หน้าแรก

สวัสดีค่ะมิตรชาวไร่ ปัจจุบันนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ถูกพัฒนาขึ้นมากมายหลายด้าน ทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม วิศวกรรม สังคม การศึกษาและอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งแต่ละเทคโนโลยีล้วนมีเป้าหมายเพื่อให้โลกน่าอยู่ด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัย และอำนวยความสะดวกให้แก่มวลมนุษยชาติ
สำหรับวันนี้ เทคโนโลยีสมัยใหม่มีอีกหนึ่งเทรนด์ฮิตที่กำลังเป็นที่จับตามองจากนานาประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกให้สะอาดขึ้นในอีก 3-5 ปีข้างหน้า

เทคโนโลยีที่เรากำลังพูดถึงนี้คือ การผลิตขวดพลาสติกจากพืช หรือ PEF (Polyethylene Furanoate) เป็นการผลิตขวดพลาสติกจากวัสดุชีวภาพ หรือ bio-based 100% ซึ่งสามารถลด carbon footprint ได้กว่า 50% เมื่อเทียบกับการผลิตขวด PET (ย่อมาจาก Polyethylene Terephthalate คือ พลาสติกประเภทคืนรูปที่นิยมใช้ในปัจจุบัน)

คุณสมบัติเด่นของ PEF คือ การผลิตจากวัตถุดิบชีวภาพ 100% มีน้ำหนักเบาแต่มีความแข็งแรง มีความเสถียรทางความร้อนสูง สามารถนำมารีไซเคิลได้ 100% และยังมีสมบัติกันน้ำและก๊าซผ่านเข้าออกได้ดีกว่า PET ซึ่งด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ ทำให้ PEF มีแนวโน้มสูงที่จะมาแทนที่พลาสติก PET ในอนาคต

แน่นอนว่าประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่จับตามองเทคโนโลยีนี้ โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีขยะพลาสติกเกิดขึ้นปีละประมาณ 2 ล้านตัน ในจำนวนนี้สามารถนำไปรีไซเคิลได้เพียง 0.5 ล้านตัน อีก 1.5 ล้านตัน ต้องกำจัดด้วยการเผาหรือฝังกลบ โดย 0.3 ล้านตัน เป็นขยะประเภทขวดพลาสติก และอีก 1.2 ล้านตัน เป็นประเภทถุงพลาสติกและซองบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

โดยล่าสุด นาโนเทค ชอง สวทช. กำลังเริ่มศึกษาเกี่ยวกับ PEF โดยมีความร่วมมือกับ Prof. Xiaoqing Liu นักวิจัยจาก Ningbo Institute of Materials Technology and Engineering ประเทศจีน ในการนำ PEF มาพัฒนาเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่จะนำมาสู่ต้นแบบกระบวนการผลิต PEF และผลิตภัณฑ์จาก PEF สำหรับถ่ายทอดสู่อุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

IMG_7426.JPG

ซึ่งถ้าทำได้ ย่อมเป็นการผลักดันให้เกิดการใช้พลาสติกจากพอลิเมอร์ชีวภาพแทนพลาสติกจากปิโตรเลียม ซึ่งจะช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกและลดภาวะโลกร้อน ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยให้คุ้มค่า เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้

ต้องรอติดตามค่ะว่าเทคโนโลยีการผลิตขวดพลาสติกจากพืชหรือ PEF นี้จะเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนในเมืองไทยเมื่อไร และหากเกิดขึ้นจริง เทคโนโลยีนี้จะช่วยทำให้โลกสะอาดมากขึ้นไหม หรือจะสร้างโอกาสจากธุรกิจเหล่านี้ได้มากน้อยเพียงใด ต้องติดตามกันต่อไปค่ะ

ขอบคุณที่มา

https://www.salika.co/

https://www.thairath.co.th/

 

ข่าวปักหมุด