หน้าแรก

กาลเวลาที่เปลี่ยนไป มีผลให้แนวคิดและไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนเปลี่ยนแปลงตาม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มักให้ความสนใจกับแสงสีของเมืองใหญ่มากกว่าความเงียบสงบของไร่อ้อย ในขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่เหล่านั้นก็มีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยี และปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ยิ่งหากผนวกกับความสร้างสรรค์ กระตือรือร้น และเอาจริงเอาจัง ต่อสิ่งที่ตัวเองรักด้วยแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเหล่ามิตรชาวไร่ทุกคนย่อมคาดหวังให้ทายาทรุ่นต่อไปของเรา กลายเป็น “คลื่นลูกใหม่” ที่นําความสามารถนั้นของพวกเขา มาใช้ในการทําไร่อ้อยให้ก้าวหน้า ก้าวทันเทคโนโลยี และเพิ่มพูนรายได้ให้มิตรชาวไร่

มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มขอเสนอเรื่องราวของมิตรชาวไร่คลื่นลูกใหม่ที่เห็นคุณค่าในอาชีพชาวไร่อ้อยที่เธอคลุกคลีมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย เราอยากให้ผู้อ่านได้เห็นว่า แม้เธอจะเป็นคนรุ่นใหม่ แต่เธอก็มีความภาคภูมิใจในการทำไร่อ้อย พร้อมที่จะนําเอาเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ และความรู้ต่าง ๆ มาปรับใช้ในไร่อ้อยของเธอ

คุณเอื้อ รัตนาพร พุ่มพันธ์ บัณฑิตสาววัย 23 ปี สําเร็จการศึกษามาจากสาขาวิชาพืชไร่ คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เธอคือทายาทคนสุดท้องของคุณพ่อปัญญา-คุณแม่หนูเจียม พุ่มพันธ์ ชาวไร่เขตส่งเสริมอ้อยที่ 7 ต.หนองแก อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น หนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่หันหลังให้แสงสีในเมืองใหญ่ กลับบ้านมาพร้อมความภาคภูมิใจในการประกอบอาชีพชาวไร่อ้อย และความรู้ที่จะสร้างรายได้ให้ครอบครัวในแบบฉบับเด็ก GEN Y

คุณเอื้อเลือกเรียนด้านเกษตรที่เกี่ยวข้องกับพืชไร่ เพื่อกลับมาพัฒนาไร่อ้อยของพ่อแม่ให้ดีกว่าเดิม เธอเล่าให้ฟังว่า การเรียนการสอนในสาขาวิชาพืชไร่ ที่คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มักเน้นไปที่การเข้าห้องทดลองเกี่ยวกับพันธุศาสตร์และสรีระวิทยาของพืช การวางแผน การทดลอง และสถิติ เป็นต้น ซึ่งบางวิชาเราสามารถปรับใช้ในไร่อ้อยได้ อย่างเช่น เรื่องสถิติ

เอื้อ-003.jpg

ตัวอย่างความรู้จากมหาวิทยาลัยที่เธอนำมาใช้ในไร่ คือแนวคิดการทำปุ๋ยไส้เดือนแทนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ "เราสนใจปุ๋ยไส้เดือน เคยเห็นตอนเรียนวิชาเสรีในมหาวิทยาลัย เขาสอนเรื่องปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ แล้วเราก็ได้เรียนรู้ว่าการมีไส้เดือนอยู่ในไร่เป็นสิ่งที่ดี มูลของไส้เดือนมีประโยชน์ ดินที่มันอยู่ก็ดี เลยเห็นว่ามันน่าสนใจ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาเพิ่มเติม กําลังจะติดต่อไปยังมหาวิทยาลัยแม่โจ้เพื่อศึกษาข้อมูลการทดลองเลี้ยงไส้เดือนที่บ้าน"

นอกจากนี้ เอื้อยังเล่าให้ฟังว่า เพื่อนร่วมรุ่นของเธอในคณะที่อยู่สาขาพืชไร่เช่นกัน มีประมาณ 70 คน โดยส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาจากภาคอีสานที่บางส่วนทางบ้านทําไร่ทํานา และมีบางส่วนเช่นกันที่ทําไร่อ้อย ทําให้ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่าง ลูกหลานชาวไร่ และทําให้เธอทราบถึงความต่างขององค์ความรู้แบบเกษตรสมัยใหม่ ที่ช่วยแก้ปัญหาในไร่อ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากการแลกเปลี่ยนทำให้รู้ว่า แต่ละพื้นที่ทำไร่แตกต่างกัน บางไร่ยังใช้แรงงานคนในการตัดอ้อย ในขณะที่ไร่ของครอบครัวพุ่มพันธ์ใช้รถตัดอ้อยมาแล้วหลายปี แม้โดยปกติหลักสูตรในมหาวิทยาลัยจะสอนเรื่อง ข้าว ข้าวโพด ถั่ว เป็นหลัก มากกว่าความรู้เกี่ยวกับอ้อย แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับเธอ เพราะเธอได้เรียนรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับอ้อยมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว

คุณเอื้อได้รับความรู้ใหม่ในหลายเรื่องจากมหาวิทยาลัยที่เธอไม่เคยรู้มาก่อน แต่ในขณะเดียวกัน เธอก็ได้ใช้ความรู้จากการถ่ายทอดของครอบครัวและการทําเกษตรสมัยใหม่แลกเปลี่ยนให้เพื่อนลูกหลานชาวไร่อ้อยที่ไม่เคยมีโอกาสได้ศึกษาองค์ความรู้นี้ได้รู้จัก และยังได้เห็นภาพชัดว่า ความรู้เกษตรสมัยใหม่ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในไร่อ้อยของเธอได้

