หน้าแรก

สวัสดีค่ะมิตรชาวไร่ ปัจจุบันแนวคิด Smart Farm หรือเกษตรอัจฉริยะ คือการทำเกษตรที่นำเอาระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการพื้นที่การเกษตร ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรด้านต่าง ๆ ทำให้เกิดเป็นเกษตรสมัยใหม่ที่มีความแม่นยำสูงและใช้ทรัพยากรให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และการดูแลของเกษตรกร

ซึ่งแนวคิดเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานสามารถปรับใช้ได้ทั้งการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเกษตรรูปแบบนี้แตกต่างจากการทำเกษตรในอดีตคือ สามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างแม่นยำและตรงตามความต้องการของพืชและสัตว์ โดยเทคโนโลยีสำคัญที่เป็นตัวเอกของแนวคิดเกษตรอัจฉริยะ คือ  Internet of things (IoT) หรือที่เราเรียกว่า “อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง”

ปัจจุบัน IoT ถูกนำไปประยุกต์ใช้กับหลายสิ่งหลายอย่างทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ภาคเกษตรกรรม เพื่อวัตถุประสงค์ในการบริหารจัดการฟาร์มอย่างมีประสิทธิภาพโดย ใช้แรงงานคนให้น้อยที่สุด ซึ่งนี่จึงเป็นที่มาของคำว่า เกษตรอัจฉริยะ หรือสมาร์ทฟาร์ม (Smart Farm) ซึ่งได้นำเทคโนโลยี RFID Sensors เข้ามาใช้ในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ทางการเกษตรต่าง ๆ เพื่อให้อุปกรณ์เหล่านั้น สามารถสื่อสารกับอุปกรณ์ควบคุมหลักได้

ตัวอย่างการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง หรือ IoT ในการเกษตรที่เริ่มเห็นกันบ่อยขึ้น ได้แก่ การใช้เซ็นเซอร์วัดข้อมูลต่าง ๆ อย่าง เซ็นเซอร์ตรวจอากาศ (Weather Station) เซ็นเซอร์วัดดิน (Soil Sensor) เซ็นเซอร์ตรวจโรคพืช (Plant Disease Sensor) เซ็นเซอร์ตรวจวัดผลผลิต (Yield Monitoring Sensor)

เซ็นเซอร์เหล่านี้สามารถนํามาวางเป็นระบบเครือข่ายไร้สาย (Wireless Sensor Network) โดยนําไปติดตั้งหรือปล่อยในไร่ เพื่อเก็บข้อมูลต่าง ๆ ได้แก่ ความชื้นในดิน อุณหภูมิ ปริมาณแสง และสารเคมี เพื่อที่จะทราบว่าควรมีการให้ปุ๋ย น้ำ ยาฆ่าแมลง เมื่อใด ปริมาณเท่าใด ตามสภาพความแตกต่างของพื้นที่

ซึ่งการให้ปุ๋ย น้ำ และยาฆ่าแมลงก็จะใช้เทคโนโลยีการให้ปุ๋ย/น้ำ/ยาฆ่าแมลง หรือที่เรียกว่า Variable Rate Technology (VRT) โดยเทคโนโลยีนี้จะใช้ระบบเซนเซอร์ในการวิเคราะห์ข้อมูลว่าแปลงใดควรจะมีการให้ปุ๋ย น้ำ และยาฆ่าแมลงเท่าใดในช่วงเวลาใด ซึ่งเทคโนโลยีจะใช้ร่วมกับ GPS นั่นเอง

ตัวอย่างเกษตรสมัยใหม่ในประเทศไทยหลากหลายรูปแบบ ได้แก่

  1. ระบบควบคุมอัตโนมัติสำหรับโรงเรือนปลูกผักด้วยน้ำ ภายใต้การสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ออกแบบระบบควบคุมอัตโนมัติผ่านเทคโนโลยีIoT ในการติดตามสภาพแวดล้อมการเจริญเติบโตของผักในโรงเรือนปลูกผักด้วยน้ำผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์
  2. ระบบสุ่มตัวอย่างวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์แบบGantry Robot ชนิดควบคุมอัตโนมัติ ใช้สุ่มตรวจคุณภาพวัตถุดิบในกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ประหยัดเวลาและลดแรงงานในการผลิตอาหารสัตว์
  3. เครื่องคัดแยกกาแฟเชอร์รี่สด (Coffee Cherries Sorting Machine) มีกำลังการผลิต 50 กิโลกรัมต่อชั่วโมง เครื่องคัดแยกขนาดเมล็ดสารกาแฟ (Coffee Bean Separator Machine) มีกำลังการผลิต 100 กิโลกรัมต่อชั่วโมง
  4. เครื่องชุบถุงมือผ้าเคลือบยางกึ่งอัตโนมัติ นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าผลผลิตยางพารา มีกำลังการผลิต 3,000 คู่ต่อวัน
  5. เครื่องแยกทะลายปาล์มอัตโนมัติ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ใช้งานได้ง่าย สะดวก และมีประสิทธิภาพสูง ลดการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ

จะเห็นว่าปัจจุบันประเทศไทยก้าวสู่การเป็นเกษตรอัจฉริยะมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งเรื่องการบริหารจัดการการเกษตรตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก การดูแลรักษา ไปจนถึงการแปรรูปผลผลิตสู่ธุรกิจ ซึ่งเป็นนิมิตหมายอันดีที่ภาคเกษตรกรรมของบ้านเราพัฒนาขึ้นไม่น้อยหน้าต่างประเทศ ในส่วนของการทำไร่อ้อยสมัยใหม่ในปัจจุบันก็ถูกพัฒนาให้ทันสมัยขึ้น ด้วยการนำนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่เข้ามาใช้งานในไร่อ้อย ช่วยให้ชาวไร่ทำไร่อ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพและบริหารทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่าและมั่นคงยั่งยืนต่อไป

ขอบคุณที่มาข้อมูล-ภาพ

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

https://www.bangkokbanksme.com/

http://www.digitalinstrument.co.th/

https://www.krungsri.com/

 

ข่าวปักหมุด