หน้าแรก

ในการการปลูกพืชผลต่าง ๆ เชื่อว่าเกษตรกรทุกคนก็คาดหวังให้พืชของตนเองนั้นเจริญเติบโตดี รวดเร็ว ให้ผลผลิตที่ดี ซึ่งตัวช่วยที่เราต้องนึกถึงก็คือปุ๋ยนั่นเอง ปุ๋ย คือ วัตถุหรือสิ่งที่ใส่ลงไปในดินเพื่อให้ต้นไม้ที่เราปลูกมีการเจริญเติบโตที่ดี งอกงาม และให้ผลผลิตที่สูง โดยปุ๋ยนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ปุ๋ยวิทยาศาสตร์และปุ๋ยอินทรีย์

ปุ๋ยวิทยาศาสตร์นั้นถึงแม้จะสามารถกำหนดธาตุอาหารได้ และพืชนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที แต่ด้วยราคาที่สูงกว่า ประกอบกับหากมีการใช้ไปนาน ๆ และต่อเนื่องจะส่งผลต่อดิน ทำให้ดินแน่น ระบายน้ำและอากาศได้ไม่ดี ดังนั้นปุ๋ยอีกชนิดที่เป็นทางเลือกที่ดีก็คือปุ๋ยอินทรีย์นั่นเอง ซึ่งนอกจากจะราคาถูกกว่าแล้วยังสามารถทำขึ้นใช้เองได้ ทำให้ดินร่วนซุย อุ้มน้ำ ถ่ายเทน้ำ และ ระบายอากาศได้ดี แต่ก็มีข้อเสียที่ให้ปริมาณธาตุอาหารพืชต่ำ และต้องใช้ระยะเวลานานในการสลายตัว ปล่อยธาตุอาหารออกมาให้พืช

ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยมูลสัตว์ จัดเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่ง ประกอบไปด้วยเศษของพืชและสัตว์ ซึ่งเป็นอาหารที่สัตว์กินเข้าไปแล้วไม่สามารถย่อย หรือนำไปใช้ประโยชน์ได้หมด จึงเหลือเป็นกากที่สัตว์ขับถ่ายออกมา โดยเศษอาหารเหล่านี้ได้ผ่านกระบวนการย่อยสลายไปบางส่วนแล้วในทางเดินอาหาร ดังนั้น ในส่วนที่เป็นมูลสัตว์จึงยังอุดมไปด้วยธาตุอาหารชนิดต่าง ๆ รวมทั้งสารอินทรีย์ที่ละลายน้ำได้หลายชนิด ซึ่งเมื่อรวมกันเข้าก็จะมีองค์ประกอบที่สามารถใช้เป็นธาตุอาหารที่สมบูรณ์ของพืชได้

ส่วนมูลสัตว์แต่ละชนิดจะมีธาตุอาหารชนิดใดมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารที่สัตว์ชนิดนั้น ๆ กินเข้าไปเป็นปัจจัยสำคัญ รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ ระบบการย่อยอาหารของสัตว์ วิธีการให้อาหารรวมทั้งการจัดการรวบรวมมูลสุกรและของเสียในฟาร์มด้วย จากการศึกษาปริมาณธาตุอาหารพืชที่มีอยู่ในมูลสัตว์ชนิดต่าง ๆ พบว่ามูลสัตว์แต่ละชนิดมีปริมาณธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรองและจุลธาตุอาหารในปริมาณที่แตกต่างกัน เมื่อเปรียบเทียบปริมาณธาตุอาหารในมูลสัตว์ชนิดต่าง ๆ จะเห็นว่ากากตะกอนของมูลสุกรจากบ่อหมักก๊าซชีวภาพ รวมทั้งมูลของไก่ไข่มีปริมาณธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก ทองแดง แมงกานีสและสังกะสีมากกว่ามูลโค ขณะที่มูลโคมีปริมาณธาตุโพแทสเซียมและโซเดียมมากกว่ามูลสุกร อย่างไรก็ตามปริมาณธาตุอาหารเหล่านี้อาจมีความผันแปรไปตามชนิดของวัตถุดิบอาหารรวมทั้งแร่ธาตุที่เสริมลงในอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์นั้นด้วย