นอกจากนี้การเรียนรู้แนวคิดการทำไร่อ้อยสมัยใหม่จากมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ทำให้เธอมองเห็นความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีในการทำไร่อ้อย การที่มิตรผลเข้ามาเผยแพร่วิธีการทำไร่แบบโมเดิร์นฟาร์ม เธอเห็นความเปลี่ยนแปลงในไร่อ้อยมากขึ้น “สมัยเรียนช่วงที่มิตรผลเข้ามา พอกลับบ้านก็จะเห็นรถ เห็นเครื่องมือเยอะขึ้น คนงานน้อยลง เทียบกับตอนเด็กเราจะเห็นคนงานเยอะกว่านี้ เพราะตอนนั้น ที่บ้านยังไม่ได้มีรถตัด ก็ต้องไปหาคนมาตัด โดยมีบ้านพักคนงานให้ แต่ว่ามันเกิดปัญหาคนงานทะเลาะกัน เมาเหล้า หรือเบิกเงินแล้วเชิดเงินไปไม่มาทํางาน ที่บ้านก็เลยตัดปัญหาด้วยการนํารถตัดอ้อยมาช่วย ซึ่งบ้านเราเป็นรุ่นแรก ที่นำรถตัดอ้อยมาใช้ คนแถวนี้ไม่มีใครกล้าทํา แต่เรายอมใช้รถตัดอ้อยที่ราคาสูง ดีกว่ามีปัญหาคนงานเบิกเงินแล้วไม่มาทํางาน เพราะสุดท้ายก็เสียเงินอยู่ดี”

เอื้อมองว่าเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ต่าง ๆ มีส่วนช่วยทําให้เธอและครอบครัวมีเวลามากขึ้นในการทํากิจกรรมอื่นเพื่อพัฒนาไร่ และเพิ่มพูนรายได้ให้ครอบครัว

“เรามีเวลามากขึ้น เพราะในการทําไร่อ้อย วันหนึ่งใช้เวลาไม่เยอะ การมีเครื่องมือสมัยใหม่ทําให้เรามีเวลาไปทําอย่างอื่น ในอนาคตชาวไร่อ้อยน่าจะให้ความสนใจกับเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่มากขึ้น เพราะทุกวันนี้เด็กรุ่นใหม่ ไม่ได้สนใจจะทําไร่ มีเพียงส่วนน้อยที่จะมาตากแดดตากลม ส่วนใหญ่ทายาทไร่อ้อยยุคนี้มักเลือกหันหน้าเข้าเมืองมากกว่า แม้แต่เด็กรุ่นเรายังไม่ค่อยมี คนสนใจ ดังนั้นในอนาคตรุ่นน้องเราก็ไม่น่ามีเช่นกัน ก็จะเหลือแต่คนแก่ที่ทํา รุ่นลูกหลานอย่างเรานี่บางคนเขาไม่ชอบแดด เห็นแดดก็กลัว ดังนั้นเทคโนโลยี นี่แหละที่จะตอบโจทย์การทําไร่ในอนาคตได้ดีที่สุด”

เอื้อ-004.jpg

แน่นอนว่าเมื่อใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยงานในไร่อ้อยมากขึ้น เวลาที่มีเพิ่มขึ้นมา คุณเอื้อได้สร้างตลาดขายสินค้าออนไลน์ รวมถึงการขายประกันและรับจ้างส่งของเข้ากรุงเทพฯอีกด้วย อย่างการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ อนาคตคุณเอื้อกำลังวางแผนเรื่องการเพาะพันธุ์ไส้เดือนขาย และเธอยังอยากปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ปลอดสารพิษขายผ่านออนไลน์ ที่สำคัญเธอยังสนใจที่จะศึกษาด้านภาษาต่อที่ต่างประเทศ เพราะเธออยากไปเผชิญโลกให้กว้างขึ้น เผื่อจะได้มีไอเดียใหม่ ๆ มาพัฒนางานในไร่ต่อไป เธอมองว่าจะไปทำอะไรที่ไหน สุดท้ายเธอก็จะกลับมาทำไร่อ้อยของครอบครัวอยู่ดี

ด้วยความขยันและอยากพัฒนาตนเองตลอดเวลา คุณเอื้อจึงมีโครงการที่อยากทำมากมาย เธอคิดว่า อยากทำอะไรก็รีบวางแผน ลงมือทำ ทำตั้งแต่อายุยังน้อย อย่างน้อยก็ได้เรียนรู้ ถ้ามีข้อผิดพลาดก็รีบแก้ไข แต่ถ้าไปทําตอนที่สายกว่านี้ กว่าจะแก้ไขข้อผิดพลาดได้ก็อาจจะสายเกินไป

มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มเชื่อว่า ด้วยความรู้ที่คุณเอื้อมี แผนการที่เธอวางไว้ ประกอบกับหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความภาคภูมิในฐานะเกษตรกรไร่อ้อย ไม่นานนับจากนี้ เราคงได้เห็นภาพมิตรชาวไร่รุ่นใหม่ ที่ประสบความสําเร็จ และทําให้อาชีพการทำไร่อ้อยยังคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ในโลกที่กําลังเปลี่ยนแปลงนี้อย่างแน่นอน

ข่าวปักหมุด