หน้าแรก

การควบคุมและกำจัดวัชพืชเป็นกิจกรรมในไร่อ้อยที่ไม่ควรละเลย เพราะวัชพืชเป็นศัตรูตัวร้ายที่มาแย่งธาตุอาหารจากอ้อยในแปลง ด้วยธรรมชาติของวัชพืชที่เติบโตง่าย แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว หากมิตรชาวไร่ปล่อยไว้ให้เติบโตตามอัธยาศัย ผลกระทบที่เกิดต่ออ้อยนั้นมากมายมหาศาล โดยเฉพาะหากละเลยการควบคุมวัชพืชหลังงอก อาจเสี่ยงต่อการขาดทุนถึง 50% เพราะลำต้นอ้อยไม่สมบูรณ์เท่าที่ควรจะเป็น น้ำหนักอ้อยไม่ดี ที่สำคัญคือค่าความหวานไม่เป็นไปตามเกณฑ์

โดยปกติแล้วอ้อยจะเจริญเติบโตได้ดีต้องมีช่วงปลอดวัชพืชอย่างน้อย 3 – 4 เดือน นับจากวันปลูก หากจะมีวัชพืชขึ้นเบียดเบียนบ้างก็ไม่ควรเกินระยะเดือนแรกของการปลูก เนื่องจากจุดวิกฤตการแข่งขันของอ้อยจะอยู่ในระยะแรก นับจากเริ่มปลูกจนถึงระยะแตกหน่อ เพราะว่าอ้อยในช่วงนี้จะมีศักยภาพการงอกและการเจริญเติบโตต่ำกว่าวัชพืชมาก

ดังนั้นหากมีวัชพืชเบียดเบียนมากก็จะทำให้อ้อยชะงักการเจริญเติบโต เพราะรากที่สร้างใหม่ยังไม่แข็งแรง การแตกหน่อน้อย การย่างปล้องไม่เต็มที่ เป็นสาเหตุที่ทำให้ผลผลิตอ้อยลดต่ำลง ซึ่งผลผลิตอ้อยจะลดลงมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับชนิด ความหนาแน่น และช่วงเวลาในการแก่งแย่งแข่งขันของวัชพืช

ซึ่งในช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับกิจกรรมควบคุมวัชพืชหลังงอก ซึ่งแนะนำให้ใช้วิธีเขตกรรมเป็นหลักโดยใช้คลาดสปริงหรือคัทอะเวย์ คลาดกำจัดวัชพืชระหว่างร่องซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับกำจัดหญ้าที่พึ่งงอกและรากยังไม่ลงลึกมาก ซึ่งหากยังไม่เพียงพอหรือวัชพืชระบาดมาก สามารถเลือกใช้สารกำจัดวัชพืช ได้

IMG_1756.PNG

ตัวอย่างวัชพืชที่หากละเลยการควบคุม เสี่ยงผลผลิตขาดทุนถึง 50%

ฤทธิ์การทำลายผลผลิตของวัชพืชเถาเลื้อย เราพบว่าวัชพืชเถาเลื้อยสามารถแข่งขันกับอ้อยได้ตั้งแต่ระยะแรกของการเจริญเติบโตจนถึงระยะเก็บเกี่ยว ที่สำคัญคือ ขัดขวางการทำงานของรถตัดในช่วงเก็บเกี่ยวอ้อย ถึงแม้ว่าพื้นที่นั่นจะพ่นสารกำจัดวัชพืชแบบก่อนงอกแล้ว ก็ตาม ดังนั้น “อ้อยจึงต้องการช่วงปลอดวัชพืชอย่างน้อย 3 – 4 เดือนหลังปลูก” ซึ่งจากการสำรวจของฝ่ายปฏิบัติการอารักขาพืช พบว่า หลังจากปลูกอ้อย 65 วัน ในแปลงที่ไม่สามารถควบคุมวัชพืช เถาเลื้อยได้ มีจำนวนหน่ออ้อยลดลง 50 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับ แปลงที่สามารถควบคุมวัชพืชเถาเลื้อยได้

สำหรับอัตราการใช้สารกำจัดวัชพืชเถาเลื้อย ควรเป็นสารประเภททำลายเฉพาะวัชพืชใบกว้าง เช่น ทู โฟร์ ดี ไดเมทิลแอมโมเนียม ในอัตรา 400 ซี.ซี.ต่อไร่, ไตรคลอเพอร์ อัตรา 125 ซี.ซี.ต่อไร่ หรือ ทู โฟร์ ดี + พิคลอแรม อัตรา 400 ซี.ซี.ต่อไร่ เป็นต้น ซึ่งช่วงเวลาที่ต้องใช้สารควบคุมวัชพืชต้องพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมอย่างความชื้น ฝน และลมด้วย

มิตรชาวไร่ควรศึกษารายละเอียดของสารควบคุมวัชพืชแต่ละชนิดให้ถี่ถ้วน ทั้งอัตราสารที่ใช้จะมีความสัมพันธ์กับปริมาณน้ำที่ใช้ต่อไร่ ถ้าหากคำนวณปริมาณน้ำผิดพลาด นอกจากจะไม่ได้ผลตามที่ต้องการแล้ว ยังอาจเกิดอันตรายต่อต้นอ้อย เนื่องจากได้รับสารมากเกินไป หรือรับสารน้อยเกินไปจากการพ่นสารควบคุมวัชพืชไม่ทั่วถึง และนี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทางมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มมีโครงการรณรงค์ให้ชาวไร่ตัดอ้อยสดไว้ใบคลุมดิน นอกจากจะทำให้วัชพืชไม่งอกมารบกวนอ้อยเราแล้วนั้น ยังไม่ทำให้เสียเวลา ไม่เสียกำลัง และประหยัดค่าใช้จ่ายในการควบคุมวัชพืชอีกด้วย

ขอบคุณที่มา

www.mitrpholmodernfarm.com

http://kasetnana.blogspot.com/

https://mgronline.com/

 

ข่าวปักหมุด