หน้าแรก

สวัสดีค่ะพี่น้องมิตรชาวไร่ อีกไม่นานก็ถึงฤดูกาลปลูกอ้อยตุลา หรืออ้อยปลายฝน ในช่วงเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้แล้วนะคะ ปีนี้ฝนดีชุ่มฉ่ำถ้วนหน้าจากสถานการณ์ปริมาณฝนในปีนี้ สามารถกักเก็บน้ำฝนเพื่อใช้ในช่วงฤดูแล้งอีกด้วย

น้ำก็เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ส่งเสริมให้อ้อยเจริญเติบโต แต่มีสิ่งสำคัญที่ไม่แพ้กัน เพื่อพิชิตเป้าหมายสุดท้ายก็คือ อ้อยดีมีคุณภาพได้ค่าความหวานตามเกณฑ์ส่งเข้าโรงงานนั้น มีหลายปัจจัยที่จะส่งเสริมเป้าหมายนี้ ซึ่งแต่ละปัจจัยล้วนสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ตั้งแต่ขั้นตอนแรกคือเลือกพันธุ์อ้อยไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการเก็บเกี่ยวอ้อยเข้าโรงงาน 

วันนี้มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มมี 7 ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อค่าความหวานของอ้อย หรือค่า ซี.ซี.เอส. ที่ชาวไร่อย่างเราต้องรู้ เพื่อพิชิตเป้าหมาย พิชิตกำไร เข้ากระเป๋าแบบรัวๆ ไปด้วยกัน ดังนี้ค่ะ

  1. พันธุ์อ้อย การเลือกพันธุ์อ้อยให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เป็นปัจจัยเริ่มต้นที่สำคัญซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตและค่าความหวานของอ้อย เนื่องจากอ้อยแต่ละพันธุ์มีความหวานที่แตกต่างกัน ควรเลือกพันธุ์อ้อยให้เหมาะสมกับพื้นที่
  2. อายุของอ้อย อ้อยที่มีอายุมากกว่า 12-13 เดือน จะเป็นอ้อยที่มีความสุกแก่เต็มที่ ทำให้มีค่า ซี.ซี.เอส. สูง จึงควรเก็บเกี่ยวอ้อยตามช่วงอายุที่เหมาะสมค่ะ
  1. สภาพอากาศ ในระยะก่อนการเก็บเกี่ยว คือหลังอ้อยอายุมากกว่า 7 เดือน อ้อยต้องการแดดจัดเพื่อสร้างน้ำตาลมาสะสมในลำต้น 30-35 องศาเซลเซียส และต้องการอากาศที่ต่ำ 18-24 องศาเซลเซียส เพื่อช่วยส่งเสริมการสร้างน้ำตาลและการเคลื่อนย้ายน้ำตาลจากใบมาสะสมที่ลำต้น
  2. การให้ปุ๋ย เมื่ออ้อยเข้าสู่ระยะสุกแก่หรือมีอายุมากกว่า 7 เดือน ควรหลีกเลี่ยงการให้ปุ๋ยไนโตรเจน เนื่องจากในช่วงระยะนี้อ้อยจะต้องสะสมน้ำตาล หากมีการให้ปุ๋ยไนโตรเจน อ้อยจะมีการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบเรื่อย ๆ ไม่เข้าสู่ระยะสุกแก่ ควรเน้นปุ๋ยโพแทสเซียม หรือตัวปุ๋ยตัวหลังสูง เนื่องจากโพแทสเซียมจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการสะสมน้ำตาล
  3. การให้น้ำ  ควรงดการให้น้ำ อย่างน้อย 1 เดือนก่อนการเก็บเกี่ยว สภาพน้ำน้อยจะทำให้อ้อยมีความหวานเพิ่มมากขึ้น
  1. การเก็บเกี่ยว อ้อยเริ่มสะสมน้ำตาลจากโคนต้นไปหายอด ในส่วนของโคนจะมีความหวานมากที่สุด ควรตัดอ้อยให้ชิดดิน หรือโคนต้นและส่วนของยอดควรตัดยอดบริเวณข้อที่ 3 นับจากจุดหักธรรมชาติของอ้อยลงมา ควรให้มีใบยอด ดินทรายติดไปกับอ้อยให้น้อยที่สุด และการตัดอ้อยตามคิว รีบตัด รีบส่งเข้าโรงงานเพื่อรักษาความสด ความหวาน ก็เป็นอีก 1 ข้อสำคัญที่ต้องคำนึง
  2. การตัดอ้อยไฟไหม้ อ้อยที่ไฟไหม้จะสูญเสียน้ำหนักและความหวานอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอ้อยได้รับความร้อนสูง น้ำในลำอ้อยระเหย ไม่สามารถทิ้งอ้อยค้างไร่ได้นานเกิน 1 วัน จะสูญเสียน้ำหนักมากกว่าตัดอ้อยสด 

มิตรชาวไร่จะเห็นว่า แต่ละปัจจัยดังกล่าวข้างต้น เรียงลำดับตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกพันธุ์อ้อยให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ ไปจนถึงการดูแลรักษา ให้น้ำ ให้ปุ๋ย และกระบวนการสุดท้ายคือไม่ตัดอ้อยไฟไหม้ส่งเข้าโรงงาน เพราะปัจจัยทั้ง 7 นี้ล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าความหวานของอ้อย ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่มีชาวไร่อ้อยคนไหน อยากส่งอ้อยค่าความหวานต่ำ ๆ เข้าโรงงานจริงไหมคะ และโรงงานเองต่างก็ชอบอ้อยที่มีค่าความหวานสูง อ้อยมีคุณภาพ เพื่อนำไปผลิตน้ำตาลทรายสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวหน้าต่อไปค่ะ

7 ปัจจัย-01.jpg

 

ที่มา: วารสารอ้อยและน้ำตาลทราย สอน.

ที่มา: งานวิจัย 

https://bit.ly/3joOJJZ

https://bit.ly/3h4Vhvy

 

 

 

ข่าวปักหมุด