ประโยชน์ของปุ๋ย-003.jpg

การทำน้ำสกัดจากมูลสัตว์

น้ำสกัดมูลสัตว์ ได้จากการนำมูลสัตว์แห้ง เช่น มูลสุกร มูลโค บรรจุลงในถุงไนลอน (มุ้งเขียว) แล้วแช่ในน้ำ อัตราส่วนมูลสุกร 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 10 ลิตร ปิดฝาถังให้สนิท และหมักไว้เป็นเวลา 24 ชั่วโมง แล้วยกถุงที่บรรจุมูลสุกรออกจากถังจะได้น้ำสกัดมูลสัตว์สีน้ำตาลใส ซึ่งควรบรรจุเก็บไว้ในถังหรือภาชนะที่มีฝาปิด น้ำสกัดมูลสัตว์ที่ได้สามารถหมักเก็บไว้ใช้ได้นาน ซึ่งจะทำให้น้ำสกัดใสยิ่งขึ้น และมีธาตุอาหารในรูปที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในปริมาณมากยิ่งขึ้น การทำน้ำสกัดมูลสัตว์จะทำให้ประหยัดกว่าการใช้มูลสัตว์เป็นปุ๋ยทางดินโดยตรง เนื่องจากมูลสัตว์แห้ง 1 กิโลกรัม ทำน้ำสกัดได้ประมาณ 8 ลิตร นำน้ำสกัดส่วนใสที่ได้มาเจือจางกับน้ำได้ 10 – 20 เท่า เป็น 80 – 160 ลิตร เพื่อใช้เป็นปุ๋ยรดทางดินหรือฉีดพ่นทางใบ ส่วนกากของมูลสัตว์ที่เหลือ สามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยทางดินได้เลยโดยไม่ต้องเสียเวลาหมักนานถึง 45 วัน เหมือนปุ๋ยหมักทั่วไป

น้ำสกัดมูลสัตว์มีปริมาณธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และจุลธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืช สามารถใช้เป็นปุ๋ยรดทางดินและฉีดพ่นทางใบเพื่อเร่งการเจริญเติบโต การเพิ่มผลผลิตของพืช อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นปุ๋ยเพื่อแก้ไขอาการขาดธาตุอาหารของพืชได้ น้ำสกัดมูลสุกรมีปริมาณธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และจุลธาตุเกือบทุกธาตุในปริมาณมากกว่าที่พบในน้ำสกัดมูลไก่ไข่และน้ำสกัดมูลโคนม ยกเว้นโพแทสเซียมที่พบในน้ำสกัดมูลไก่ไข่มากกว่าเล็กน้อย และแคลเซียมที่พบในน้ำสกัดมูลโคนมมากกว่า ดังนั้น หากต้องการใช้น้ำสกัดมูลไก่ไข่หรือโคนมเป็นปุ๋ยฉีดพ่นทางใบ ควรจะใช้ในอัตราส่วนมากกว่าน้ำสกัดมูลสุกร เนื่องจากน้ำสกัดมูลสุกรมีปริมาณธาตุอาหารมากกว่าหรือเข้มข้นกว่าน้ำสกัดมูลโคนม

น้ำสกัดจากมูลสัตว์เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการใช้ปุ๋ยมูลสัตว์ที่ทำให้เกิดประโยชน์กับพืชทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นนาข้าว พืชผักต่าง ๆ ไม้ผล ไม้ดอก ในขณะที่ไร่อ้อยของมิตรชาวไร่เองก็สามารถนำปุ๋ยน้ำสกัดจากมูลสัตว์มาใช้ได้ 2 วิธี คือ

  1. โดยการใช้น้ำสกัดมูลสุกรฉีดพ่นทางใบ ในสัดส่วนน้ำสกัดมูลสุกรอัตรา 1 ลิตรผสมน้ำ 10 ลิตร ผสมสาจับใบ 3 - 5 ซีซี ฉีดพ่นทางใบในช่วงที่ต้นอ้อยยังไม่สูงมากนัก
  2. ใช้น้ำสกัดมูลสุกรปล่อยไปตามร่อง พร้อมกับการขึ้นน้ำให้อ้อยประมาณ 2 เดือนต่อ 1 ครั้งนอกจากช่วยเร่งให้อ้อยโตเร็วแล้วยังทำให้อ้อยมีความหวานเพิ่มขึ้นด้วย

น้ำสกัดจากมูลสัตว์จึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่มิตรชาวไร่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับไร่อ้อยได้ ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า สามารถทำใช้เองได้ ก็หวังว่าปุ๋ยจากมูลสัตว์นี้จะทำให้อ้อยของมิตรชาวไร่เจริญเติบโตดีขึ้น ผลผลิตงอกงาม และมีดินที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะสมต่อการปลูกพืชต่อไป

ขอบคุณที่มาข้อมูล-ภาพ

https://sites.google.com

http://www3.rdi.ku.ac.th

https://www.kasetkawna.com/

ข่าวปักหมุด