หน้าแรก

ดุเด็ดเผ็ดมันกันมาตลอดช่วงปีที่ผ่านมา กับมาตรการจัดการปัญหาสารเคมีอันตราย 3 ชนิด คลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต ซึ่ง 3 ตัวนี้ เรียกได้ว่าเป็นตัวท็อปของวงการกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะพาราควอต ด้วยคุณสมบัติที่มีกลไกการทำลายวัชพืชเหนือกว่าสารตัวอื่น ทำลายเฉพาะสารสีเขียวที่อยู่ในพืช ฉีดพ่นไปโดนส่วนที่เป็นสีเขียว วัชพืชจะแห้งเหี่ยวตายภายใน 1-2 ชั่วโมง กำจัดหญ้าได้โดยพืชหลักไม่เสียหาย เพราะโคนต้นพืชสวนส่วนใหญ่เป็นสีน้ำตาล ด้วยคุณสมบัติที่เหล่านี้ จึงทำให้พาราควอตเป็นที่นิยม

ในทางกลับกันอันตรายของพิษสะสมจากคลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต ก็รุนแรงระดับพระกาฬเช่นกัน สารเคมีเหล่านี้จะสะสมในดิน ปนเปื้อนในพืช ตกค้างบนผิวหนัง ลงเอยด้วยเนื้อเน่ากับมะเร็งมานักต่อนัก การทำลายล้างแบบสะสมกัดกินสุขภาพทีละเล็กทีละน้อยแต่รุนแรงถึงชีวิตแบบนี้ ส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกแบนการใช้สารอันตรายเหล่านี้ แม้แต่เพื่อนบ้านอย่าง ลาว กัมพูชา เวียดนาม ที่ต่างยกเลิกการใช้ 3 สารนี้ในประเทศ

ในส่วนของประเทศไทย ล่าสุดจากการประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาความคิดเห็นของ 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนรัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค ต่อการยกเลิกคลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำโดย นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการใช้คลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต โดยให้เปลี่ยนจากสารวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นสารวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 และให้ยกเลิกใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป จะต้องไม่มีการใช้ 3 สารอันตรายดังกล่าวในประเทศไทยอีกต่อไป โดยร้านค้าที่มีสารดังกล่าวจำหน่าย จะต้องส่งคืนให้แก่บริษัททั้งหมด เนื่องจากมีข้อมูลในเชิงประจักษ์ว่าสารทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์งมุ่งหวังให้วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นวันดีเดย์ที่ประเทศไทยจะปลอดสารพิษ คนไทยได้สูดอากาศบริสุทธิ์ มีพืชพันธุ์ธัญญาหารบริโภคอย่างปลอดภัยไร้สารปนเปื้อน

ทั้งนี้ผลสรุปจากการพิจารณาความคิดเห็นของทั้ง 4 ฝ่าย จะถูกรวบรวมนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อทราบต่อไป รวมทั้งเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย วันที่ 27 ตุลาคม 2562 นี้

สำหรับมิตรชาวไร่ที่เคยใช้สารเคมี 3 ชนิดดังกล่าวข้างต้น เพื่อกำจัดแมลงศัตรูอ้อย ถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเพื่อจัดการศัตรูพืชด้วยแนวทางใหม่ ทั้งวิธีเขตกรรมต่าง ๆ ชีววิธีที่ดัดแปลงให้เหมาะสมกับพื้นที่ รวมไปถึงสารกำจัดศัตรูพืชประเภทอื่นที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพน้อยลง ทั้งนี้หากใช้สารกำจัดวัชพืชที่ไม่ใช่สารจากธรรมชาติ ต้องศึกษาวิธีการใช้ให้ถูกวิธี ใช้ในปริมาณที่ใช่ วิธีที่ใช่ ในเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดการวัชพืช.

 

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก https://www.thansettakij.com/content/411489

ข่าวปักหมุด