หน้าแรก

มิตรชาวไร่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า “ดิน” คือปัจจัยสำคัญในการเพาะปลูกอ้อย หากแปลงอ้อยของเราดินอุดมสมบูรณ์ดี นั่นก็แปลว่าผลผลิตอ้อยต่อไร่ก็มีแนวโน้มที่จะดีตาม ซึ่งดินอุดมสมบูรณ์นั้นต้องมีองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เหมาะสม โดยเฉพาะมี “อินทรียวัตถุ” มากเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของอ้อย

อินทรียวัตถุมีความสำคัญต่อคุณสมบัติต่าง ๆ ของดิน เนื่องจากอินทรียวัตถุในดินจะเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของดินทั้งทางด้านกายภาพ เคมี และชีวภาพ ซึ่งมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการเจริญเติบโตของอ้อย หากดินแปลงใดมีอินทรียวัตถุอยู่สูง ดินแปลงนั้นจะอุดมสมบูรณ์ เป็นดินที่มีโครงสร้างที่ดี สามารถถ่ายเทอากาศและระบายน้ำได้ดี อีกทั้งสามารถรักษาความชุ่มชื้นในดินไว้ได้นาน มีความสามารถดูดซับธาตุอาหารที่ได้จากปุ๋ยเคมีไว้ได้นานและค่อย ๆ ปล่อยให้รากอ้อยดูดนำไปใช้

อย่างไรก็ตามอินทรียวัตถุในดินสามารถลดลงได้ ซึ่งการลดลงของอินทรียวัตถุจะทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ และอาจกลายสภาพเป็นดินเสื่อมโทรมต่อไป

สาเหตุการลดปริมาณลงของอินทรียวัตถุในดินที่ใช้ปลูกอ้อย

  1. เนื่องจากภูมิอากาศของประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมทำให้เกิดพายุฝน ซึ่งมีผลทำให้อัตราการย่อยสลายอินทรียวัตถุในดินเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอินทรียวัตถุที่ย่อยสลายส่วนใหญ่จะอยู่ที่ผิวหน้าดิน เมื่อมีฝนตกจึงทำให้มีการชะล้างอินทรียวัตถุออกจากหน้าดินไป
  2. การเตรียมดินปลูกอ้อยด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม เช่น การเผาทำลายเศษซากใบอ้อยก่อนการไถรื้อตออ้อยเก่า หรือการเผาทำลายเศษซากวัชพืชก่อนการไถเตรียมดิน วิธีการเหล่านี้เป็นการทำลายเศษซากพืชที่จะถูกย่อยสลายไปเป็นอินทรียวัตถุในดินโดยตรง รวมถึงการไถพรวนดินมากจนเกินความจำเป็นก็มีผลช่วยเร่งกระบวนการย่อยสลายของอินทรียวัตถุในดินให้เร็วขึ้น ทำให้ดินสูญเสียอินทรียวัตถุได้เร็วขึ้นนั่นเอง
  3. การใส่ปุ๋ยเคมีให้กับอ้อยเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มเติมลงไปในดินด้วย จึงทำให้ปริมาณอินทรียวัตถุในดินลดน้อยลง เพราะปุ๋ยเคมีที่ใส่ให้แต่ธาตุอาหารที่จำเป็นต่ออ้อยเท่านั้น ในปุ๋ยเคมีไม่มีอินทรียวัตถุ ฉะนั้นการเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดินจึงจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์ด้วย
  4. การเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อย ส่วนของอ้อยที่นำไปผลิตน้ำตาลทราย คือ ลำต้น ซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ของอ้อยทั้งต้น ดังนั้นการตัดอ้อยและขนส่งเข้าโรงงานน้ำตาลจึงเป็นการขนย้ายอินทรียวัตถุส่วนใหญ่ที่ได้จากอ้อยออกไปจากแปลงปลูก คงเหลือไว้แต่เศษซากใบ กาบใบ ยอดอ้อย และส่วนของรากอ้อยที่อยู่ใต้ดินที่พอจะย่อยสลายกลายเป็นอินทรียวัตถุกลับคืนสู่ดินได้ แต่ถ้าหากมีการเผาอ้อยก่อนตัด หรือเมื่อตัดอ้อยแล้วเผาเศษซากใบอ้อยเพื่อความสะดวกต่อการบำรุงอ้อยตอแล้ว วิธีการเหล่านี้เป็นการทำลายอินทรียวัตถุในดินให้ลดน้อยลงไปยิ่งขึ้น

จากสาเหตุทั้งหมดที่กล่าวมาเราสามารถฟื้นฟูบำรุงดินเพื่อเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุในดินได้ โดยการใช้ปุ๋ยพืชสดจากการปลูกพืชตระกูลถั่ว การใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือการใส่กากตะกอนหม้อกรองจากโรงงานน้ำตาล ซึ่งเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่จะช่วยเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน

แต่ทั้งนี้ นอกจากภารกิจในการเพิ่มอินทรียวัตถุแล้ว การชะลออัตราการลดลงของอินทรียวัตถุก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะควรงดกิจกรรมที่เป็นการทำลายหน้าดิน งดตัดอ้อยเผาใบที่เป็นการทำลายเศษซากใบที่จะกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ แล้วเปลี่ยนมาเป็นการตัดอ้อยสดไว้ใบคลุมดิน ซึ่งเป็นวิธีที่จะช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุในดินได้เป็นอย่างดี  

ดินเสื่อม-003.jpg

ข้อมูล : http://www.ocsb.go.th/

ภาพประกอบ :
1. https://www.thaiagrinews.org/news/article_154
2. https://www.thaigreenagro.com/

ข่าวปักหมุด