หน้าแรก

“มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม” นวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ที่กลุ่มมิตรผลได้พัฒนาต่อยอดมาจากองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ผ่านการรับรองมาตรฐานในระดับเวิลด์คลาส โดยนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และไลฟ์สไตล์การทำไร่ของมิตรชาวไร่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรไทยมีความเป็นอยู่ที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนภายใต้ “ทฤษฎี สองลด สองเพิ่ม” ที่มุ่งลดต้นทุน ลดระยะเวลาในการทำไร่ เพิ่มผลผลิต และเพิ่มรายได้ใหม่ให้มิตรชาวไร่

ซึ่งพื้นฐานที่ดีของการทำไร่อ้อยตามหลักมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มคือ แปลงที่จะปลูกอ้อย ต้องเป็น “แปลงดี” แปลงดีในที่นี้คือ เป็นแปลงที่มีขนาดที่เหมาะสม สภาพดินเหมาะแก่การเพาะปลูก มีแนวเบดฟอร์ม (Bed Form) เพื่อเอื้อต่อการนำเครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาใช้ในทุกขั้นตอน นับตั้งแต่การเตรียมดิน การปลูก การบำรุงรักษา ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว

อยากได้แปลงดี ต้องรีเซ็ต        

การรีเซ็ต (reset) แปลงอ้อย คือ การรื้อเตรียมแปลงใหม่ทั้งหมดให้รองรับการทำไร่อ้อยแบบโมเดิร์นฟาร์มตั้งแต่เริ่มต้น โดยอายุการใช้งานในการรีเซ็ตแปลงแต่ละครั้งปลูกอ้อยตอได้ 4-5 ปี จากนั้นค่อยเริ่มจัดการแปลงใหม่ เพียงแค่ซ่อมแซมจุดที่สึกหรอ

การรีเซ็ตแปลงอ้อยให้ได้มาตรฐานมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม

  1. อันดับแรกต้องเซอร์เวย์พื้นที่ที่จะรีเซ็ตแปลง จากนั้นจัดการรื้อตอ รวมแปลงใหม่ ให้ได้ขนาดมาตรฐานของโมเดิร์นฟาร์ม ประมาณ 250-400 เมตรต่อแปลง
  2. วางเลย์เอาท์แปลง (lay out) เพื่อจัดทิศทางแถวสำหรับปลูกอ้อย ให้มีความยาวเหมาะสมกับการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ ส่วนมากเราจะแนะนำให้ปลายร่องอยู่แนวทิศตะวันออกจรดทิศตะวันตก เพื่อให้แสงแดดผ่านร่องอ้อย ช่วยให้อ้อยสังเคราะห์แสงได้ดี ทำให้อ้อยเจริญเติบโตดีกว่าอ้อยที่ถูกวางทางทิศเหนือกับทิศใต้
  3. ใช้พรวน 360 ที่มีผาน 12 จาน สับทุกอย่างที่อยู่ในแปลงอ้อยให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ทั้งวัชพืช ตออ้อย ตอไม้ เก่า ๆ จนมองเห็นผิวดิน
  4. ใช้แดรก สแครปเปอร์ ปรับความลาดเอียงของพื้นที่ เพื่อไม่ให้น้ำท่วมขังในแปลง จากนั้นใช้ริปเปอร์ระเบิดดินดาน เพื่อให้ดินชั้นล่าง มีความร่วนซุย มีโพรงอากาศสำหรับรองรับน้ำฝน รองรับรากอ้อยที่ออกไปหากินใต้ดิน ไม่ให้ขดตัว ปิดท้ายด้วยการใช้พรวน 270 ที่มีลักษณะเล็กกว่า 360 แต่มีจานมากกว่าถึง 22 จาน ใช้พรวนเพื่อย่อยสลายดินเตรียมขึ้นเบด
  5. ขั้นตอนการขึ้นเบด เบดที่ใช้มี 2 ตัว คือ เบดเรโนเวเตอร์ (Bed Renovator) ใช้สำหรับดินทราย และ โซนอล โรตาเวเตอร์ (Zonal Rotavator) ที่ใช้กับดินเหนียว
  6. ขั้นตอนสุดท้าย คือ การปลูกพืชบำรุงดิน ในช่วงเดือน กรกฎาคม-กันยายน เมื่อถึงเวลาจะเก็บเกี่ยวหรือไถคลุกก็ได้ หรือจะใช้วิธีแสลชเชอร์ คือการ ตัดให้ล้มแล้วทิ้งให้ย่อยสลายในแปลงก็ได้ ถ้าแปลงไหนมีวัชพืชเยอะเกินไป แนะนำให้ฉีดโซนอลซ้ำหนึ่งรอบเพื่อกำจัดวัชพืช ก่อนลงมือปลูกอ้อย

ทั้งนี้ทั้งนั้น การรีเซ็ตแปลงต้องพิจารณาตามขนาดพื้นที่เป็นสำคัญ ถ้าพื้นที่ขนาดใหญ่เราแนะนำให้ทำโมเดิร์นฟาร์มที่พร้อมรองรับการทำงานของเครื่องจักรขนาดใหญ่ แต่ถ้าพื้นที่เล็กเกินไปมิตรชาวไร่สามารถนำหลักการไปปรับใช้ในขั้นตอนอื่นได้ เช่น การปรับพื้นที่ การระบายน้ำออกจากแปลง เป็นต้น

 

ข่าวปักหมุด