หน้าแรก

ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 นี้ เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่เข้ามามีบทบาทในทุกภาคส่วนของธุรกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และลดต้นทุนการผลิต ทั้งนี้ รวมถึงอุตสาหกรรมภาคการเกษตรอีกด้วย

หนึ่งในเทคโนโลยีที่น่าสนใจที่มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มขอนำเสนอในวันนี้คือ เทคโนโลยีจาก บริษัท ท็อปคอน อินสทรูเม้นท์ (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม นั่นคือ ระบบพวงมาลัยอัตโนมัติ (Auto Steering)

ระบบพวงมาลัยอัตโนมัติ (Auto Steering) เป็นการใช้สัญญาณจีพีเอสนำทาง ซึ่งเป็นพื้นฐานในทุกขั้นตอนของเทคโนโลยีขับเคลื่อนในสมัยนี้ เริ่มตั้งแต่การปรับหน้าดิน การยกร่อง การปลูก การใส่ปุ๋ย จนถึงการเก็บเกี่ยว โดยมีอุปกรณ์พื้นฐานและหลักการทำงานที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ดังนี้

  1. AGI-4 คือเครื่องรับสัญญาณจีพีเอสจากดาวเทียม เพื่อกำหนดตำแหน่งพิกัดที่มีความแม่นยำสูง ซึ่งติดตั้งอยู่บนหลังคารถแทรกเตอร์
  2. หน้าจอรุ่น X-35 สำหรับควบคุมและสั่งการ แสดงข้อมูลและรายละเอียดต่าง ๆ บนจอแสดงผล เพื่อให้รถวิ่งตามแนวอ้างอิงที่กำหนดไว้ โดยติดตั้งในห้องคนขับบริเวณด้านหน้าที่นั่ง
  3. พวงมาลัยอัตโนมัติรุ่น AES-35 ติดตั้งแทนพวงมาลัยปกติ โดยทำหน้าที่การควบคุมทิศทางของรถ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยผู้ขับไม่ต้องควบคุมพวงมาลัยเอง หรือไม่ต้องมีความชำนาญในการควบคุมรถแทรกเตอร์
  4. เครื่องรับสัญญาณจีพีเอสจากดาวเทียม ชนิดสถานีฐาน เบสสเตชั่น (Base Station)

โดยมีวิธีการทำงานดังนี้

  1. เบสสเตชั่น จะรับสัญญาณจากดาวเทียม เพื่อคำนวณหาตำแหน่งที่แม่นยำบนแปลงนั้น ๆ จากนั้นชุด เบสสเตชั่นจะทำการส่งค่าปรับแก้ทางตำแหน่งไปยังเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม AGI-4 บนหลังคารถ เพื่อให้ทราบตำแหน่งของรถแทรกเตอร์ตลอดเวลาที่รถเคลื่อนที่ ด้วยความแม่นยำสูง โดยมีความคลาดเคลื่อนเพียงแค่ 2-3 เซ็นติเมตรเท่านั้น
  2. วิ่งรถรอบ ๆ แปลงหนึ่งรอบเพื่อสร้างแผนที่และกำหนดแนวเส้นอ้างอิงในการยกเบดแต่ละร่อง เมื่อระบบประมวลผลเสร็จแล้ว แนวเส้นอ้างอิงทั้งหมดจะแสดงบนหน้าจอ X35 จากนั้นคนขับเพียงแค่เหยียบคันเร่งให้รถเคลื่อนที่ไป โดยพวงมาลัยอัตโนมัติจะทำหน้าที่รักษาทิศทางของรถแทรกเตอร์ให้ตรงกับแนวเส้นอ้างอิงตลอดเวลา
  3. ระบบพวงมาลัยอัตโนมัตินี้ มีความสะดวก และใช้งานง่าย ทำให้แนวเส้นตรง ร่องไม่ทับซ้อนกัน โดยคนขับไม่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญในการขับรถแทรกเตอร์เลย ไม่ต้องใช้มาร์คเกอร์ในการกำหนดร่องแนวดิน รวมถึงหลีกเลี่ยงการบดอัดหน้าดินซ้ำ ๆ ในบริเวณที่ไม่เหมาะสม ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตออกมาไม่มีประสิทธิภาพ วิธีการนี้สนับสนุนการทำไร่อ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มในเสาหลักที่เกี่ยวกับ การควบคุมแนวล้อวิ่ง (Controlled Traffic) อีกด้วย

พวงมาลัยอัตโนมัติ-003.jpg

หากเราเริ่มพื้นฐานในการปลูกที่ดี โดยมีการยกร่องเป็นแถวตรงและยาวไม่ต่ำกว่า 250 เมตร แล้วนั้น ขั้นตอนถัดมาทั้งหมดตั้งแต่การปลูก การใส่ปุ๋ย และการเก็บเกี่ยว ก็จะมีประสิทธิภาพและให้ผลผลิตที่ดี รวมถึงลดการทำลายดินในบริเวณที่ไม่เหมาะสมในระยะยาว ตามหลักของการจัดการไร่อ้อยอย่างยั่งยืนตามแบบฉบับมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม

ที่มา : วารสารมิตรชาวไร่

ข่าวปักหมุด