หน้าแรก

ในช่วงปลายปีที่เข้าสู่ฤดูหนาวของไทย แม้ว่าอุณหภูมิจะหนาวได้ไม่นานนัก แต่สายลมที่พัดพาในฤดูกาลนี้ก็บ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่าสภาพอากาศนั้นขาดความชุ่มชื้น ความแห้งแล้งที่มาพร้อมลมหนาวทุก ๆ ปีคือสัญญาณเตือนภัย ให้มิตรชาวไร่ระมัดระวังกับศัตรูตัวร้าย ที่พร้อมจะกลับมาทำลายอ้อยของเราในหน้าแล้งนี้

นอกจากช่วงนี้จะเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ยังเป็นอีกฤดูกาลหนึ่งที่มิตรชาวไร่ของเราต้องตื่นตัวเพื่อเตรียมรับมือกับ “ด้วงหนวดยาว” และ “หนอนกอ” ศัตรูตัวฉกาจที่จะออกอาละวาดในช่วงที่มีสภาพอากาศแห้งแล้ง ซึ่งพบมากในระยะเวลาของการเก็บเกี่ยวไปจนถึงช่วงที่อ้อยแตกกอ ไม่ว่าจะเป็นอ้อยใหม่หรืออ้อยตอก็ตาม โดยมีข้อสังเกตลักษณะอาการของอ้อยที่อาจพบได้ดังนี้

ด้วงหนวดยาว

ลักษณะอาการที่พบ

  1. ตัวหนอนของด้วงหนวดยาวเริ่มเข้าทำลายตั้งแต่ระยะปลูกอ้อย โดยเจาะไชเข้าไปกัดกินเนื้ออ้อยภายในท่อนพันธุ์ ทำให้ท่อนพันธุ์ไม่งอก หน่ออ้อยอายุ 1 - 3 เดือน จะถูกกัดกินตรงส่วนโคนที่ติดกับเหง้าให้ขาดออก ทำให้หน่ออ้อยแห้งตาย
  2. เมื่ออ้อยมีลำแล้วพบว่าการเข้าทำลายของด้วงหนวดยาวจะทำให้กาบใบและใบอ้อยแห้งตายทั้งต้น หรือทั้งกออ้อย หนอนที่มีขนาดเล็กจะกัดกินบริเวณเหง้าอ้อย ทำให้การส่งน้ำและอาหารจากรากไปสู่ลำต้นและใบน้อยลง เมื่อหนอนมีขนาดใหญ่ขึ้นจะเริ่มเจาะไชจากส่วนโคนลำต้นขึ้นไปกินเนื้ออ้อย ทำให้ลำต้นเป็นโพรงเหลือแต่เปลือก ลำต้นอ้อยหักล้มและแห้งตาย

แนวทางการป้องกันและแก้ไข ทำการป้องกันกำจัดด้วยวิธีผสมผสาน ได้แก่

    1. การป้องกันกำจัดด้วยวิธีกล
      • ไถพรวนดินแล้วเก็บตัวหนอนและดักแด้ของด้วงหนวดยาวตามรอยไถก่อนปลูกอ้อย
      • อ้อยระยะแตกกอ ถ้าพบกออ้อยที่มีหน่ออ้อยแห้งตายให้ขุดกออ้อย และเก็บตัวหนอนด้วงหนวดยาวออกไปทำลาย
    2. การป้องกันกำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ
      • สำหรับอ้อยปลูก โรยเชื้อราเขียวเมตาไรเซียม อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ บนท่อนพันธุ์พร้อมปลูก
      • สำหรับอ้อยตอ เปิดร่องอ้อยแล้วโรยเชื้อราเขียวเมตาไรเซียม อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ชิดกออ้อยแล้วกลบดิน
    3. การป้องกันกำจัดด้วยสารเคมี ในพื้นที่ที่มีการระบาดของด้วงหนวดยาวอย่างรุนแรง ให้ป้องกันกำจัดด้วยสารเคมี ดังนี้

      การใช้สารเคมีชนิดน้ำ

      • สำหรับอ้อยปลูก พ่นสารฆ่าแมลง ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออัตรา 320 มิลลิลิตรต่อไร่ บนท่อนพันธุ์อ้อยพร้อมปลูกแล้วกลบดิน
      • สำหรับอ้อยตอ เปิดร่องอ้อยแล้วพ่นสารฆ่าแมลง ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออัตรา 320 มิลลิลิตรต่อไร่ ให้ชิดกออ้อยแล้วกลบดิน

