หน้าแรก

มิตรผล ได้พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีเกษตรที่ได้มาตรฐานสู่การทำไร่อ้อยแบบ “มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม” ที่เน้นการนำเครื่องจักรเข้ามาใช้งานในแปลงอ้อย และการบริหารไร่ด้วยระบบโลจิสติกส์ ทั้งด้านเก็บเกี่ยวและขนส่งอ้อยสู่โรงงาน เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดการสูญเสียพร้อมทั้งรักษาคุณภาพของอ้อยไว้ให้ได้มากที่สุด

มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มขอเล่าถึงการขนส่งอ้อยเข้าโรงงานหรือระบบโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นอีกขั้นตอนที่สำคัญ เพราะการขนส่งอ้อยที่มีประสิทธิภาพ นอกจากช่วยร่นเวลาการทำงานแล้ว ยังช่วยรักษาความสด น้ำหนักและค่าความหวานหรือ ซี.ซี.เอส. ของอ้อยอีกด้วย

ระบบโลจิสติกส์อ้อยรถตัด เป็นการบริหารจัดการการขนส่ง ตั้งแต่อ้อยอยู่ที่ไร่จนถึงโรงงานน้ำตาล โดยควบคุมระยะเวลาจากการตัดอ้อยถึงหีบอ้อย (Cut to Crush) ให้รวดเร็วที่สุด หรือไม่เกิน 8 ชั่วโมง ซึ่งโดยปกติอยู่ที่ 4-6 ชั่วโมง หลังเก็บเกี่ยวเสร็จ เพื่อให้ได้วัตถุดิบในการผลิตน้ำตาลที่มีคุณภาพ ชาวไร่เองก็ได้ประโยชน์จากการขายอ้อยสด ค่าความหวานสูง ซึ่งเป็นมูลค่าเพิ่มที่ท้าทายว่า เราจะออกแบบระบบขนส่งหรือโลจิสติกส์อย่างไรให้ได้มูลค่าเหล่านั้น

 ปัจจุบันระบบโลจิสติกส์ที่เห็นทั่วไปในรูปแบบสไตล์ชาวไร่ และรูปแบบของมิตรผล ที่ใช้ในกระบวนการตัดอ้อยถึงหีบอ้อย มีดังนี้

ระบบโลจิสติกส์-003.jpg

รูปแบบที่ 1 รูปแบบสไตล์ชาวไร่ที่ใช้ระบบโลจิสติกส์อ้อยรถตัดโดยใช้รถบรรทุกสิบล้อ

ระบบนี้เป็นระบบดั้งเดิมตั้งแต่มีการใช้งานรถตัดอ้อยมาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบัน จากเดิมที่ใช้แรงงานคนตัด แต่ละไร่จะมีรถบรรทุกสิบล้อสำหรับใช้ขนส่งอ้อยเข้าโรงงานอยู่แล้ว พอพัฒนามาใช้รถตัดอ้อยเก็บเกี่ยว ก็นำรถบรรทุกที่มีอยู่ วิ่งคู่กับรถตัดอ้อย โดยรถตัดอ้อย 1 คัน ใช้รถบรรทุกสิบล้อวิ่งร่วม 8-10 ตัน การทำงานรถบรรทุกสิบล้อจะวิ่งรองอ้อยคู่กับรถตัดอ้อยทีละคัน เมื่อเต็มแล้วก็นำรถบรรทุกสิบล้อคันอื่นมารองอ้อย ต่อไปเรื่อย ๆ ส่วนรถคันที่อ้อยเต็มแล้วก็จัดการคลุมผ้ากันอ้อยหกหล่น วิ่งเข้าโรงงาน ระหว่างนั้นก็จะมีรถบรรทุกอีกคันรอสับเปลี่ยนหากบริหารจัดการเวลาขนส่งอ้อยไม่ดี

ข้อดีของระบบโลจิสติกส์อ้อยรถตัดโดยใช้รถบรรทุกสิบล้อ คือ ชาวไร่ไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่องจักรในการขนส่งอ้อยเพิ่ม และมีความคล่องตัวในเส้นทางขนส่งสูง โดยเฉพาะเส้นทางที่ถนนแคบ ทางเข้าแปลงอ้อยลำบาก

ส่วนข้อเสียของระบบนี้ ได้แก่

  1. การทำงานของรถบรรทุกสิบล้อในแปลงคู่กับรถตัดอ้อยไม่คล่องตัว เกิดการเหยียบย่ำในแปลงสูง เกิดดินอัดแน่น มีผลต่อการ เจริญเติบโตของตออ้อย เพราะน้ำหนักรวมของรถขณะทำงานร่วมกับรถตัดอ้อยในแปลง มีหนักมากถึง 32 ตัน น้ำหนักมากกว่ารถตัดอ้อยถึง 2 เท่า
  2. เหมาะสำหรับขนส่งระยะทางห่างจากโรงงานไม่เกิน 30 กิโลเมตร หากมากกว่านั้น ต้นทุนค่าน้ำมันดีเซลจะสูงมาก และน้ำหนักบรรทุกอ้อยต่อเที่ยวน้อย เฉลี่ย 20 ตันต่อเที่ยว เมื่อวิ่งหลายเที่ยวค่าน้ำมันก็มากขึ้นด้วย

