หน้าแรก

ผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า “จุลินทรีย์ท้องถิ่น” กันมาบ้างนะคะ วันนี้เรามาทำความรู้จักเจ้าจุลินทรีย์ตัวนี้กันดีกว่าว่า ทำไมมิตรชาวไร่อย่างเราต้องรู้จักเขาด้วย เขามีประโยชน์อย่างไร ไปติดตามกันค่ะ

จุลินทรีย์ท้องถิ่น เป็นจุลินทรีย์ที่ช่วยในการย่อยสลายอินทรีย์ ที่มีอยู่ในดินทั้งบนผิวดินและใต้พื้นดิน จัดเป็นจุลินทรีย์ที่อยู่ในประเภทจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ช่วยในการกำจัดจุลินทรีย์ที่ไม่มีประโยชน์ หรือจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโทษ (จุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดการเน่าเหม็นต่าง ๆ) ช่วยให้พืชสามารถนำธาตุอาหารต่าง ๆ ไปใช้ได้สะดวก ทำให้พืชแข็งแรง และเจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น

จุลินทรีย์ท้องถิ่น หรือจุลินทรีย์พื้นบ้าน หมายถึง จุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในขอบเขตของระบบนิเวศนั้น ๆ ไม่ได้นำเข้ามาจากภายนอกระบบ ภายนอกท้องถิ่น ภายนอกเมือง ภายนอกประเทศ หรือภายนอกภูมิภาคโลกนั้น ๆ เรียกเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Indigenous Micro Organisms (IMO)

“ไอ เอ็ม โอ (IMO)” เป็นชื่อเฉพาะที่สมาคมเกษตรธรรมชาติแห่งประเทศเกาหลี ใช้เรียก “ราใบไม้สีขาว” ซึ่งเป็นจุลินทรีย์กลุ่มเล็ก ๆ ในกลุ่มราเมือก (Leaf Mold) ที่อาศัยอยู่ภายในขอบเขตพื้นที่เพาะปลูก เป็นสายพันธุ์ที่จะใช้ประโยชน์ในการทำการกสิกรรมไร้สารพิษได้ดี มีคุณภาพสูง จุลินทรีย์ท้องถิ่นเหล่านี้มีประสิทธิภาพดีกว่าจุลินทรีย์ที่ได้จากน้ำหมักอีเอ็ม หรือ พ.ด. สูตรต่างๆ เนื่องจากเป็นจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์จำนวนมาก หลากหลายชนิด สามารถปรับตัวและเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้น ๆ และประการสำคัญคือ จุลินทรีย์ท้องถิ่นนั้น เกษตรกรไม่ต้องไปซื้อหาที่ไหนเพราะมีอยู่แล้วภายในท้องถิ่น อีกทั้งสามารถผลิตใช้ได้เองไม่ยุ่งยาก สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลาย รวมทั้งสามารถพัฒนาคิดค้นสูตรที่เหมาะสมกับระบบการผลิตของตนเองได้อีกด้วย

ประโยชน์ของเชื้อราขาว (จุลินทรีย์ท้องถิ่น)

  • ช่วยย่อยสลายเร็ว (ทำปุ๋ยหมัก)
  • ปรับความเป็นกรดด่างของดิน หรือ pH
  • ทำให้ดินปลดปล่อยแร่ธาตุ
  • ทำให้ดินโปร่ง มีออกซิเจน จุลินทรีย์ทำงานได้เต็มที่ มีประสิทธิภาพ
  • ทำให้พืชต้านทานโรคที่เกิดจากเชื้อรา โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส
  • ป้องกันโรคที่เกิดจากไส้เดือนฝอย และดับกลิ่นเหม็นในคอกสัตว์
  • เพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน

จุลินทรีย์ท้องถิ่นคืออะไร-003.jpg

การเพาะขยายจุลินทรีย์ท้องถิ่นทำอย่างไร

จุลินทรีย์ท้องถิ่นนั้น มิตรชาวไร่สามารถนำมาเพาะขยายด้วยตนเองได้อย่างง่าย ๆ เพียงแต่เราต้องมีดินดีในท้องถิ่นก็สามารถนำมาขยายจนกลายเป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์มากมาย ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

  • เริ่มจากการไปเก็บดินดีจากป่าไม้ในท้องถิ่นหรือจากดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ใกล้บ้าน เช่น บริเวณใต้โคนต้นไม้ บริเวณจอมปลวก เป็นต้น
  • นำดินดีที่เก็บได้มาผสมคลุกเคล้ากับอินทรียวัตถุและส่วนผสมต่าง ๆ หมักทิ้งไว้ 5-7 วัน ก็ได้เป็น หัวเชื้อแห้ง
  • นำมาผสมกับน้ำแล้วหมักทิ้งไว้ 30 วัน ก็จะกลายเป็น หัวเชื้อน้ำ ที่มีความเข้มข้นซึ่งคุณสมบัติดีกว่า สารอีเอ็ม หรือ สาร พ.ด.ที่ขายตามท้องตลาดทั่วไป

ซึ่งหัวเชื้อน้ำที่ผลิตขึ้นเองเหล่านี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลาย ทั้งทำเป็นจุลินทรีย์น้ำสำหรับย่อยสลายอินทรียวัตถุ ทำเป็นสารไล่แมลงและป้องกันโรค ทำเป็นปุ๋ยน้ำหมักช่วยเร่งโต เร่งดอก ใบ ผล (แต่ไม่ควรนำไปรดต้นไม้โดยตรง) อีกทั้งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในด้านอื่น ๆ ได้อีกมากมายแล้วแต่สามารถของแต่ละคนที่จะพัฒนาขึ้นมาใช้งานให้เหมาะสมกับความต้องการของตนค่ะ

ทั้งนี้ การเพาะขยายจุลินทรีย์ท้องถิ่นนอกเหนือจากการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ แล้ว หัวใจสำคัญของเทคนิคนี้คือ การส่งเสริมให้มิตรชาวไร่เป็น เกษตรมือหนึ่ง กล่าวคือ เป็นเกษตรกรที่สามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น เนื่องจากเป็นผู้พัฒนาสูตรต่าง ๆ ขึ้นมาใช้งานเอง ไม่ต้องไปยึดติดกับสูตรจากที่อื่น ๆ เพียงอย่างเดียว อีกทั้งเมื่อได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของสูตรเฉพาะของตัวเอง ก็นับเป็นความภาคภูมิใจอันหนึ่งของเราในฐานะเกษตรกรไทยคนหนึ่งใช่ไหมล่ะคะ.

ขอบคุณที่มา: https://ac127.wordpress.com

ข่าวปักหมุด