การใช้สารเคมีชนิดเม็ด

    • สำหรับอ้อยปลูก โรยสารฆ่าแมลง ฟิโพรนิล 0.3% จี อัตรา 6 กิโลกรัมต่อไร่ บนท่อนพันธุ์อ้อยพร้อมปลูกแล้วกลบดิน
    • สำหรับอ้อยตอ เปิดร่องอ้อยแล้วโรยสารฆ่าแมลง ฟิโพรนิล 0.3% จี อัตรา 6 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ชิดกออ้อยแล้วกลบดิน
    • (กรณีการใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซียม และสารเคมี ขณะใช้ดินต้องมีความชื้น หรือเป็นพื้นที่ที่สามารถให้น้ำได้)

เตือนภัยการเกษตร-003.jpg

หนอนกอ ที่เข้าไปทำลายอ้อยที่สำคัญมี 3 ชนิด คือ

  1. หนอนกอลายจุดเล็ก หนอนชนิดนี้จะเจาะเข้าไปตรงส่วนโคนระดับผิวดิน เข้าไปกัดกินส่วนที่กำลังเจริญเติบโตภายในหน่ออ้อยทำให้ยอดแห้งตาย การเข้าทำลายของหนอนกอลายจุดเล็กจะทำให้ผลผลิตอ้อยลดลง 5 - 40% นอกจากนี้หนอนยังเข้าทำลายอ้อยในระยะอ้อยย่างปล้อง โดยจะเจาะเข้าไปกัดกินอยู่ภายในลำต้นอ้อยซึ่งทำให้อ้อยแตกแขนงใหม่และแตกยอดพุ่ม
  2. หนอนกอสีขาว จะเจาะไชจากส่วนยอดเข้าไปกัดกินยอดที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้ยอดแห้งตายโดยเฉพาะใบที่ยังม้วนอยู่ ส่วนใบยอดอื่น ๆ ที่หนอนเข้าทำลายจะมีลักษณะหงิกงอ และมีรูพรุน เมื่ออ้อยมีลำแล้วหนอนกอสีขาวจะเข้าทำลายส่วนที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้ไม่สามารถสร้างปล้องให้สูงขึ้นไปได้อีก ตาอ้อยที่อยู่ต่ำกว่าส่วนที่ถูกทำลายจะแตกหน่อขึ้นมาทางด้านข้าง เกิดอาการแตกยอดพุ่ม
  3. หนอนกอสีชมพู หนอนชนิดนี้จะเจาะเข้าไปกัดกินตรงส่วนโคนของหน่ออ้อยระดับผิวดิน เข้าไปกัดกินส่วนที่กำลังเจริญเติบโตภายในหน่ออ้อย ทำให้ยอดแห้งตาย ถึงแม้ว่าหน่ออ้อยที่ถูกทำลายจะสามารถแตกหน่อใหม่เพื่อชดเชยหน่ออ้อยที่เสียไป แต่หน่ออ้อยที่แตกใหม่จะมีอายุสั้นลง ทำให้ผลผลิตและคุณภาพของอ้อยลดลง

แนวทางการป้องกันและแก้ไข

  1. ในแหล่งชลประทาน ควรให้น้ำเพื่อให้อ้อยแตกหน่อชดเชย
  2. ปล่อยแตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมา อัตรา 30,000 ตัวต่อไร่ต่อครั้ง ปล่อยติดต่อกัน 2 - 3 ครั้ง ใช้ช่วงที่พบกลุ่มไข่ของหนอนกอ
  3. เมื่ออ้อยอายุ 1 เดือน หรือเมื่ออ้อยแสดงอาการยอดเหี่ยว 10% ควรพ่นสารฆ่าแมลงเดลทาเมทริน 3% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 2 - 3 ครั้ง ห่างกัน 14 วัน
  4. พ่นสารฆ่าแมลงอินด๊อกซาคาร์บ 15% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอแรนทรานิลิโพรล 20% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ลูเฟนนูรอน 5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบการระบาดของหนอนกออ้อยและทำให้อ้อยแสดงอาการยอดเหี่ยวมากกว่า 10% พ่นโดยใช้น้ำ 60 ลิตรต่อไร

เมื่อเรารู้เท่าทันศัตรูตัวร้ายที่พร้อมจะมาทำลายอ้อยในหน้าแล้งนี้แล้ว ก็อย่าลืมหมั่นสังเกตลักษณะอาการของอ้อย พร้อมกับหาวิธีป้องกันแก้ไข ดูแลอ้อย เพื่อให้ได้ผลผลิตงดงามตามที่คาดหวังกันนะคะ

ข้อมูลจาก : http://at.doa.go.th/ew/pdf/217_dec62_3.pdf

ภาพประกอบ : 

https://www.thairath.co.th/content/587685
http://www.fkx.asia/

ข่าวปักหมุด