หน้าแรก

ปัจจุบัน โดรน หรือ อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicles : UAVs) คงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับชาวไร่อีกต่อไป เพราะปัจจุบันเกษตรกรทั่วโลก รวมถึงเมืองไทยได้นำเทคโนโลยีที่น่าทึ่งตัวนี้เข้ามาช่วยงานด้านเกษตรกรรมมากขึ้น จนเริ่มชินตา ด้วยคุณสมบัติพิเศษที่สามารถเข้าถึงพื้นที่จำกัดที่คนไม่สามารถเข้าทำงานได้ ทำให้โดรนเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานเกษตรอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งผลที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจ เพราะนอกจากจะช่วยให้เกษตรกรทำงานง่ายขึ้นแล้ว ยังสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย

โดรนกับการ-005.jpg

ในส่วนของพืชไร่อย่างอ้อย เกษตรกรหลายรายนำโดรนเข้ามาช่วยงานได้หลากหลายมากขึ้น ยกตัวอย่างการใช้งานโดรนในไร่อ้อยที่นิยมกันมี 2 ประเภท ดังนี้

ประเภทแรก คือ ใช้เพื่อสำรวจและวางแผนการผลิตพืช เช่น การสำรวจพื้นที่ ติดตามการเจริญเติบโตของอ้อย เพื่อนำมาคาดการณ์ผลผลิตหรือวางแผนการจัดการแปลง 

ประเภทที่ 2 คือ ใช้ทุ่นแรงในการทำงานในไร่ เช่น ใช้ในการให้ปุ๋ย หรือฉีดพ่นสารเคมี ซึ่งโดรนเข้ามามีบทบาทในเรื่องของการทำเกษตรแบบแม่นยำในไร่อ้อยได้อย่างดี เช่น

- การให้ปุ๋ยได้อย่างทั่วถึง แต่เดิมมิตรชาวไร่อาจมีข้อจำกัดหลายอย่างทำให้ไม่สามารถให้ปุ๋ยได้อย่างทั่วถึง เช่น ต้นอ้อยที่สูงจนเกินไป และช่วงเวลาที่มีจำกัด อย่างช่วงเวลาของการให้ปุ๋ยทางใบ เพื่อให้ได้ผลดีควรให้ในช่วง 6.00-7.00 น. เพราะเป็นเวลาที่พืชกำลังเปิดปากใบ ทำให้สามารถดูดซึมอาหารผ่านปากใบได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านราก แต่ก็จะต้องทำในเวลารวดเร็ว  โดรนเพื่อการเกษตรจึงช่วยได้มาก เพราะประหยัดเวลามากกว่าการใช้แรงงานคนหลายเท่า

โดรนกับการ-004.jpg

- ช่วยให้มิตรชาวไร่สามารถดูแล-รักษาอ้อยได้อย่างตรงจุด ตัวอย่างเช่น โดรน 1 ลำสามารถฉีดพ่นพืชไร่อย่างอ้อยได้จำนวน 100-200 ไร่ต่อวัน โดยใช้แรงงานมาควบคุมเพียง 1-2 คนเท่านั้น ขณะที่ถ้าใช้แรงงานคนอย่างเดียวจะต้องใช้คนกว่า 10-20 คน ที่สำคัญยังช่วยลดการฟุ้งกระจายของสารเคมีที่มิตรชาวไร่อาจได้รับทั้งจากการสัมผัส และสูดดมเวลาฉีดพ่นอีกด้วย เรียกได้ว่าทั้งสะดวกและปลอดภัยเลยทีเดียว

แน่นอนว่า ความคุ้มค่าของโดรนกับการทำงานในไร่อ้อย มิตรชาวไร่ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเองถึงจะเห็นว่า คุ้มค่าจริงแค่ไหน จะเห็นว่าเดิมทีราคาของโดรนสูงจนไม่กล้าจับต้อง แต่ปัจจุบันโดรนเพื่อการเกษตรมีมากมายหลายรุ่น และหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลการเกษตรมีโครงการสนับสนุนเกษตรกรเพื่อจัดหาอุปกรณ์เสริมเพื่อช่วยงานด้านการผลิตมากขึ้น อย่าลืมว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่สู้มือคลำ” หากมิตรชาวไร่อยากรู้ ต้องลองพิสูจน์ด้วยตัวเอง

ที่มาข้อมูล

https://talad.co/blog/

http://www.smartfarmbot.com/

ข่าวปักหมุด