หน้าแรก

การเผาอ้อย เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ราคาอ้อยในประเทศไทยลดลง เนื่องจากอ้อยที่โรงงานต่าง ๆ ได้รับ ไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการ นอกจากนี้การเผาอ้อยยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง ที่สำคัญการเผาอ้อยยังเป็นส่วนหนึ่งของการเกิดฝุ่น PM 2.5 ที่สร้างปัญหาเป็นวงกว้างในไทย

ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาการเผาอ้อยอย่างยั่งยืน รัฐบาลโดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้จัดประชุมหารือร่วมกันกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สมาคมชาวไร่อ้อย และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น เพื่อหาแนวทางลดปัญหาการเผาอ้อยในประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 3 มาตรการ ดังนี้

  1. มาตรการระยะสั้น ให้โรงงานอ้อยและน้ำตาลแต่ละแห่งกำหนดสัดส่วนที่แน่นอนของอ้อยสดและอ้อยเผาที่ได้รับในแต่ละวัน โดยให้มีอ้อยสดไม่น้อยกว่า 60% ทั้งนี้โรงงานและชาวไร่ควรจัดทำแผนระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวและการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากอ้อยร่วมกัน เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องในห้วงเวลาเดียวกัน
  2. มาตรการระยะกลาง ส่งเสริมมาตรการโน้มน้าวใจให้ชาวไร่ตัดอ้อยสด ออกประกาศชัดเจนเกี่ยวกับการหักเงินของอ้อยเผา ทำให้ชาวไร่ตระหนักถึงความสำคัญของการตัดอ้อยสด และกำหนดเขตปลอดอ้อยเผาในจังหวัดที่ปลูกอ้อย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประชาชนอาศัยอยู่ใกล้เคียง
  3. มาตรการระยะยาว กำหนดเป้าหมายและมาตรการร่วมกันเพื่อลดปริมาณอ้อยเผาเป็น 10% ในแต่ละปีเป้าหมายไม่มีอ้อยเผาในปี 2565

แม้การเผาอ้อยจะไม่ใช่สาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะในประเทศไทย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM 2.5 มีปริมาณหนาแน่นขึ้น ซึ่งมาตรการทั้ง 3 ขั้นตอนนี้ รัฐบาลต้องสร้างความร่วมมือและความเชื่อมั่นจากเกษตรกรชาวไร่อ้อย ให้ช่วยขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อลดปัญหาผลกระทบจากการเผาอ้อยอย่างจริงจัง ด้วยการวางแผนบริหารจัดการไร่อ้อยอย่างมีระบบ นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปช่วยงานในไร่อ้อย ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุนให้เกษตรกรไทยก้าวไกลอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม.

ขอบคุณที่มาข้อ

http://sugar-asia.com/

https://earthjustice.org/

ข่าวปักหมุด