หน้าแรก

การเก็บเกี่ยวอ้อย นับเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยตลอดฤดูกาล เพราะเป็นขั้นตอนที่ต้องนำผลผลิตจากอ้อยส่งเข้าโรงงาน เป็นขั้นตอนที่ต้องอาศัยแรงงานคนจำนวนมากเมื่อครั้งอดีต จนเกิดปรากฏการณ์ สร้างงานในเทศกาลตัดอ้อยให้แก่แรงงานเกษตรทั่วประเทศ

กาลเวลาผ่านไป ค่านิยมการทำงานรับจ้างเป็นแรงงานในไร่อ้อยเริ่มลดน้อยถอยลง คนเริ่มหันหน้าเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ส่งผลให้แรงงานเกษตรหายาก จนเทคโนโลยีเครื่องมือเกษตรต่าง ๆ ถูกพัฒนาขึ้นมารองรับการทำงานในไร่มากขึ้น

“รถตัดอ้อย” เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือเกษตรที่ทันสมัย ได้ใจเถ้าแก่ไร่อ้อยไปแบบเต็ม ๆ ด้วยความคุ้มค่า น่าลงทุน ประสิทธิภาพการเก็บเกี่ยวอ้อยได้รวดเร็ว ทันใจ ลดการใช้แรงงานและลดเวลาทำงานในไร่ได้อีกด้วย

รถตัดอ้อยถูกนำเข้ามาใช้งานในเมืองไทยครั้งแรกในปี 2516 แต่ยังไม่เป็นที่นิยมมากนักเนื่องจากราคาที่สูงเกินเอื้อม แพงกว่าต้นทุนการจ้างแรงงานคน กอรปกับสมัยนั้นคนงานหาได้ง่าย จนกระทั่งปี 2534 รถตัดอ้อยจากประเทศออสเตรเลียถูกนำเข้ามาใช้งานอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้รถตัดอ้อยแบบสับเป็นท่อนในประเทศไทยจนเป็นที่นิยมมาถึงทุกวันนี้

โดยกลุ่มมิตรผลของเรามีรถตัดอ้อยของมิตรชาวไร่และของโรงงานรวมกันมากถึง 388 คัน จากที่มีใช้งานอยู่ทั้งประเทศประมาณ 2,500 คัน มีทั้งแบบตัดเป็นลำวางราย ตัดเป็นลำวางกอง และตัดเป็นท่อนแล้วลำเลียงใส่รถบรรทุก

ทั้งนี้ทั้งนั้นแม้มีเครื่องจักรดี แต่สภาพไร่ไม่เหมาะสมต่อการทำงานของเครื่องจักร ความคุ้มค่าก็สูญเปล่า ดังนั้นเมื่อมิตรชาวไร่นำรถตัดอ้อยเข้ามาใช้งานในไร่ และต้องการผลผลิตอ้อยเต็มเม็ดเต็มหน่วย เกิดความเสียหายน้อยที่สุด ต้องวางแผนเตรียมแปลงให้ได้มาตรฐาน ดังนี้

  • เตรียมแปลงด้วยการปรับพื้นที่ให้มีความสม่ำเสมอ
  • กำจัดต้นไม้ ตอไม้ ก้อนหิน และสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ในแปลงออกให้หมด
  • กำหนดแนวร่องให้ยาวที่สุดเท่าที่ขนาดแปลงจะสามารถทำได้
  • มีหัวแปลงสำหรับกลับรถเพื่อไม่ให้เหยียบย่ำตออ้อย
  • ควรปลูกอ้อยให้ท่อนพันธุ์อยู่ลึก 20-25 เซนติเมตร ตามชนิดดินเหนียวหรือดินทราย
  • ใช้ระยะห่างระหว่างร่อง 1.85 เมตรตามมาตรฐานของรถตัดอ้อย
  • ยกร่อง (Bed) หรือพูนโคน ให้ต้นอ้อยอยู่บนสันร่องสูง 10-15 เซนติเมตรเพื่อให้ชุดจานตัดโคนของรถตัดอ้อยตัดได้ชิดดิน เก็บเกี่ยวเอาส่วนโคนที่หวานที่สุด โดยไม่ทำให้ตออ้อยแตกเสียหาย

เมื่อมิตรชาวไร่เตรียมแปลงได้เหมาะสม รองรับการทำงานของรถตัดอ้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือ ควบคุมการใช้งานของรถตัดอ้อย คือ ใช้ความเร็วระหว่าง 4-5 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้รอบพัดลมใหญ่ระหว่าง 800-900 รอบต่อนาที จะเกิดการสูญเสียน้อยที่สุด รถที่เข้ามาบรรทุกอ้อย ต้องวิ่งตามร่องที่กำหนด ให้สอดคล้องกับหลักการควบคุมแนวการวิ่ง 1 ใน 4 เสาหลักของการปลูกอ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม และจะดีที่สุดหากมีรถขนถ่ายอ้อยหรือรถบินเพื่อรับอ้อยจากรถตัดอ้อยแล้วนำมาขนถ่ายให้กับรถบรรทุกที่จอดรอรับบนถนนในไร่ เพราะจะไม่ทำให้ดินในแปลงอ้อยแน่นและช่วยให้รถตัดอ้อยทำงานได้รวดเร็วขึ้น

หากเตรียมแปลงดี ทำแนวร่องยาว มีรถบรรทุกเพียงพอ รถตัดอ้อยหนึ่งคันสามารถตัดอ้อยได้ 35-40 ไร่/วัน หรือ 500-600 ตัน/วัน มิตรชาวไร่จะสามารถตัดอ้อยส่งโรงงาน ได้ในเวลาอันสั้น หมดข้อกังวลเรื่องคิวการส่งอ้อยเหมือนอ้อยมัด การหาแรงงาน ค่าใช้จ่ายในการจัดหาแรงงาน ค่าใช้จ่ายดูแลแรงงาน การรับ-ส่งในแต่ละวัน อีกทั้งปัญหา หนี้สูญจากแรงงานไม่มาทำงานให้ตามสัญญา มีเวลาเหลือไปดูแลบำรุงรักษาอ้อย ให้ “อ้อยตอเป็นกำไร” เพิ่มจำนวนปีในการไว้ตอสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง

อีกประโยชน์ที่สำคัญของการเก็บเกี่ยวโดยใช้รถตัดคือ ลดการเผาอ้อย ที่เป็นส่วนหนึ่งของฝุ่น ควัน มลพิษ เช่น พีเอ็ม 2.5 ที่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมวาระสำคัญของชาติในช่วงฤดูแห้งแล้ง

หากมิตรชาวไร่อยากเป็นส่วนหนึ่งของพลังเล็ก ๆ ที่ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในสังคม “รถตัดอ้อย” ตอบโจทย์ของท่านได้ค่ะ.

ใช้รถตัดอ้อย-003.jpg

ที่มา : วารสารมิตรชาวไร่ เล่ม 5/2019 หน้า 8-9

ข่าวปักหมุด