หน้าแรก

“น้ำ” เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้สูตรลับโมเดิร์นฟาร์มทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การผลิตอ้อยให้ได้น้ำหนัก 1 ตัน ต้องใช้น้ำประมาณ 96 ลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับปริมาณฝนตก 60 มม. ดังนั้น ถ้าต้องการผลิตอ้อยให้ได้ 20 ตัน/ไร่ จะต้องใช้น้ำประมาณ 1,920 ลูกบาศก์เมตร/ไร่/ปี หรือเทียบเท่ากับปริมาณฝนตก 1,200 มม./ปี

หากต้องการให้อ้อยเจริญเติบโตได้เต็มศักยภาพ การให้น้ำชลประทานเสริมจะเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น นอกจากปริมาณฝนที่อ้อยได้รับในช่วงฤดูฝนปกติแล้ว ควรมีการให้น้ำตามช่วงอายุของอ้อยดังนี้

วิธีเลือกให้น้ำเสริมในไร่อ้อย

ระบบให้น้ำ-003.jpg

จากข้อมูลในตารางจะเห็นว่าระบบน้ำหยดชนิดฝังใต้ดินมีประสิทธิภาพในการให้น้ำสูงที่สุด รองลงมาคือ สปริงเกอร์ขนาดเล็ก สปริงเกอร์ขนาดใหญ่ และการให้น้ำแบบร่อง ซึ่งการใช้ระบบน้ำหยดนั้น ปัจจุบันมีหลายบริษัทนำเข้ามาจำหน่ายและได้จัดทำโครงการส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยใช้ โดยร่วมมือกับโรงงานนํ้าตาล ซึ่งชาวไร่อ้อยสามารถซื้อระบบเงินผ่อนผ่านโรงงานนํ้าตาลได้

ระบบน้ำหยดมี 2 ประเภท คือ

ระบบนํ้าหยดชนิดฝังใต้ดิน มีประสิทธิภาพในการให้นํ้าสูง ประหยัดนํ้า ทั้งยังสามารถให้น้ำพร้อมปุ๋ยน้ำได้ และช่วยประหยัดแรงงานในการเคลื่อนย้ายอีกด้วย แต่มีข้อจำกัดตรงที่ให้น้ำได้เฉพาะพื้นที่ที่วางระบบน้ำหยดใต้ดินเท่านั้น และอายุใช้งานของท่อนํ้าหยดหลังจากรื้อตออ้อยแล้วต้องทิ้งไปทั้งหมด ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก ดังนั้น ระบบนี้จึงเหมาะสำหรับใช้ในแปลงผลิตท่อนพันธุ์อ้อยมากกว่า เพราะช่วยให้อ้อยเจริญเติบโตได้เร็ว สามารถเร่งการเจริญเติบโตด้วยปุ๋ยให้ตัดอ้อยขายเป็นท่อนพันธุ์ได้มากถึงปีละ 2 รอบ

ระบบน้ำหยดบนดิน มีข้อดีคือ สามารถเคลื่อนย้ายได้ ชุดให้นํ้า 1 ชุด ให้นํ้าได้ถึงครั้งละ 5 ไร่ สามารถหมุนเวียนให้น้ำได้กว่า 50 ไร่เลยทีเดียว

ข้อดีของการใช้ระบบนํ้าหยดทั้ง 2 แบบนี้ คือ วัชพืชไม่ขึ้นมารบกวนอ้อยมากนัก เพราะน้ำจะหยดบริเวณกออ้อยเท่านั้น ในขณะที่พื้นที่ระหว่างแถวปลูกจะแห้งจนวัชพืชไม่สามารถงอกและเจริญเติบโตแข่งขันกับอ้อยได้

การใช้ระบบน้ำหยดแม้ว่าจะมีประสิทธิภาพสูงแต่ต้องลงทุนสูงตามไปด้วย ในบางเขตที่สามารถเจาะน้ำบาดาลได้ชาวไร่จึงใช้วิธีขุดเจาะบ่อบาดาลแล้วปั๊มนํ้าขึ้นมา เพื่อให้นํ้าแบบร่องเสริมให้อ้อยในช่วงที่อ้อยกำลังเจริญเติบโตและมีฝนทิ้งช่วง วิธีนี้จะต้องลงทุนค่าจ้างขุดนํ้าบาดาล ค่าปั๊มและมอเตอร์ไฟฟ้า หรือเครื่องยนต์สำหรับเป็นต้นกำลังปั๊มน้ำ และใช้ท่อพีวีซีต่อจากปั๊มเพื่อปล่อยให้น้ำไหลไปตามร่องปลูก การให้น้ำด้วยวิธีนี้ต้องปรับความลาดเอียงของพื้นที่ให้ดีเพื่อให้น้ำไหลไปตามร่องได้อย่างสม่ำเสมอ ไม่มีน้ำท่วมขัง แต่ข้อเสียคือ สิ้นเปลืองน้ำมากและมีการชะล้างหน้าดินสูง

ปัจจัยสำคัญในการให้น้ำเสริมในไร่อ้อยทุกระบบคือ ต้องมีแหล่งน้ำ ทั้งน้ำบาดาลหรือการขุดสระเพื่อกักเก็บนํ้าไว้ใช้ในไร่ นี่คือสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการปลูกอ้อยข้ามแล้ง ในกรณีที่ไม่สามารถติดตั้งระบบชลประทานทุกประเภทได้ อย่างน้อยต้องมีการเตรียมการเพื่อเก็บกักน้ำไว้ในดินให้ได้มากที่สุด ด้วยการใช้ไถระเบิดดินดานไถเตรียมดินในช่วงก่อนที่จะหมดฤดูฝน จะช่วยให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ในดินได้มากขึ้น ส่งผลให้อ้อยสามารถเจริญเติบโตผ่านช่วงฤดูแล้งได้ และบรรเทาความเสียหายจากการตายแล้งของอ้อยได้มากขึ้น

ข่าวปักหมุด