หน้าแรก

สวัสดีค่ะมิตรชาวไร่ เมื่อฝนมาถึงเวลาเตรียมแปลงและปลูกพืชตระกูลถั่วกันแล้วนะคะ ซึ่งการปลูกอ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มที่มิตรผลได้ใช้เวลาศึกษาและวิจัยโครงสร้างของดินในแปลงปลูกอ้อยหลายพื้นที่กว่า 13 ปี ทำให้เกิดองค์ความรู้ที่เป็นรูปธรรมนำมาสู่แนวทางในการบริหารจัดการดินที่มีประสิทธิภาพแก่มิตรชาวไร่ ซึ่งแก่นสำคัญที่ได้คือ ต้องให้ดินในแปลงปลูกได้พักผ่อนหรือพักดิน เพื่อเว้นช่วงและบำรุงรักษาดินให้มีความพร้อมสำหรับการปลูกอ้อยครั้งต่อไปค่ะ

ซึ่งช่วงพักดินปลูกพืชตระกูลถั่ว มิตรชาวไร่จะเลือกปลูกพืชชนิดใดก็ได้ตามความเหมาะสม ไม่ว่าจะถั่วเหลือง ถั่วเขียว หรือปอเทือง พืชตระกูลถั่วนี้จะช่วยเพิ่มไนโตรเจนในดินด้วยการตรึงไนโตรเจนจากอากาศมาสะสมที่ปมรากถั่วใต้ดิน เมื่อดินมีไนโตรเจนที่ได้จากการปลูกพืชตระกูลถั่วแล้วทำให้เราสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีในการปลูกอ้อยลงได้ค่ะ

นอกจากนี้การพักดินปลูกพืชตระกูลถั่ว ยังช่วยตัดวงจรการเจริญเติบโตของโรคและแมลงศัตรูอ้อย เพราะรากอ้อยในแปลงที่มีการปลูกอ้อยต่อเนื่องโดยไม่พักดิน จะสั้น ไม่แข็งแรง และเติบโตน้อยกว่าเมื่อเทียบกับพื้นที่ปลูกอ้อยที่มีการพักดิน เพราะการปลูกอ้อยอย่างต่อเนื่องทำให้โรคและแมลงศัตรูอ้อยสามารถดำรงชีวิต และขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณไปได้เรื่อย ๆ ทำให้อ้อยอ่อนแอลง ผลผลิตที่ได้ก็ลดต่ำลงไปด้วย

สำหรับพืชตระกูลถั่วที่เกษตรกรนิยมปลูกมากที่สุดชนิดหนึ่งคือถั่วเหลือง ซึ่งเป็นพืชที่ใช้เชื้อแบคทีเรียตรึงไนโตรเจนในอากาศมาเป็นปุ๋ยไนโตรเจนที่พืชสามารถนำไปใช้ได้ แบคทีเรียชนิดนี้ เรียกว่า ไรโซเบียม (Rhizobium) ซึ่งจะสร้างโครงสร้างกลม ๆ ที่ราก เรียกว่าปม (Nodules) ต้องคลุกแบคทีเรียชนิดนี้ให้กับเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองก่อนนำไปปลูก เรียกว่าการคลุกเชื้อ (Inoculation) หากการคลุกเชื้อไม่ประสบความสำเร็จ ถั่วเหลืองจะได้รับไนโตรเจนไม่เพียงพอและเติบโตไม่ดี

ขั้นตอนการเตรียมเมล็ดพันธุ์สำหรับปลูก

  1. คลุกเชื้อไรโซเบียมกับน้ำ ใช้ไรโซเบียมให้ตรงกับชนิดของถั่ว โดยใส่ไรโซเบียมในถังที่มีน้ำเล็กน้อย แล้วเทเมล็ดถั่วลงไปคลุกเบา ๆ ให้ทั่ว ตั้งทิ้งไว้ในร่มให้เมล็ดแห้งเล็กน้อย ห้ามใช้น้ำมันพืชมาคลุกไรโซเบียมเพราะหากอากาศร้อนจะเหมือนเป็นการทอดถั่วเหลือง และเวลาปลูกเมล็ดถั่วเหลืองจะติดกับเครื่องหยอด ไรโซเบียมจะติดเมล็ดได้ดีกว่าหากคลุกด้วยน้ำ หากไม่มั่นใจว่าเชื้อไรโซเบียมแข็งแรงดี ก็สามารถเพิ่มเชื้อเป็น 2 เท่าได้ และไม่ควรคลุกเชื้อไรโซเบียมไว้นาน คลุกเฉพาะเมล็ดที่จะใช้ปลูกเวลานั้นเท่านั้น
  2. ปลูกถั่วเหลืองที่คลุกเชื้อไรโซเบียมแล้วทันที โดยความลึกของการปลูกไม่เกิน 5 เซนติเมตร เพราะเมล็ดถั่วเหลืองไม่ค่อยแข็งแรงจึงไม่ควรปลูกลึกเกินกว่า 5 เซนติเมตร
  3. ต้องตรวจสอบความลึกและความชื้นอย่างสม่ำเสมอ ควรปลูกเมล็ดถั่วเหลืองในดินชื้น การปลูกเมล็ดลงในดินแห้งมีความเสี่ยงมาก เพราะดินแห้งจะร้อนและสามารถกำจัดเชื้อไรโซเบียมได้ หากปลูกเมล็ดไม่เสร็จในวันเดียว ต้องคลุกเมล็ดใหม่ สามารถใส่ปุ๋ยได้ถ้าดินต้องการปุ๋ยเริ่มต้น

3 ขั้นตอนการปลูกถั่ว มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มแนะนำให้ปลูกโดยใช้เครื่องหยอดถั่ว 3 แถว (Double Disc Opener Soybeans Planter) เป็นการปลูกบนเบดที่เตรียมไว้ ด้วยรถแทรกเตอร์ขนาดตั้งแต่ 105 แรงม้าขึ้นไปลักษณะการปลูกคือเมล็ดถั่วจะลงเป็นจุดทีละเมล็ด เรียงเป็นแถวเดี่ยว 3 แถว ทำให้ไม่เกิดความเสียหาย และควบคุมความลึกของเมล็ดในแต่ละแถวได้แม้พื้นที่จะไม่เสมอ

003.jpg

004.jpg

การปลูกถั่วเหลืองต้องมีการจัดการอย่างระมัดระวัง หากแปลงไม่ได้รับการดูแล จะไม่ได้ผลผลิตเมล็ดถั่วเหลืองที่ดีและไม่สามารถปรับปรุงผลผลิตของอ้อยที่ปลูกตามมาได้

ดังนั้นมิตรชาวไร่จะต้องพยายามปลูกถั่วเหลืองให้เติบโตอย่างเต็มที่ ตรึงไนโตรเจนให้ได้มากที่สุด เพื่อปรับปรุงสุขภาพของดิน การที่ถั่วเหลืองมีชีวมวลมาก ๆ จะช่วยปรับปรุงโครงสร้างดินและเพิ่มไนโตรเจนให้แก่อ้อยที่เราจะปลูกตามมาได้มาก และที่สำคัญถั่วที่เราปลูกเพื่อพักดินสามารถจำหน่ายเมล็ดถั่วเพื่อเพิ่มรายได้และเก็บเป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับปลูกในฤดูต่อไปได้อีกด้วย

ขอบคุณที่มาข้อมูล-ภาพ

หนังสือ Blueprint

https://www.matichon.co.th/

https://www.kubotasolutions.com/

ข่าวปักหมุด