หน้าแรก

“แล้งกลางฤดูฝน” อ่านประโยคนี้แล้ว เจ็บแปลบขึ้นมาทันที เพราะแล้งไม่เพียงทำให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยประสบปัญหาขาดแคลนน้ำทำให้อ้อยชะงักการเจริญเติบโต แต่สภาพอากาศของความแห้งแล้งยังเหมาะสมต่อการระบาดของหนอนกออ้อย ศัตรูตัวฉกาจของมิตรชาวไร่อีกด้วย

หนอนกออ้อย เป็นศัตรูพืชที่สำคัญและสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตอ้อยอย่างกว้างขวางมากที่สุดทั่วประเทศ มิตรชาวไร่ลองคำนวณในใจเล่น ๆ นะคะว่า ในแต่ละปีท่านเสียค่าใช้จ่ายในการฉีดพ่นสารกำจัดศัตรูพืชเพื่อป้องกันและกำจัดหนอนกออ้อยไปมากเท่าไหร่ และหนอนกออ้อยถูกกำจัดไปได้จริงหรือไม่ ที่ตั้งคำถามแบบนี้เพราะว่า เจ้าศัตรูอ้อยตัวนี้จะแฝงตัวอยู่ภายในลำต้นของอ้อย สารกำจัดศัตรูพืชที่พ่นออกไปมักถูกพ่นใส่ไข่ผีเสื้อของหนอนกออ้อยเท่านั้น ด้วยลักษณะของต้นอ้อยที่แตกเป็นกอ มีใบหนาแน่นปกคลุมเต็มพื้นที่ปลูก การฉีดพ่นสารกำจัดศัตรูพืชจึงทำได้ไม่ทั่วถึง และหากต้นอ้อยมีขนาดสูงใหญ่มาก ยิ่งไม่สามารถเข้าไปฉีดพ่นได้เลย ซ้ำร้ายสารกำจัดศัตรูพืชที่ฉีดพ่นออกไปกลับไปทำลาย “แมลงศัตรูธรรมชาติหรือแมลงที่มีประโยชน์” โดยไม่ได้ตั้งใจ

ใช่แล้วค่ะ แมลงศัตรูธรรมชาตินี่แหละพระเอกของเรื่องนี้ จะฤดูแล้งหรือฤดูไหน ฮีโร่ในไร่อ้อยของเราอย่างตัวห้ำ ตัวเบียน แมลงหางหนีบ ยังคงเป็นพระเอกตลอดกาล หากรวมพลังการใช้ศัตรูธรรมชาติร่วมกับสารกำจัดศัตรูพืชที่มีฤทธิ์ป้องกันกำจัดหนอนกออ้อยโดยเฉพาะ รับรองศัตรูร้ายหายเกลี้ยง ซึ่งแมลงที่มีประโยชน์ อย่างตัวห้ำ ตัวเบียนเหล่านี้ คือ อาวุธชีวภาพที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ ที่ทำหน้าที่ควบคุมและกำจัดหนอนกออ้อยหรือแมลงศัตรูอ้อยอื่น ๆ ไปดูตัวอย่างวิธีจัดการหนอนกออ้อยของแมลงเหล่านี้กันค่ะ

  1. ตัวห้ำ (Predators) เป็นสิ่งมีชีวิตที่กินศัตรูอ้อยเป็นอาหาร เช่น แมลงหางหนีบ (Earwig) ที่มีความสามารถในการเสาะหาเหยื่อตามซอกมุมได้เป็นอย่างดี กินไข่ศัตรูพืชเป็นอาหาร โดยใช้แพนหางลักษณะคล้ายคีมหนีบลำตัวเหยื่อแล้วกัดกิน ถ้าเป็นไข่ศัตรูพืชหรือแมลงศัตรูพืชขนาดเล็ก เช่น เพลี้ยอ่อน แมลงหางหนีบจะกัดกินโดยตรง ทั้งนี้ แมลงหางหนีบ 1 ตัวจะสามารถกินเหยื่อได้ประมาณ 20-30 ตัวต่อวัน ทั้งนี้หากแมลงหางหนีบอิ่มแล้ว และยังเจอตัวหนอน จะใช้แพนหางหนีบจนกระทั่งตัวหนอนตาย และจากไปโดยไม่กินและจะหนีบต่อไปเรื่อย ๆ
  2. ตัวเบียน (Parasites) เป็นสิ่งมีชีวิตที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการเบียดเบียนด้านบนหรือด้านในตัวศัตรูอ้อยเพื่อการเจริญเติบโต หรือดำรงอยู่จนครบวงจรชีวิต ทำให้เหยื่ออ่อนแอและตายในที่สุด เช่น แตนเบียน และไส้เดือนฝอย โดยตัวเบียนมีบทบาทมากในการควบคุมปริมาณศัตรูอ้อย อาทิ แตนเบียนไข่ตริโกแกรมม่า และแตนเบียนไข่โคทีเซีย ซึ่งใช้ควบคุมหนอนกออ้อยแพร่หลาย

