หน้าแรก

สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดมีระยะการเจริญเติบโตโดยสมบูรณ์แตกต่างกันออกไป อ้อย ก็เช่นเดียวกัน การเจริญเติบโตในแต่ละช่วงวัยของอ้อยมีความต้องการธาตุอาหาร การดูแลเอาใจใส่ที่ชาวไร่ต้องรู้ เพื่อบำรุงรักษาอ้อยให้เติบโตอย่างเต็มที่ และให้ค่าความหวานสูง สมกับเงินลงทุนและแรงที่ชาวไร่ทุ่มเทลงไปในการปลูกอ้อยแต่ละฤดูกาล

ซึ่งการปลูกอ้อยตามแบบฉบับมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มเราส่งเสริมให้มิตรชาวไร่ทำกิจกรรมในไร่อ้อยตามหลัก 3 ใช่ มาโดยตลอด ทั้งเวลาที่ใช่ วิธีที่ใช่ และปริมาณที่ใช่ ฉะนั้นแล้วการใส่ใจอ้อยในแต่ละระยะการเจริญเติบโตก็สอดคล้องกับการทำกิจกรรมตามหลัก 3 ใช่ เพื่อให้อ้อยได้รับการดูแลอย่างดีตามความต้องการในแต่ละวัย

การเจริญเติบโตของอ้อยนั้นแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้

  1. ระยะงอก (germination phase)

ระยะนี้เริ่มต้นตั้งแต่ปลูกจนกระทั่งหน่อโผล่พ้นดิน โดยจะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น พันธุ์ ความหนาของดินที่กลบท่อนพันธุ์ และการปฏิบัติต่อท่อนพันธุ์ เป็นต้น หน่อที่เกิดจากตาของท่อนพันธุ์ เรียกว่า หน่อแรก (primary shoot) หรือหน่อแม่ (mother shoot) จำนวนท่อนพันธุ์ที่งอกต่อไร่จะเป็นตัวกำหนดจำนวนกออ้อยในพื้นที่นั้น

  1. ระยะแตกกอ (tillering phase)

การแตกกอ จะเริ่มจากราว ๆ 1.5 เดือน หลังปลูก และอาจนานถึง 2.5 - 4 เดือน การแตกกอเป็นกระบวนการทางสรีรวิทยาของแบบการทำซ้ำภายใต้พื้นดิน โดยแยกออกจากข้อตาที่เป็นหน่อแม่ การแตกกออ้อยให้มีจำนวนข้อที่เหมาะสม จะทำให้ได้ผลผลิตที่ดี ปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการแตกกอมีหลากหลาย ได้แก่ ความชื้นในดิน แสงแดด อุณหภูมิ และปุ๋ย

หน่อที่เกิดขึ้นในช่วงต้นจะมีขนาดลำที่ใหญ่และหนัก แต่หน่อที่เกิดขึ้นในช่วงปลายมีโอกาสตายได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นในระยะสั้น คือโตไม่เต็มที่ การปลูกอ้อยในระยะการแตกกอนั้น การควบคุมน้ำและวัชพืช มีความสำคัญต่อการแตกกอเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยกระตุ้นการแตกกอ ให้มีปริมาณหน่อลูกที่เหมาะสม ทำให้มีผลผลิต ตันต่อไร่ดี

ดูแลอ้อย-003.jpg

  1. ระยะย่างปล้อง (stalk elongation phase)

ระยะนี้เป็นระยะต่อเนื่องกับการแตกกอ อ้อยจะเพิ่มความยาวและขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของปล้องอย่างรวดเร็ว ทำให้ลำต้นเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วด้วย โดยจะเริ่มตั้งแต่อายุประมาณ 3 - 4 เดือน ถึงอายุประมาณ 7 - 8 เดือน หลังจากนั้นการเจริญเติบโตจะลดลง และจะเริ่มสะสมน้ำตาลเพิ่มมากขึ้น

  1. ระยะแก่และสุก (maturity and ripening phase)

เป็นระยะที่มีอัตราการเจริญเติบโตช้าลงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับระยะต่าง ๆ ข้างต้น เมื่อการเจริญเติบโตเริ่มช้าลง น้ำตาลที่ใบสร้างขึ้นโดยการสังเคราะห์แสง จะถูกใช้น้อยลง และมีเหลือสะสมในลำต้นมากขึ้น ซึ่งระยะนี้เป็นการเริ่มต้นของการสุกนั่นเอง การสะสมน้ำตาลนั้นจะเริ่มจากส่วนโคนไปหาปลาย ดังนั้นส่วนโคนจึงมีความหวานมากกว่าส่วนปลาย การสะสมน้ำตาลจะมีมากขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งทุกส่วนมีความหวานใกล้เคียงกัน เรียกว่า อ้อยสุก นั่นเอง

ซึ่งในช่วงต้นกันยาเช่นนี้ อ้อยตออยู่ในช่วงระยะแก่และสุกเกือบเต็มที่ ส่วนอ้อยปลูกใหม่เป็นระยะเริ่มต้นคือระยะงอก หากมิตรชาวไร่เข้าใจระยะการเจริญเติบโตของอ้อยเต็มที่แล้ว ก็สามารถนำหลัก 3 ใช่ มาใช้บำรุงอ้อยได้อย่างเหมาะสมค่ะ

ที่มาของข้อมูล

http://www.sugarcanecrop.com/

https://www.beveragedaily.com/

 

ข่าวปักหมุด