หน้าแรก

“หนอน หนอน หนอน” หยึย!! บางคนแค่ได้ยินคำว่าหนอนก็รู้สึกขยะแขยงอย่างบอกไม่ถูกแล้วใช่ไหมล่ะคะ ยิ่งถ้าเป็นมิตรชาวไร่อย่างเรา ๆ แล้ว พูดถึงหนอนนี่แทบจะกระโดดเหยียบให้แบนติดดินกันไปเลยทีเดียว โดยเฉพาะ “หนอนกออ้อย” ศัตรูร้ายของอ้อยในไร่เรา

หนอนกออ้อย ชื่อนี้ตั้งตามถิ่นที่อยู่ของมัน เพราะเจ้าหนอนตัวนี้อาศัยต้นอ้อยเป็นแหล่งอาหาร จริง ๆ แล้วมันคือ ตัวอ่อนของผีเสื้อกลางคืน ที่อาศัยกัดกินอยู่ภายในหน่ออ้อยหรือลำต้นอ้อย ทำให้อ้อยลำนั้นไส้กลวง หรือเกิดเป็นแผลภายใน ถ้ามองผ่าน ๆ จากด้านนอกจะเห็นว่ายอดอ้อยแห้งเหี่ยวและจะตายในที่สุด ประเทศไทยเรามีหนอนกออ้อยอยู่ถึง 5 ชนิดด้วยกัน ซึ่งขบวนการห้าสีพวกนี้มีทั้ง หนอนกอลายจุดเล็ก หนอนกอสีชมพู หนอนกอสีขาว หนอนกอลายจุดใหญ่ และหนอนกอแถบลาย หนอนกออ้อยลายจุดเล็ก สีชมพู และสีขาว : สร้างปัญหาให้กับอ้อยในระยะแตกกอมากกว่าในระยะอ้อยเป็นลำหนอนกอแถบลายและหนอนกอลายจุดใหญ่ : ชอบอ้อยเป็นลำใหญ่ ๆ

ลักษณะการเข้าทำลาย

เริ่มตั้งแต่ฟักออกมาจากไข่จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม รุมกัดกินบริเวณผิวใบและหน่ออ้อย ก่อนจะลามเจาะเข้าไปภายในลำต้น และยึดเป็นที่อยู่อาศัย เรียกง่าย ๆว่ากินบนเรือนขี้บนหลังคาก็ว่าได้ พอหน่ออ้อยที่อาศัยอยู่ตายก็จะย้ายไปทำลายหน่อใหม่ ดังนั้นหนอนกออ้อย 1 ตัวจึงสามารถทำลายอ้อยได้ 3-4 หน่อ 100 ตัว ก็ 400 หน่อ...โอ้แม่เจ้า น่ากลัวอะไรเช่นนี้

ความรุนแรงในการทำลายอ้อย

หนอนกออ้อยสามารถทำลายอ้อยได้ในทุกระยะการเจริญเติบโต คือ ทำลายหน่อเมื่ออ้อยยังเล็กอยู่ ทำลายทุกส่วน ของลำต้นรวมถึงส่วนยอดของลำต้นเมื่ออ้อยอยู่ในระยะย่างปล้อง และระยะที่อ้อยเจริญเติบโตเต็มที่ ความเสียหายจากศัตรูอ้อยชนิดนี้ทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง 30-50% อ้อยมีการสูญเสียน้ำหนัก 1% จากการที่หนอนกอเข้าทำลายอ้อย 1 ปล้องคุณภาพความหวานจะลดลง 1-4 ซีซีเอส ขึ้นอยู่กับระดับการเข้าทำลายของหนอนกออ้อย 

โดยที่ผ่านมาเคยมีการแพร่ระบาดที่ทำให้อ้อยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงใน 21 จังหวัด คิดเป็นพื้นที่กว่า 8.5 แสนไร่ พบว่าพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ มีการระบาดสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จังหวัดอุดรธานีและจังหวัดขอนแก่น คิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากกว่า 2,000 ล้านบาท หรือกรณีที่บางพื้นที่มีการระบาดของหนอนกออ้อยมากกว่า 90,000 ไร่ ทำความเสียหายให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยจนกระทั่งต้องไถทิ้งเพื่อปลูกใหม่เลยทีเดียวค่ะ

ช่วงเวลาของการแพร่ระบาด

เจ้าหนอนกออ้อยสามารถเข้าทำลายอ้อยได้ทุกเขตทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตที่มีการปลูกอ้อยต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ๆ ซึ่งมีทั้งชนิดที่แพร่ระบาดในหน้าฝน และช่วงที่อากาศร้อนและแห้งแล้งในระยะที่อ้อยกำลังแตกกอ

วิธีกำจัดหนอนกออ้อยแบบฉบับมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม

  1. แนะนำการใช้หลักธรรมชาติดูแลอ้อย ด้วยการปล่อยแตนเบียนไข่ แตนเบียนหนอนและแมลงหางหนีบ ไปจัดการหนอนกออ้อย
  2. ใช้สมุนไพรขับไล่แมลงศัตรู
  3. ไม่ควรเผาใบอ้อย เพราะจะทำให้เกิดการระบาดของหนอนกออ้อยรุนแรงมากขึ้น
  4. ทิ้งใบอ้อยคลุมแปลงไว้ ช่วยลดการเข้าทำลายของหนอนกออ้อยในฤดูถัดไป
  5. ในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรงควรปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อตัดวงจรการระบาดของหนอนกออ้อย เช่น ถั่วต่าง ๆ ข้าวโพด ปอเทือง เป็นต้น ซึ่งเป็นวิธีตามหลักสี่เสาของมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มที่ได้แนะนำให้เพื่อนมิตรชาวไร่ลองเอาไปปรับใช้กัน

ถึงตอนนี้เพื่อนมิตรชาวไร่ก็ได้รู้จักหนอนกออ้อย และวิธีรับมือกันไปแล้ว จะเลือกใช้วิธีไหนก็แล้วแต่ความพร้อมและความเหมาะสมของอ้อยแต่ละไร่นะคะ

ข่าวปักหมุด