หน้าแรก

ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศไทยก็คึกคักมากขึ้น เมื่อห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ งดแจกถุงพลาสติก ทำให้หลาย ๆ คนหันมาใส่ใจเรื่องการลดใช้พลาสติกกันมากขึ้น

นอกจากการลดใช้พลาสติกแล้วยังมีอีกหลากวิธีที่สามารถนำมาใช้เพื่อลดปริมาณขยะในชีวิตประจำวันได้ โดยใช้หลักการ 6R ดังต่อไปนี้ 

  1. คิดใหม่ ทำใหม่ (Rethink/Reinvent): พิจารณาและตั้งคำถามต่อพฤติกรรมการบริโภค

โดยเริ่มจากตั้งคำถามกับตัวเองว่า สินค้าที่จะซื้อมีความจำเป็นสำหรับเราจริง ๆ หรือไม่ ในอนาคตจะได้ใช้มันอีกหรือเปล่า สินค้าชนิดนี้รีไซเคิลได้ไหม คำถามเหล่านี้เป็นเพียงคำถามพื้นฐานที่เราควรจะถามตัวเองทุกวัน และด้วยการใช้เวลาทำความเข้าใจพฤติกรรมการบริโภคของตัวเอง จะทำให้เราเริ่มมีความตระหนักเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

  1. ปฏิเสธ (Refuse): เลือกที่จะไม่สร้างขยะเพิ่ม

วิธีที่ง่ายที่สุดในการลดจำนวนขยะคือการไม่สร้างขยะเพิ่ม แต่ไม่ได้หมายถึงให้หยุดบริโภคสินค้าทั้งหมด แต่ให้หยุดบริโภคสินค้าบางชนิด ตัดสินใจไม่ซื้อสินค้าบางชนิดที่ทำให้เกิดขยะมากกว่าประโยชน์ นอกจากนี้บางคนอาจเลือกที่จะไม่ซื้อสินค้าเพราะคุณภาพของมัน เช่น อายุการเก็บรักษาสั้นหรือซ่อมยาก เพราะจรรยาบรรณของบริษัท เพราะสารเคมีที่เกี่ยวข้อง และอื่น ๆ

  1. ลดการใช้ (Reduce): เลือกที่จะลดจำนวนขยะ

วิธีลดปริมาณขยะง่าย ๆ อีกวิธีคือ การลดการใช้ เราสามารถลดปริมาณวัสดุ สารพิษ และขยะที่จะถูกส่งไปที่หลุมฝังกลบได้ด้วยวิธีเหล่านี้

  • ซื้อแต่ของที่จำเป็น โดยหลีกเลี่ยงการซื้อของแบบฉับพลันไม่ได้ตั้งใจ หรือซื้อของมากเกินไป
  • ซื้อสินค้าที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือเติมใหม่ได้ ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก ใช้ถ้วยกาแฟกระเบื้องแทนถ้วยกระดาษ
  • ซื้อสินค้าปริมาณมากหรือขนาดประหยัด เช่น ซื้อทิชชู่แพ็กใหญ่แทนการซื้อทีละห่อซึ่งจะทำให้ปริมาณขยะมากกว่า
  • หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าปริมาณน้อย ๆ หลาย ๆ อัน
  • เลือกซื้อสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์น้อยกว่า เช่น เลือกซื้อสินค้าที่บรรจุในกล่องและไม่ได้ห่อด้วยถุงพลาสติกอีกชั้น
  1. นำกลับมาใช้ใหม่/ซ่อมแซม (Reuse/repair) : เพิ่มอายุการใช้งานให้กับสินค้า

เราสามารถเพิ่มอายุการใช้งานให้กับสิ่งของได้โดยการนำกลับมาใช้ใหม่หรือซ่อมแซม ก่อนที่จะซื้อของใหม่ให้พิจารณาและให้การซื้อเป็นทางเลือกสุดท้าย เช่น นำกล่องคุกกี้ที่ทานหมดแล้วมาใช้สำหรับเก็บของแทนที่จะซื้อกล่องเก็บของอันใหม่ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่เพื่อเพิ่มอายุการใช้งานให้กับสินค้า

  1. รีไซเคิล (Recycle): เปลี่ยนขยะเป็นวัตถุดิบใหม่

เราสามารถรีไซเคิลขยะให้กลายเป็นวัตถุดิบเพื่อนำกลับมาใช้ในการผลิตสินค้าได้อีกครั้ง โดยการแยกประเภทขยะ เช่น กระป๋องอลูมิเนียมและพลาสติก ถึงแม้ว่าการรีไซเคิลขยะจะต้องใช้ความพยายามมากกว่าการโยนขยะทิ้งลงถังไปเฉย ๆ แต่ก็มีประโยชน์หลายอย่าง ข้อแรก คือ การรีไซเคิลวัสดุ ใช้พลังงานน้อยกว่าการผลิตวัสดุขึ้นมาใหม่ทั้งหมด นอกจากนี้ขยะเหล่านี้ยังไม่ต้องถูกฝังกลับในหลุมเพื่อให้เน่าเปื่อยและย่อยสลาย ทำให้มลพิษในอากาศและน้ำลดลง ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อมไว้ให้คนรุ่นหลัง ส่วนวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้มีหลายประเภท รวมถึงกระดาษ อะลูมิเนียม กรรไกรตัดหญ้า แก้วและพลาสติก น้ำมันเครื่องที่ใช้แล้ว เหล็กกล้าและแบตเตอรี เราสามารถรีไซเคิลวัสดุเหล่านี้ได้โดยแยกทิ้งขยะลงในถังขยะแต่ละประเภท จากนั้นขยะเหล่านี้จะถูกส่งไปที่สถานที่เก็บขยะรีไซเคิลและโรงงานแปรรูปขยะ สำหรับขยะอินทรีย์ตามครัวเรือน หรือไร่นา อย่างเศษอาหาร เศษใบไม้ สามารถนำไปหมักทำปุ๋ยเพื่อใช้แทนปุ๋ยเคมีได้ รวมถึงใบอ้อย กากอ้อย ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ยังสามารถนำมาใช้ได้อย่างคุ้มค่าโดยการส่งเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวล

  1. ซื้อแทน/ซื้อซ้ำ (Replace/Rebuy): เลือกใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เราสามารถส่งเสริมสินค้ารีไซเคิลได้ด้วยการซื้อสินค้าที่ใช้วัสดุรีไซเคิล โดยมองหาฉลากบนหีบห่อที่แสดงเปอร์เซ็นต์ของวัสดุรีไซเคิล ถ้าความต้องการซื้อสินค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้น ธุรกิจต่าง ๆ ก็จะมีแรงจูงใจในการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป นอกจากนี้ยังสามารถเลือกใช้สินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทนสินค้าเก่าที่เคยใช้ เพราะสินค้าเหล่านี้มักจะมีสารเคมีที่เป็นอันตรายน้อยกว่า และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตด้วย

ข้อมูลและภาพจาก

https://actionforclimate.deqp.go.th/?p=6728
https://alittlerosedust.com/the-6-rs-of-sustainability/

ข่าวปักหมุด