หน้าแรก

สวัสดีค่ะพี่น้องมิตรชาวไร่ วันนี้มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มมีเรื่องราวดี ๆ จากแปลงกินผัก (Green Park) พื้นที่ต้นแบบศูนย์กลางการรวบรวมและกระจาย ผลผลิตทางการเกษตร ที่มิตรผลส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ได้มีอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อดูแลตนเองและครอบครัวได้ปลูกผักปลอดภัยให้กับเกษตรกรในชุมชนรอบโรงงานน้ำตาลมิตรภูเขียว จนสามารถเชื่อมกับตลาด สร้างรายได้ที่มั่นคงให้ตนเองได้ (ขยายความแปลงกินผักค่ะ)

ที่แปลงกินผักเรามีพืชผักมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “มะเขือเทศเชอรี่” หนึ่งในผลผลิตหลักของแปลงกินผักที่มีมูลค่าการรับซื้อจากคิงส์วิชตลอดทั้งปี เฉลี่ยประมาณ 30-50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งทำให้มะเขือเทศเชอรี่กลายเป็นผลผลิตหลักที่ช่วยสร้างรายได้เข้าแปลงกินผักได้ไม่น้อยเลยทีเดียวค่ะ

เคล็ด-003.jpg

มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มวันนี้จึงมีวิธีปลูกมะเขือเทศเชอรี่จากทีมงานแปลงกินผักมาฝากมิตรชาวไร่ทุกท่าน ไปติดตามกันค่ะว่า มะเขือเทศเชอรี่จะปลูกอย่างไรให้ได้คุณภาพ ปลอดภัย และได้ปริมาณตรงตามความต้องการของตลาด

การเพาะกล้ามะเขือเทศเชอรี่

การเพาะกล้า คือ หัวใจสำคัญที่สุดของการ ปลูกมะเขือเทศเชอรี่ ถ้าต้นกล้ามีความสมบูรณ์ จะทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพ โดยอุปกรณ์ การเพาะกล้าที่สำคัญประกอบไปด้วย

  • ถาดเพาะกล้า 104 หลุม
  • เมล็ดมะเขือเทศเชอรี่
  • วัสดุเพาะกล้า (Cane Peat)

เมื่อได้อุปกรณ์ครบแล้วให้นำวัสดุเพาะกล้าใส่ใน ถาดหลุม ไม่ควรใส่แน่นจนเกินไปเพราะจะทำให้รากต้นกล้าไม่เดิน จากนั้นรดน้ำให้พอชุ่มแล้วนำเมล็ดมะเขือเทศเชอรี่หยอดลงในถาดหลุมประมาณ หลุมละ 2 เมล็ด เสร็จแล้วรดน้ำตามในช่วงเช้า กลางวัน เย็น ข้อควรระวังคือ อย่าให้น้ำมากเกินไป เพราะจะทำให้ต้นกล้าแคระแกร็นและไม่โตค่ะ

การเตรียมแปลง

  1. นำกากหม้อกรองอ้อยที่กองพักไว้ ประมาณ 1 ปี มาใส่ในแปลงปลูกแล้วไถพรวนดิน
  2. ใช้รถไถยกร่องแปลงกว้าง 1 เมตร ความสูงของแปลงประมาณ 30 เซนติเมตร ส่วนความยาวสามารถปรับตามขนาดพื้นที่ได้เลย ให้เว้นช่องทางเดินระหว่างแปลงระยะห่างประมาณ 60 เซนติเมตร
  3. เมื่อทำแปลงเสร็จให้คลุมด้วยพลาสติกคลุมแปลงขนาดกว้าง 2 เมตร โดยขั้นตอนการคลุมจะใช้ไม้ไผ่ตอกยึดพลาสติกกับแปลงไว้ และต้องดึงพลาสติกคลุมแปลงให้ตึงเรียบแนบกับตัวแปลง จากนั้นเจาะรูพลาสติก ด้วยท่อพีวีซี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้ว ทำปลายท่อเป็นแง่งฟันปลา หลังจากนั้นให้เจาะรูพลาสติกได้ตามต้องการ

