หน้าแรก

มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มมักนำเสนอข่าวพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ที่คาดว่าจะส่งผลต่อการดูแลไร่ของพี่น้องมิตรชาวไร่อยู่เสมอ เพราะเราเล็งเห็นแล้วว่าการปลูกอ้อยให้ได้ผลผลิตที่ดี คุ้มค่าต่อการลงทุน นอกจากเรื่องพันธุ์อ้อย ดิน ปุ๋ย และน้ำ ที่เราทราบกันอยู่แล้ว ข้อมูลสถิติของดิน ฟ้า อากาศ ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการปลูกอ้อยในยุคนี้ด้วย

หากกล่าวถึงการติดตั้งสถานีตรวจวัดภูมิอากาศ (Weather Station)ของตนเอง หลายคนยังมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ราคาแพง ใช้ประโยชน์ไม่ได้จริง แต่วันนี้เมื่อเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามามีบทบาทกับเรามากขึ้น ทำให้ข้อมูลเหล่านี้กลายเป็นเรื่องใกล้ตัว ประกอบกับราคาของเครื่องมือที่ถูกลง สิ่งเราจึงจับต้องได้ง่ายขึ้น

ลองนึกดูเล่น ๆ ว่าหากเรามีข้อมูลสถิติดิน ฟ้า อากาศ ที่ไร่เราเอง เราจะสามารถพยากรณ์ หรือคาดการณ์อากาศ การระบาดของโรคและแมลงศัตรูอ้อย เพื่อเตรียมตัวป้องกันได้ทันท่วงที

img1.jpg

เครื่องมือวัดภูมิอากาศแบบอัตโนมัติที่เรากำลังมิตรชาวไร่ให้ลองใช้งานตัวนี้ สามารถอ่านค่าได้ทันที ไม่ต้องรอวัดค่าข้อมูลทุกวัน เช่น การไปตวงวัดปริมาณน้ำฝนจากกระบอกวัดน้ำฝน แต่สามารถอ่านค่าได้ตลอดเวลา ค่าที่มีเป็นมาตรฐานของสถานีตรวจวัดภูมิอากาศ ได้แก่ ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์อากาศ ความเร็วลม และทิศทางลม และบางรุ่นสามารถพยากรณ์ฝนตกล่วงหน้าได้อีกด้วย ที่สำคัญหน้าจออ่านข้อมูลแบบไร้สายให้ดูได้แบบสะดวกสบาย ไม่ต้องต่อกับคอมพิวเตอร์ให้ยุ่งยาก ปัจจุบันมีราคาตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักพันบาท ค่าต่าง ๆ สามารถใช้งานได้ 3-5 ปี

img3.jpg

 

การอ่านค่าของสถานีผ่านหน้าจอของเครื่อง ซึ่งเมื่อได้รับเครื่องมาแล้ว จะแยกออกเป็นสองส่วนคือ

  1. เซ็นเซอร์สถานีตรวจอากาศ ได้แก่ วัดน้ำฝน วัดอุณหภูมิความชื้นสัมพัทธ์ ความเร็วลม และทิศทางลม
  2. หน้าจอสำหรับอ่านข้อมูล เมื่อเราประกอบส่วนที่ 1 ใส่แบตเตอรี่ทั้งส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 เสร็จเรียบร้อย รอประมาณ 1 นาที ให้ตั้งค่าต่าง ๆ โดยกดปุ่มที่หน้าจอ หรือบางรุ่นสามารถกดที่จอแบบทัชสกรีนได้เลย เช่น ตั้งค่าวันที่ เวลา ตั้งค่าหน่วยการวัด เป็นต้น เมื่อตั้งค่าแล้วก็สามารถอ่านค่าได้จากหน้าจอได้ทันที

img2.jpg

การอ่านค่าของสถานีผ่านระบบออนไลน์

นอกจากจะอ่านค่าจากหน้าจอที่ได้รับมาพร้อมกับเครื่องแล้ว ยังสามารถตั้งค่าต่าง ๆ เพื่ออ่านค่าออนไลน์ ผ่านโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ได้ โดยใช้เพียงสัญญาณอินเตอร์เน็ต จากไวไฟสำหรับเชื่อมต่อสถานีก็สามารถตั้งค่าได้แบบง่าย ๆ ได้โดยเข้าไปลงทะเบียนเพื่อใช้งานที่เว็บไซต์ https://www.wunderground.com หรือ https://www.weathercloud.net แล้วนำค่า Station ID หรือค่าที่จำเป็นมาใส่ในแอปพลิเคชั่นสำหรับการตั้งค่า เช่น แอปพลิเคชั่น WS View หรืออื่น ๆ ขึ้นอยู่กับสถานีนั้น ๆ แล้วดำเนินการตามที่คู่มือที่ให้มาพร้อมกับสถานี หลังจากตั้งค่าเสร็จ ก็สามารถอ่านค่าได้อ่านผ่านทางออนไลน์ได้ทันที

ในเว็บไซต์สองแห่งที่ยกตัวอย่างนี้ สามารถดูค่าจากสถานีได้ทั้งค่าปัจจุบันและดูค่าย้อนหลังได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่หากเป็นสมาชิกแบบชำระค่าบริการ ก็จะสามารถดูข้อมูลได้ย้อนหลังนานขึ้น ทั้งรูปแบบกราฟ ตารางข้อมูล และสามารถ Export ข้อมูลออกมาใช้ประโยชน์ได้ เมื่อเชื่อมต่อสถานีตรวจอากาศของเรากับเว็บไซต์แล้ว

สถานีตรวจอากาศอัตโนมัติ เป็นเครื่องมือที่สร้างความแม่นยำและความเชื่อมั่นในการทำการเกษตรให้กับพี่น้องมิตรชาวไร่ยิ่งขึ้น ทำให้เราได้เห็นข้อมูลที่เป็น real time ช่วยตัดสินใจ ณ ช่วงเวลานั้น ข้อมูลย้อนหลังและข้อมูลที่จดบันทึกไว้จะช่วยคาดการณ์เพื่อจัดการบริหารแปลงได้ เช่น สภาพอากาศแบบไหนที่ทำให้เกิดโรคพืชหรือแมลงศัตรูระบาด อย่างไรก็ดีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของการปรับใช้เทคโนโลยีกับพื้นที่ในไร่นั้น ๆ ว่าเหมาะสมและคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับการวางแผนและศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วนนั่นเอง

ขอบคุณที่มา ข้อมูล-ภาพ

วารสารมิตรชาวไร่

https://www.wunderground.com/

https://www.comcube.co.th/

 

ข่าวปักหมุด