หน้าแรก

ปัจจุบันปัญหาอ้อยไฟไหม้ลามมาจากแปลงอื่น ยังมีให้เห็นกันอยู่ตลอด สาเหตุหลักเกิดจากการขายอ้อยให้กับเถ้าแก่ ซึ่งชาวไร่ต้องการให้เถ้าแก่มาตัดอ้อยของตนเองก่อน เพื่อจะได้บำรุงตอ จึงจุดไฟเผาอ้อยทำให้เกิดเหตุไฟไหม้อ้อยและลุกลามไปแปลงอ้อยข้างเคียง ซึ่งบางแปลงต้องการตัดอ้อยสดหรืออายุอ้อยยังไม่ครบกำหนด โรงงานได้อ้อยที่ไม่มีคุณภาพ เพราะสูญเสียน้ำหนักจากการถูกไฟไหม้ เกิดความเสียหายเป็นลูกโซ่

นอกจากความเสียหายที่เกิดโดยตรงกับคุณภาพอ้อยแล้ว การเผาอ้อยยังส่งผลโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ทั้งการเกิดปรากฏการณ์หิมะดำรบกวนชุมชน เถ้าไฟไหม้ลอยตกตามหลังคาบ้านและข้าวของเครื่องใช้ของพี่น้องที่อยู่ละแวกใกล้เคียง รวมถึงปัญหาสุขภาพจากการสูดควันดำเข้าไปสะสมในร่างกายด้วย อีกทั้งเพลิงไหม้อาจลุกลามไปเผาทำลายเครื่องมือเกษตรในแปลงอ้อยได้ ในกรณีที่ดับเพลิงไม่ทันท่วงทีทำให้สูญเสียทรัพย์สิน และต้องลงทุนใหม่ในฤดูกาลถัดไป

หากต้องอาศัยความร่วมมือและจิตสำนึกของชาวไร่อ้อยให้ ตัดอ้อยสด ไม่เผาใบ ส่งเข้าโรงงาน เท่านี้คงไม่เพียงพอ การป้องกันแปลงอ้อยของเราเองจากเหตุไฟไหม้อันไม่พึงประสงค์ จึงสำคัญ มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มจึงมีวิธีลดความเสี่ยง เพื่อป้องกันเหตุไฟลามแปลงอ้อยด้วยการ “สร้างแนวกันไฟ”

การสร้างแนวกันไฟในแปลงอ้อยทำได้หลายวิธี ดังนี้

  1. การสร้างถนนรอบแปลงอ้อย

เริ่มต้นด้วยการปลูกอ้อยระยะห่าง 1.65-1.85 เมตร เพื่อรองรับการทำงานของรถตัดอ้อย และทำถนนกว้างประมาณ 3-6 เมตร รอบแปลงอ้อย ซึ่งนอกจากจะเป็นแนวกันไฟแล้ว ยังเป็นพื้นที่สนับสนุนการทำกิจกรรมในไร่อ้อยให้งานเสร็จเร็วขึ้น ใช้เป็นพื้นที่กลับรถและสามารถใช้เป็นเส้นทางคมนาคมได้อย่าง สะดวกสบาย เมื่อเกิดไฟไหม้แปลงข้างเคียงสามารถนำอุปกรณ์ดับเพลิงเข้าไปทำงานได้อย่างรวดเร็ว

  1. ปลูกพืชอายุสั้นที่ขอบหัวแปลงหรือรอบ ๆ แปลง

การปลูกพืชอายุสั้นที่ขอบหัวแปลงหรือพื้นที่รอบ ๆ แปลง ระยะ 3-6 เมตร เช่น กระเจี๊ยบ ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดอาหารสัตว์ พืชอื่นที่สร้างรายได้ หรือใช้ประกอบอาหารรับประทานในครัวเรือน เป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วสามารถใช้พื้นที่เป็นแนวกันไฟหรือเส้นทางลำเลียงอ้อยออกจากแปลงได้

  1. กวาดใบออกรอบ ๆ แปลงกว้างประมาณ 6-10 เมตร หลังตัดอ้อยเข้าโรงงานหรือใช้ปลูกทำพันธุ์

การตัดอ้อยช่วงต้นหีบที่อายุอ้อย 13 เดือน จะได้น้ำหนักอ้อยและค่าอ้อยสดกลับคืนมาแล้ว หลังจากตัดแล้วควรเก็บกวาดใบออกจากรอบ ๆ แปลงกว้างประมาณ 6-10 เมตร เพื่อป้องกันการเป็นเชื้อไฟและพื้นที่ดังกล่าวยังสามารถใช้เป็นแนวกันไฟ หรือใช้เป็นเส้นทางสัญจรเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้แปลงข้างเคียง และยังสามารถนำน้ำหรืออุปกรณ์ดับเพลิงเข้าไประงับเหตุไฟไหม้อ้อยได้อย่างสะดวก

  1. ปลูกอ้อยหรือตัดอ้อยให้ได้อายุ ช่วงต้นหีบรีบตัดอ้อย แล้วคลุกใบหรือราดน้ำวีแนส

วิธีนี้จะได้อ้อยสดน้ำหนักดี ไม่ถูกหักค่าอ้อยไฟไหม้ ได้ค่าอ้อยสดคืนมา และมีเศษใบอ้อยไว้คลุมดิน ได้บำรุงรักษาอ้อยตอก่อน ทำให้อายุอ้อยตัดเข้าหีบปีต่อไปครบ 12 เดือน และยังเป็นการลดปัญหาไฟไหม้อ้อยได้ดี

และในส่วนของอุปกรณ์ที่ใช้ทำแนวกันไฟทั้ง 4 วิธี ได้แก่ รถแทรกเตอร์ใบมีดหน้า อุปกรณ์พ่วงท้ายต่าง ๆ ตามหน้างาน จอบ เสียม มีด และพันธุ์ พืชอายุสั้นที่เราต้องการปลูก รวมถึงแรงงานที่ใช้ทำกิจกรรมนั้น ๆ

ท้ายที่สุดแล้ววิธีการจากที่กล่าวมาข้างต้น จะเกิดประโยชน์มากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับขนาดของแปลงอ้อยด้วย หากพื้นที่แปลงอ้อยน้อยกว่า 20 ไร่ ก็จะไม่คุ้มค่าในการทำแนวกันไฟ ดังนั้น แนะนำวิธีที่ 4 คือ ให้ปลูกอ้อยหรือตัดอ้อยให้ได้อายุช่วงต้นหีบ รีบตัดอ้อยแล้วทำการคลุกใบหรือราดน้ำวีแนส จะทำให้เราได้ อ้อยสดแถมยังป้องกันไฟไหม้ตออ้อยเราได้ด้วย แต่ทางที่ดีเราต้องช่วยกันณรงค์ตัดอ้อยสด เพื่อไม่ต้องถูกหักค่าอ้อยไฟไหม้ แถมยังได้เงินเพิ่มค่าอ้อยสดกลับมาเป็นกำไร ที่สำคัญแปลงอ้อยมีเศษใบอ้อยคลุมดิน รักษาความชื้นในดิน ป้องกันการงอกของวัชพืช เป็นปุ๋ย กลับคืนให้อ้อย และลดค่าใช้จ่ายในการใช้สารควบคุมวัชพืชได้อีกด้วย

ข่าวปักหมุด