การปลูกลงแปลง

เมื่อกล้ามะเขือเทศเชอรี่อายุ 25-30 วัน ก็สามารถนำลงแปลงปลูกได้ ทั้งนี้ควรเตรียมความพร้อมของต้นกล้าก่อนลงปลูก โดยเริ่มจากลดปริมาณการให้น้ำและเพิ่มปริมาณแสง เพื่อให้ต้นกล้าปรับตัวก่อนที่จะย้ายลงแปลงปลูก ควรปลูกในตอนบ่ายหรือตอนค่ำเพราะจะช่วยให้ต้นกล้าปรับตัวได้ดี ในตอนกลางคืนและมีโอกาสรอดสูง

การดูแลรักษา

เมื่อปลูกมะเขือเทศเชอรี่ลงแปลงแล้ว ต้องควบคุมโรคและแมลงให้ดี ผลผลิตจึงจะออกมาสมบูรณ์แข็งแรงและมีคุณภาพ โรคที่สำคัญในมะเขือเทศเชอรี่คือ โรคไวรัสใบหยิกเหลืองและโรคโคนเน่า รากเน่า อาการเหล่านี้ป้องกันได้โดยอย่าปล่อยให้แปลงผักชื้นจนเกินไป อย่าปล่อยให้แปลงรก ต้องกำจัดวัชพืชออกจากแปลง เพื่อตัดที่อยู่ของโรคและแมลง รวมถึงหมั่นให้น้ำเช้า-บ่าย อย่างสม่ำเสมอ เมื่อลูกมะเขือเทศเชอรี่ออก ระวังอย่าให้ได้รับน้ำมากเกินไป เพราะจะทำให้ผลแตกได้

ในส่วนการให้ปุ๋ยจะให้เมื่อปลูกลงแปลงได้ 7 วัน โดยปุ๋ยที่ใช้จะเป็นสูตร 46-0-0 และ 15-15-15 อัตราส่วน 1 ต่อ 1 ละลายน้ำรด 5 กิโลกรัมต่อน้ำ100 ลิตร ให้ใส่ทุก ๆ 7 วัน

เมื่อต้นมะเขือเทศเชอรี่เริ่มออกดอกให้ใส่ปุ๋ย สูตร 8-24-24 และ 15-15-15 อัตราส่วน 1 ต่อ 1 โดยละลายน้ำรด 5 กิโลกรัม ต่อน้ำ100 ลิตร

สำหรับการเก็บเกี่ยวมะเขือเทศเชอรี่นั้น สามารถเก็บได้เมื่อมีอายุนับจากปลูกลงแปลงได้ 80 วัน

นอกจากนี้ทีมแปลงกินผักยังเผยเคล็ดลับสูตรสารชีวภัณฑ์ป้องกัน โรคและแมลงในแปลงปลูกมะเขือเทศเชอรี่ดังนี้ค่ะ

  • การป้องกันโรครากเน่าโคนเน่า ให้ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา 100 กรัม ผสมกับน้ำ20 ลิตร ฉีดพ่นทุก ๆ 7 วัน ห้ามรวมกับสารตัวอื่นในการฉีดพ่น
  • การป้องกันแมลง ให้ใช้เชื้อราเมธาไรเซียม 100 กรัมต่อ น้ำ20 ลิตร ฉีดพ่นทุก ๆ 7 วัน ห้ามรวมกับสารตัวอื่นในการฉีดพ่น
  • โรคไวรัสหยิกเหลือง เมื่อพบเห็นมีอาการควรถอนต้นที่พบทิ้งทันที เพื่อลดการระบาดของโรคส่วนมากแมลงจำพวก ปากดูดเป็นตัวพาหะนำโรค

ทั้งนี้การใช้เชื้อราในการควบคุมโรคและแมลง ควรฉีดพ่นในตอนเย็น เพราะจะทำให้สปอร์เชื้อราแข็งแรงและ มีประสิทธิภาพ

3364_210303.jpgทีมงานรวบรวมผักส่ง_210122_1.jpg

สำหรับองค์ความรู้วิธีปลูกมะเขือเทศเชอรี่จากทีมงานแปลงกินผัก คงเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องมิตรชาวไร่ให้สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ และทดลองปลูกในพื้นที่ของตนเองได้ มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มรับรองได้เลยค่ะว่า ถ้าลงมือปลูกตามขั้นตอนข้างต้นนี้ พี่น้องจะได้มะเขือเทศเชอรี่ที่มีคุณภาพ หวาน กรอบ อร่อยแน่นอน

 

ที่มาข้อมูล : วารสารมิตรชาวไร่

ภาพจาก

https://www.ppseeds.com/

ข่าวปักหมุด