2.1 แตนเบียนไข่ตริกโคแกรมมา (Trichogramma sp.) ที่มีขนาดเล็กมาก เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้วจะมีขนาดลำตัว ยาวประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร มีตาสีแดง หนวดเป็นปล้องหักพับแบบข้อศอกปีกเป็นแผ่นกว้าง บริเวณเส้นปีกมีขนอ่อนเรียงเป็นแถวชัดเจน ในระยะไข่ ตัวอ่อนและดักแด้ จะเจริญเติบโตอยู่ภายในไข่ของแมลงอาศัย แตนเบียนไข่ตริกโคแกรมมา จะวางไข่ในไข่ของผีเสื้อหนอนกออ้อย ทำให้ไข่ของหนอนกออ้อยเปลี่ยนเป็นสีดำและไม่ฟักเป็นหนอน

2.2 แตนเบียนหนอนโคทีเซีย (Cotesia spp.)เป็นแมลงเบียนระยะหนอนของหนอนกออ้อย ตัวเต็มวัยมีสีดำขนาด1.0 - 2.0 มิลลิเมตร วางไข่ในลำตัวหนอนกออ้อย เมื่อไข่ฟักเป็นหนอนจะดูดกินอยู่ภายในตัวหนอนกออ้อย หนอนของแตนเบียนที่โตเต็มที่จะเจาะผนังลำตัวหนอนกออ้อยออกมาสร้างรังดักแด้ หนอนกออ้อยที่ถูกแตนเบียนโคทีเซียเข้าทำลายจะมีตัวเหลืองซีด เคลื่อนไหวช้า ไม่กินอาหารและตาย โดยแตนเบียนตัวเมียจะมุดเข้าไปในรูที่หนอนกออ้อยเจาะทำลาย เมื่อพบหนอนกออ้อยก็จะแทงอวัยวะวางไข่เข้าไปในตัวหนอนกออ้อย เพื่อวางไข่คราวละมาก ๆ (35 – 60 ฟอง) ต่อครั้ง ไข่แตนเบียนที่อยู่ในตัวหนอนกออ้อยจะฟักเป็นตัวหนอนแตนเบียน ดูดกินอยู่ภายในตัวหนอนกออ้อย เมื่อหนอนแตนเบียนโตเต็มที่จะไชทะลุตัวหนอนกออ้อย ออกมาเข้าดักแด้โดยมีเส้นใยเหมือนใยไหมพันอยู่เป็นกลุ่ม ๆ สีขาว ตัวหนอนกออ้อยก็จะตายไป เมื่อดักแด้แตนเบียนใกล้ฟักจะมีสีดำเมื่อแตนเบียนฟักออกมาเป็นตัวเต็มวัยจะ ผสมพันธุ์ แล้วตัวเมียจะไปวางไข่ในตัวหนอนกออ้อยต่อไป

ดังนั้น หากมิตรชาวไร่พบการระบาดของหนอนกออ้อยในช่วงหน้าแล้ง อย่าเพิ่งรีบร้อนใช้สารกำจัดศัตรูพืช ควรใช้แมลงศัตรูธรรมชาติเป็นผู้ช่วยทำหน้าที่ควบคุมประชากรของหนอนกออ้อยและแมลงศัตรูอ้อยอื่น ๆ แทน เพราะนอกจากจะกำจัดศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังปลอดภัย ไร้สารตกค้าง ดีทั้งต่อตัวเกษตรกรและดีต่ออ้อยอีกด้วย.

ที่มาข้อมูลและภาพจาก สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย

ข่าวปักหมุด