หน้าแรก

อ้อยพันธุ์ดีๆ มีอยู่หลายสายพันธุ์ แต่การปลูกอ้อยพันธุ์ดีพันธุ์เดียว ซ้ำ ๆ นาน ๆ บนที่ดินเดิม ๆ ไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก เพราะอาจทำให้โรคและแมลงศัตรูอ้อยสามารถพัฒนาชนะอ้อยสายพันธุ์นั้น ๆ จนเกิดโรคระบาดประจำสายพันธุ์ได้ แน่นอนว่าหากมิตรชาวไร่ปลูกอ้อยพันธุ์ที่เกิดโรคระบาดเพียงพันธุ์เดียว นั่นย่อมหมายถึงความเสียหายรุนแรงกำลังย่างเท้าเข้าสู่ไร่อ้อยของท่าน แต่เรื่องนี้ มีวิธีป้องกัน! นั่นคือ ให้ปลูกอ้อยหลากหลายสายพันธุ์มากขึ้น

ปัจจุบัน พื้นที่ปลูกอ้อยของกลุ่มโรงงานน้ำตาลมิตรผล นิยมปลูกอ้อยอยู่เพียง 1 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ขอนแก่น 3 ซึ่งเป็นพันธุ์อ้อย ที่มีความหวานสูง ให้ผลผลิตอ้อยดี (Cane Yield) และผลผลิตน้ำตาล (Sugar Yield) ต่อหน่วยพื้นที่ดี แต่การปลูกอ้อยพันธุ์เดียวมีความเสี่ยง เช่น ในอดีตเราเคยมีการปลูกอ้อยพันธุ์เดียวในพื้นที่กว้างขวาง ได้แก่ อ้อยพันธุ์มาร์กอส (Marcos 66-07) ซึ่งเป็นพันธุ์อ้อยที่ปรับตัวได้ดี ในสภาพดินทรายของภาคอีสาน และขณะนั้นชาวไร่อ้อยนิยมปลูกกันมาก แต่เมื่อเกิดการระบาดของหนอนเจาะลำต้นและยอดอ้อยครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2544 ทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลประสบปัญหาการลดลงของปริมาณอ้อยเข้าหีบอย่างรุนแรง นอกจากนี้ยังเคยมีการระบาดของโรคเหี่ยวเน่าแดงในอ้อยพันธุ์อีเหี่ยวแดงจนทำให้ต้องรีบหาพันธุ์อ้อยทดแทนในพื้นที่ภาคกลางกันยกใหญ่

จะเห็นได้ว่า เมื่อเกษตรกรชาวไร่นิยมปลูกอ้อยพันธุ์เดียว ในพื้นที่กว้างขวางเป็นเวลานาน โรคและแมลงศัตรูอ้อยจะมี การพัฒนาให้สามารถเอาชนะพันธุ์อ้อยพันธุ์นั้น ๆ ได้เสมอ หรือเชื้อโรคบางโรค เช่น เชื้อโรคใบขาว ก็จะมีการสะสมในลำอ้อยมากขึ้นเรื่อย ๆ จนแสดงอาการรุนแรงได้เช่นเดียวกัน อย่างเช่น อ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 ที่ในปัจจุบันจะพบการระบาดของโรคใบขาว โรคเน่าคออ้อย และโรคแส้ดำเพิ่มมากขึ้น

 

ดังนั้น ชาวไร่อ้อยสมัยใหม่ จึงควรหันมาลองปรับหรือจัดสัดส่วนสายพันธุ์อ้อยของตนเองให้เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยง ในการระบาดของโรคและแมลงศัตรูอ้อยอย่างรุนแรง (Outbreak) ดังวิธีการต่อไปนี้

  1. ชาวไร่อ้อยที่มีพื้นที่มากกว่า 50 ไร่ขึ้นไป ไม่ควรปลูกอ้อยพันธุ์เดียว
  2. พื้นที่ลุ่มมีน้ำมาก เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม สามารถปลูกอ้อยพันธุ์แอลเค 92-11 หรือ เคพีเค 98-51 ซึ่งทนน้ำท่วมได้ดีกว่าพันธุ์ขอนแก่น 3
  3. พื้นที่ดินดี น้ำดี สามารถปลูกอ้อยพันธุ์อู่ทอง 12 ได้
  4. พื้นที่ดอนอาศัยน้ำฝน สามารถแบ่งปลูกอ้อยพันธุ์อู่ทอง 14 และอู่ทอง 15 ได้
  5. ชาวไร่อ้อยที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ไร่ขึ้นไป สามารถแบ่ง ปลูกอ้อยอย่างน้อย 4 พันธุ์ขึ้นไป เช่น

          5.1) 40% ของพื้นที่ ปลูกอ้อยพันธุ์หลัก เช่น พันธุ์ขอนแก่น 3

          5.2) 30% ของพื้นที่ ปลูกอ้อยพันธุ์รอง เช่น พันธุ์แอลเค 92-11 อู่ทอง 12 เคพีเค 98-51 ซีเอสบี 03-33 อู่ทอง 14 และ อู่ทอง 15

          5.3) พื้นที่ที่เหลืออีก 30% ปลูกอ้อยพันธุ์ใหม่อย่างน้อยสองพันธุ์

  1. พื้นที่ดินทราย สามารถปลูกอ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 เป็นพันธุ์หลัก โดยมีพันธุ์รอง เช่น อู่ทอง 14 อู่ทอง 15 หรือ ซีเอสบี 03-33 และพันธุ์สำหรับปลายหีบสัก 10% ของพื้นที่ เช่น พันธุ์เค 88-92 เป็นต้น

สรุปแล้ว หลักการสำคัญ คือ ชาวไร่ไม่ควรปลูกอ้อยเพียงแค่สายพันธุ์เดียว เพื่อลดความเสี่ยงนั่นเอง และการปลูกอ้อยพันธุ์ใหม่ ๆ นั้นมิตรชาวไร่สามารถขายเป็นพันธุ์อ้อยแก่ชาวไร่รายอื่น บางครั้งอ้อยพันธุ์ใหม่ที่ปลูกอยู่เกิดความนิยมมากขึ้น มิตรชาวไร่สามารถขยายพันธุ์และเพิ่มปริมาณการปลูก ซึ่งจะสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน มาลองปลูกอ้อยพันธุ์ใหม่ ๆ กันเถอะครับ เพราะนั่นคือ การสร้างโอกาส สร้างรายได้ ให้แก่มิตรชาวไร่ได้เป็นอย่างดี

ข่าวปักหมุด