หน้าแรก

อ้อย พืชล้มลุก ตระกูลเดียวกับ หญ้า ข้าว หรือ ข้าวโพด ด้วยลักษณะที่ปลูกง่ายและเก็บเกี่ยวได้หลายครั้ง อ้อยจึงเป็นพืชไร่อีกชนิดที่เกษตรกรในภูมิประเทศร้อนชื้นนิยมปลูก ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน

แม้จะเป็นพืชล้มลุก วงจรชีวิตแต่ละช่วงสั้น ๆ แต่ทั้งเนื้อทั้งตัวของอ้อย สามารถนำมาทำประโยชน์ได้เกือบทุกส่วนทั้งโดยตรงหรือทางอ้อม เริ่มจากลำต้นอ้อยที่นำมาผลิตเป็นอาหารมนุษย์ได้ ทั้งน้ำอ้อย น้ำตาล ชานอ้อยที่ถูกบีบเอาน้ำตาลออกแล้ว นำมาเป็นเชื้อเพลิง อาหารสัตว์ กระดาษ หรือพลาสติกก็ได้ ส่วนกากน้ำตาลที่แยกออกจากน้ำตาลระหว่างกระบวนการผลิต นำมาผลิตเอทานอลหรือเหล้ารัมได้ แม้แต่ใบอ้อยเองยังนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย

ใบอ้อย ส่วนประกอบที่เรียว ยาว แข็งและคม มักถูกเกษตรกรมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการเก็บเกี่ยวอ้อย เพราะแรงงานตัดอ้อยที่มีเหลืออยู่น้อยนิด รังเกียจเหลือเกินที่จะเข้าไปตัดอ้อยในขณะที่มีใบอ้อยหนาปกคลุมทั้งแปลง ทำให้เจ้าของไร่อ้อยต้องลงมือจุดไฟเผาใบอ้อยทิ้งไปอย่างไร้ค่า เพื่อแลกกับแรงงานเข้าตัดอ้อย แต่สิ่งที่เขาสูญเสียไปคือ มูลค่าน้ำหนักของอ้อยสดที่จะได้รับ ค่าความหวานที่หายไป ค่าไฟไหม้ที่โดนหัก รวมถึงใบอ้อยสด ๆ ที่ยังประโยชน์อีกมากมาย

ในทางกลับกัน ไร่อ้อยบางแปลงมีความพร้อมเรื่องรถตัดอ้อย เมื่อตัดอ้อยเสร็จ ใบอ้อยที่ถูกทิ้งเกลื่อนกลาดกลับรกหูรกตา ไม่รู้จะจัดการอย่างไร สุดท้ายคิดสั้นจุดไฟเผาเพื่อเคลียร์พื้นที่ เกษตรกรได้พื้นที่โล่งเปล่ากลับมา แต่สิ่งที่เสียไปคือ หน้าดินที่ถูกทำลายจากการเผา อินทรีย์วัตถุในดินที่ควรจะได้รับ รวมถึงประโยชน์จากใบอ้อยอีกเช่นกัน

ผู้ปลูกอ้อยควรเลิกมอง ใบอ้อย เป็นอุปสรรค เพราะใบอ้อยคม ๆ นี่แหละ คือแหล่งรวมประโยชน์มากมาย จะไว้เป็นใบคลุมดิน เพื่อรักษาความชื้นของดินและป้องกันวัชพืชก็ได้ หรือถ้าอยากได้เงินเพิ่ม ก็หอบไปขายเข้าโรงงานได้ เพราะโรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่จะมีโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลอยู่ร่วมกัน ใบอ้อยที่เกษตรกรนำมาขายเป็นเชื้อเพลิงได้อย่างดี นอกจากจะช่วยให้ประเทศมีพลังงานไฟฟ้าใช้ได้เพิ่มเติม เงินจากการขายใบอ้อย ยังนำมาเป็นทุนในการบริหารจัดการในไร่อ้อยรุ่นต่อไปได้อีกด้วย

ทำของเสียไม่เสียของ-003.jpg

สรุปประโยชน์ของใบอ้อย

  1. เศษใบอ้อยช่วยปกคลุมร่องอ้อยทำให้ดินสามารถเก็บความชื้นได้และช่วยป้องกันการงอกของวัชพืช
  2. มีธาตุอาหารจากเศษใบอ้อยที่ย่อยสลายกลายเป็นอินทรียวัตถุช่วยปรับโครงสร้างดิน ทำให้ดินมีความร่วนซุยและอุดมสมบูรณ์มากกว่าแปลงที่เผาใบทิ้ง

3.แมลงที่เป็นประโยชน์ต่ออ้อยจะยังคงมีชีวิตอยู่กับใบอ้อย แมลงเหล่านี้จะช่วยป้องกับการระบาดของหนอนกอและแมลงศัตรูอ้อยอื่น ๆ ได้

  1. การไม่เผาใบอ้อยทิ้ง ทำให้ลดปัญหาฝุ่นเขม่า ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่เกิดความเสี่ยงไฟไหม้ต่อผู้อยู่ข้างเคียง
  2. ในช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่มีฝนตก เมื่อมีเศษใบอ้อยปกคลุมบนหน้าดิน จะช่วยลดการชะล้างหน้าดิน ทำให้ลดการสูญเสียธาตุอาหารของดิน
  3. การตัดอ้อยสดไว้ใบคลุมดิน ชาวไร่ได้ส่วนแบ่งค่าอ้อยสด (บางพื้นที่ได้ค่าอ้อยสดเพิ่มมากกว่า 100 บาทต่อตันอ้อย) และยังไม่ถูกตัดราคาอ้อยไฟไหม้ตันละ 30 บาท สามารถเก็บใบอ้อยไปขายให้โรงไฟฟ้าได้ในราคาตันละ 1,000 บาท เป็นรายได้เพิ่มอีกทาง

แม้ประโยชน์ของใบอ้อยจะเด่นชัดขนาดนี้ เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยกว่าค่อนประเทศยังเลือกตัดอ้อยเผาใบเป็นทางออกที่หนึ่ง จะด้วยความเร่งรีบหรืออย่างไรก็ดี หากทุกคนไม่ร่วมกันสร้างจิตสำนึก ลดปัญหาฝุ่นควันที่มีให้เห็นกันทุกปี ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมโดยรวม ก็ได้โปรดเห็นแก่เงินที่ท่านมีโอกาสจะได้รับจากการขายใบอ้อยด้วยเถิด คิดเสียว่า เผาใบอ้อยเท่ากับเผาเงินทิ้ง จะดีกว่า.

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.facebook.com/Biorefinery4.0E/posts/2047778228572038/?_rdc=2&_rdr

ข่าวปักหมุด