ระบบโลจิสติกส์-004.jpg

รูปแบบที่ 2 รูปแบบที่มิตรผลแนะนำ ระบบโลจิสติกส์อ้อยรถตัดโดยใช้รถลำเลียงอ้อย (Haulout Bin) ทำงานในแปลงคู่กับรถตัดแล้วนำอ้อยมาเทใส่รถบรรทุกที่จอดรออยู่นอกแปลงอ้อย

ระบบนี้เป็นระบบใหม่ที่ได้รับความนิยมใช้งานตั้งแต่ช่วง 5 ปีที่แล้วถึงปัจจุบัน โดยใช้รถบรรทุกเทข้าวขนาด 6-8 ตัน ลำเลียงอ้อยจากไร่สู่รถบรรทุก (Haulout Bin) จำนวน 2 คัน ขนาดบรรทุก 6-8 ตัน ทำงานในแปลงคู่กับรถตัดอ้อย เมื่ออ้อยเต็มก็นำมาเทใส่รถกึ่งพ่วง semi trailer ที่จอดรออยู่นอกแปลงอ้อย โดยรถตัดอ้อย 1 คัน ใช้รถกึ่งพ่วง semi trailer 4-5 คัน

Haulout Bin จะสลับกันทำงานกับรถตัดไปเรื่อย ๆ โดยคันหนึ่งรองอ้อย จากรถตัด อีกคันเทอ้อยที่เต็มแล้วใส่รถกึ่งพ่วง semi trailer ทำงานสลับกันไปแบบนี้จนกว่า อ้อยจะเต็มคันรถ รถคันที่อ้อยเต็มก็จัดการคลุมผ้ากันอ้อยหกหล่นวิ่งเข้าโรงงาน รถที่มารอที่ไร่แล้ว ก็จอดรับอ้อยจาก Haulout Bin ต่อ ทำให้รถตัดอ้อยทำงานได้ อย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องเสียเวลาจอดรอ ในต่างประเทศเช่น บราซิลกับออสเตรเลีย ใช้ระบบนี้ในการเก็บเกี่ยวทั้งหมด เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพที่โรงงานน้ำตาลทั่วโลกให้การยอมรับ

ข้อดีของระบบโลจิสติกส์อ้อยรถตัดโดยใช้รถลำเลียงอ้อย Haulout Bin

  1. Haulout Bin ทำงานในแปลงคู่กับรถตัดอ้อยมีความคล่องตัว ในการทำงานสูง เครื่องจักรกลับหัวแปลงได้เร็ว
  2. รถตัดอ้อยมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น ประหยัดค่าน้ำมันดีเซล ลดระยะเวลาจอดรอทำงาน ช่วยลดการสึกหรอของเครื่องจักร
  3. น้ำหนักรวมของรถขณะทำงานในแปลงน้อย เฉลี่ย 18 ตัน (น้ำหนักอ้อย 8 ตัน)
  4. Haulout Bin ใช้ยางแบบหน้ากว้าง ลดการเหยียบย่ำตออ้อย ลดการอัดแน่นของดิน ยืดระยะเวลาในการไว้ตออ้อย
  5. Haulout Bin ช่วยให้รถตัดอ้อยสามารถทำงานในพื้นที่ดินทราย ได้ดีกว่าทำงานคู่กับรถบรรทุก

ข้อเสียของรูปแบบที่ 2 คือ ชาวไร่ต้องลงทุนซื้อ Haulout Bin เพิ่มจำนวน 2 คันต่อรถตัดอ้อย 1 คัน ซึ่งหมายถึงเงินลงทุนที่ตามมา และต้องวางแผนจัดการแปลงเพื่อหาพื้นที่ให้ Haulout Bin เทอ้อยใส่รถบรรทุกได้อย่างคล่องตัวอีกด้วย

ซึ่งไม่ว่ามิตรชาวไร่จะเลือกใช้ระบบขนส่งหรือระบบโลจิสติกส์รูปแบบไหนก็ดี การปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด อาทิ การคลุมผ้าใบให้เรียบร้อยมิดชิด การขับขี่อย่างปลอดภัย หมั่นตรวจเช๊คเครื่องยนต์ และบำรุงรักษาให้รถพร้อมใช้งานเสมอ ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะมิตรชาวไร่ของเรานอกจากจะเป็นเกษตรกรมืออาชีพแล้วยังเป็นเกษตรกรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย.

 

ที่มา : วารสารมิตรชาวไร่ ฉบับ มกราคม-กุมภาพันธ์ 2563

ข่าวปักหมุด