หน้าแรก

“เหมือนจะเป็นไข้ เจ็บคอ กินยากันไว้ก่อนดีกว่า”

 “ท้องเสียแบบนี้ต้องกินยาฆ่าเชื้อช่วย จะได้หายเร็ว ๆ ”

“ทำงานหนัก ปวดเมื่อยเนื้อตัว หายาแก้อักเสบมากินซักหน่อย” 

มิตรชาวไร่คะ บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินคำพูดเหล่านี้ จนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไป แต่รู้หรือไม่ว่า ยาแก้อักเสบที่เราได้ยินบ่อย ๆ มันกลับไม่ใช่มีไว้แก้อักเสบ แต่มันเป็นยาปฏิชีวนะ ที่หากใช้ผิดวิธีมีผลต่ออาการดื้อยา และสุดท้ายมีอันตรายถึงชีวิตได้เลยทีเดียว

ยาแคปซูล ที่หลาย ๆ คนมักเรียกว่ายาแก้อักเสบ จริง ๆ แล้วคือ ยาฆ่าเชื้อ หรือยาต้านเชื้อแบคทีเรีย เป็นยาในกลุ่มยาปฏิชีวนะ ซึ่งยาในกลุ่มนี้ต้องมีการใช้ยาอย่างถูกวิธี ภายใต้การดูแลของแพทย์ จึงจะได้มีการใช้ยาได้ตรงกับโรคที่เป็น มีขนาดและปริมาณการกินที่เหมาะสม รวมทั้งระยะเวลาที่เราต้องกินอย่างต่อเนื่องอีกด้วย บ่อยครั้งผู้ป่วยหลายรายมักหยุดกินยาก่อนครบกำหนดเพราะเห็นว่าอาการดีขึ้นแล้ว หายเจ็บแล้ว รวมถึงการไปซื้อยาจากร้านขายยา หรือ แม้แต่การขอแบ่งยาคนรู้จักกินเพราะรู้สึกว่ามีอาการเหมือนกัน หรือนำยาเก่าที่กินไม่หมดกลับมากินต่อ โดยกินไม่ถูกต้อง ล้วนแล้วจะส่งผลต่ออาการดื้อยาในที่สุด

ยาฆ่าเชื้อ หรือ ยาปฏิชีวนะไม่ใช่คำตอบเสมอไปค่ะ บางคนเข้าใจผิดคิดว่ายาฆ่าเชื้อสามารถรักษาอาการอักเสบได้ทุกชนิด แต่ในความเป็นจริงแล้ว เฉพาะคนไข้ที่มีการอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย เมื่อได้รับยาปฏิชีวนะอาการอักเสบจะทุเลาลงได้ เนื่องจากยาปฏิชีวนะสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ จึงดูเสมือนว่ายาปฏิชีวนะใช้แก้อักเสบได้ ดังนั้นข้อบ่งใช้ของการใช้ยาปฏิชีวนะจึงใช้สำหรับรักษาการติดเชื้อจากเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ไม่ได้ใช้เพื่อเป็นยาแก้อักเสบ

เมื่อเรากินยาฆ่าเชื้อเข้าไปแล้ว ยาจะเข้าไปฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ได้รับ ทำให้เรามีอาการดีขึ้น หากเราหยุดยา ลืมกินยา หรือกินไม่ครบ เชื้อโรคที่ยังถูกกำจัดไม่หมดก็จะพัฒนาตัวเองให้ทนต่อฤทธิ์ของยา ทำให้ครั้งต่อ ๆ ไปที่มีการกินยาตัวเดิมเชื้อก็จะทนต่อยา ทำให้รักษาไม่หาย เกิดการดื้อยา รักษายากขึ้น ต้องใช้ยาที่แรงขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลข้างเคียงที่สูงขึ้นเช่นกัน

เช็คอาการ-003.jpg

จากสถิติมีคนไทยเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา เฉลี่ยวันละ 100 คน หรือ ทุก ๆ 15 นาทีจะมีคนเสียชีวิต 1 คน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุก ๆ ปี หากยังไม่มีการจัดการที่ดีพอ โดยคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2593 จะมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาทั่วโลกปีละ 10 ล้านคนเลยทีเดียว

มิตรชาวไร่คงเริ่มเห็นความสำคัญและอันตรายของการกินยาฆ่าเชื้อแบบผิด ๆ กันบ้างแล้วนะคะ และหลังจากนี้เราต้องทำอย่างไรเอ่ยเมื่อเกิด อาการป่วย และเจ็บป่วยแบบใดจึงต้องกินยาฆ่าเชื้อ?

ในปัจจุบันมีการรณรงค์ใน 3 โรคที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ คือ

(1) ไข้หวัด มีน้ำมูก ไข้หวัดใหญ่ ไม่จำเป็นต้องกินยาฆ่าเชื้อ เพราะ 80% ของโรคเกิดจากเชื้อไวรัส การทานยาฆ่าเชื้อจึงไม่ช่วย ยกเว้นกรณีที่มีอาการเจ็บคอ ที่มีอาการต่อมทอนซินมีสีแดงหรือเป็นหนอง ซึ่งแนะนำให้ไปพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง รวมทั้งได้รับคำแนะนำในการกินยาที่เหมาะสมอีกด้วย

(2) บาดแผลเล็กๆ น้อย ๆ ที่มีเลือดออกไม่จำเป็นต้องกิน เพียงล้างแผลให้สะอาดและงดแผลโดนน้ำ หากมีอาการบวมแดงจึงรีบไปพบแพทย์เพราะอาจเกิดอาการติดเชื้อ

(3) ท้องเสีย ถ่ายท้อง เพราะอาการท้องเสีย 90% เกิดจากเชื้อไวรัสหรืออาหารเป็นพิษ แนะนำให้ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทนเกลือแร่ที่สูญเสียไป งดอาหารรสจัด และงดดื่มนม

ยาฆ่าเชื้อ หรือ ยาปฏิชีวนะ จึงไม่ใช่ยาแก้อักเสบอย่างที่หลายคนเข้าใจ ดังนั้นการใช้จึงมีข้อควรระวังหลายอย่าง เพียงเราต้องตระหนักถึงความสำคัญและ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ยาปฏิชีวนะให้ถูกวิธีจึงเป็นการช่วยลดการดื้อยา ลดการใช้ยาที่ไม่ต้องกับโรค และหากมีความจำเป็นต้องใช้ยาก็ควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์ให้ถูกต้อง รวมถึงการกินยาติดต่อกันจนครบกำหนด เพียงเท่านี้เรามิตรชาวไร่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยกันควบคุมไม่ให้เชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อตัวเราเอง ครอบครัว และผู้ป่วยอื่น ๆในอนาคตได้

ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย รักษาสุขภาพกันด้วยนะคะ

ข้อมูลและภาพ

https://www.bumrungrad.com
https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/
https://www.thebangkokinsight.com/
https://www.bbc.com/
http://th.detadoctor.com/

ข่าวปักหมุด