนโลยี GPS

ตัวอย่างเช่น การติด GPS ที่รถไถใส่ปุ๋ย โดยอาจทำแผนที่ดิน หรือ Soil Mapping ด้วยเครื่องสแกนหน้าดินที่ติด GPS เช่นกัน จากนั้นข้อมูลสภาพดินจะถูกเก็บไว้ในแผนที่ แล้วส่งให้รถไถที่หยอดปุ๋ยรับข้อมูลว่า ณ ตำแหน่งใด ควรให้ปุ๋ย N, P และ K ในอัตราที่แตกต่างกันอย่างไร สำหรับการให้ยากำจัดแมลงศัตรูพืชก็อาจจะเป็นโปรแกรมที่มีความแตกต่างกันออกไป โดยให้ดูตามประวัติการระบาดของแมลง ส่วนการให้น้ำก็สามารถใช้เทคโนโลยีนี้ได้เช่นกัน โดยอาจใช้ร่วมกับเทคโนโลยี Proximal Sensing หรือ เทคโนโลยีการรับรู้ระยะใกล้ โดยอาศัยเซ็นเซอร์วัดข้อมูลต่าง ๆ ให้ได้ในจุดที่สนใจ เพื่อความถูกต้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้น

ฟังดูน่าสนุกใช่ไหมคะกับการทำงานของ VRT เทคโนโลยี ถึงแม้ในบ้านเราฟาร์มอัจฉริยะหรือฟาร์มที่มีการจัดการอย่างถูกต้องแม่นยำยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับเกษตรกรรายย่อย แต่สำหรับเกษตรกรที่มีไร่ขนาดใหญ่อย่างไร่อ้อย น่าจะหันมาให้ความสนใจในการทำฟาร์มอัจฉริยะกันมากขึ้น เพราะถึงแม้ต้นทุนสำหรับอุปกรณ์จะสูง แต่ก็สามารถลดต้นทุนปัจจัยการผลิตและแรงงานลงได้ไม่น้อยเลยเช่นกัน เหนือสิ่งอื่นใด ถ้าท่านนายกฯอยากให้เราเป็นเกษตร 4.0 อย่างสวยหรูดูแพง ท่านต้องผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพัฒนาระบบ 3G 4G ให้ครอบคลุมพี่น้องเกษตรกรรายย่อยรายใหญ่ทั้งประเทศนะเจ้าคะ เกรงว่าใจอยากจะทันสมัย แต่ความแรงของเน็ตนั้นไซร้ เต่าคลานก็ไม่ปาน อ่ะล้อเล่นนะคะ….บ๊ายบาย

ข่าวปักหมุด