หน้าแรก

ปัจจุบัน “มือถือ” กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทุกเพศทุกวัยต้องมี ต้องใช้ ยิ่งในยุคที่ประชาคมโลกต้องเจอกับการระบาดของโควิด-19 การใช้มือถือสมาร์ทโฟนยิ่งมีความต้องการใช้มากขึ้น ทั้งการเรียนออนไลน์ของนักเรียน การประชุมของวัยทำงาน การทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้ง การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ รวมถึงการใช้มือถือเพื่อเข้าสังคมและสร้างความบันเทิง

วันนี้ขอพูดถึงการใช้มือถือของผู้สูงวัย ที่แพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถดูแลผู้สูงวัยแทนลูกหลานได้ หรือที่เรียกกันว่า Aging Technology ในที่นี้หมายถึงเทคโนโลยีการสื่อสารบนโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต ที่ผู้สูงวัยสามารถเข้าถึงได้ง่ายมากในปัจจุบัน ทำให้โทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงวัยอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น Youtube, Line ,Facebook หรือ TikTok

ซึ่งแน่นอนว่าการใช้มือถือเพื่อใช้แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ของผู้สูงวัยเพื่อความบันเทิง หรือพูดคุยกับเพื่อน มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือท่านได้คลายเหงา มีอะไรให้พอได้เล่นได้ทำบ้างขณะอยู่ที่บ้านลำพัง แต่หากเล่นเป็นประจำจนถึงขั้นติดมือถือ ข้อเสียต่าง ๆ ตามมาแน่นอน โดยเฉพาะ 3 ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหากผู้สูงวัยติดมือถือ ดังนี้

1. มีโอกาสถูกมิจฉาชีพหลอกลวงมากว่าช่วงวัยอื่น

ปัจจัยหนึ่งที่เอื้อให้ผู้สูงวัยถูกหลอกง่าย ก็เพราะไม่ทันต่อโลก ไม่ทันต่อเล่ห์เลี่ยมกลโกงของมิจฉาชีพออนไลน์ เพราะการคิด การวิเคราะห์ การตัดสินใจช้าลงตามอายุ จึงทำให้ยากต่อการแยกแยะว่าอะไรจริง อะไรหลอก อีกทั้งเป็นวัยที่กลับไปขาดความอบอุ่นเหมือนช่วงวัยรุ่น ยิ่งทำให้จิตใจโอนอ่อนต่อคำพูดหวาน ๆ ต่อคนที่มาเอาใจ แม้จะไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นหน้า แต่ถ้าทักแชทมาถูกใจ ผู้สูงวัยก็พร้อมโอนไวเสมอ

2. ถูกทำร้ายจิตใจจากเกรียนคีย์บอร์ดได้สูงกว่าวัยอื่น

ด้วยมโนคติของคนยุคผู้สูงวัยที่เคารพกันตามระบบอาวุโส ที่ยิ่งแก่ต้องยิ่งได้รับความเคารพ แต่กับเด็กรุ่นใหม่ ที่ถือว่าทุกคนเสมอภาคกันโดยไม่จำกัดเพศและวัย ทำให้เด็กรุ่นใหม่บางคนก็ก้าวข้ามช่องว่างระหว่างวัยไปใช้ภาษาที่ส่อเสียด ก้าวร้าว ล้อเลียน และสารพัดจะสรรหาวิธีกลั่นแกล้งผู้สูงวัยที่มีความเปราะบางทางจิตใจสูง ซึ่งผู้สูงวัยบางท่านเพียงแค่ไปคอมเมนต์แตกต่างจากคนอื่น ๆ ก็ถูกบรรดาเกรียนคีย์บอร์ดลากมาถล่มกลางโซเชียล การที่ถูกทำร้ายจิตใจเช่นนี้สร้างบาดแผลให้แก่ผู้สูงวัยอย่างมาก เพราะเป็นวิธีที่รับมือได้ยาก และหากลูกหลาน ไม่รีบเข้าไปพูดคุยก็อาจทำให้พวกท่านกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้

3. มีโอกาสหลงเชื่อข้อมูลผิด ๆ มากกว่าวัยอื่น

ผู้สูงวัยหลายท่าน พยายามจะเล่นโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ตเพื่อให้ใกล้ชิดกับลูกหลานมากยิ่งขึ้น และหลายครั้งก็แสดงออกด้วยการแชร์ข้อมูลที่คิดว่าเป็นประโยชน์ ที่คิดว่าทันสมัยเข้าไปในไลน์กลุ่ม หรือไลน์ส่วนตัวของลูกหลาน โดยบ่อยครั้งไม่ได้เช็คก่อนแชร์ว่าข่าวหรือข้อมูลพวกนั้นจริง แท้ อย่างไร และหนักไปกว่านั้นผู้สูงวัยหลายท่านเชื่ออย่างสนิทใจว่าทุกข้อมูลในโลกออนไลน์คือเรื่องจริง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็นผู้สูงวัยในบ้านเชื่อว่าน้ำมันกัญชาคือยาทิพย์ที่รักษาได้ทุกโรค หรือกลัวเรื่องดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกจนโลกแตก และประเด็นนี้ก็เป็นประเด็นเปราะบางที่ทำให้ผู้สูงวัยและลูกหลานทะเลาะกันบ่อยที่สุด

ซึ่งประเด็นอันตรายที่น่าเป็นห่วงทั้ง 3 ประเด็นนี้มีโอกาสเกิดขึ้นสูง ดังนั้นเราในฐานะลูกหลานควรหมั่นใส่ใจผู้สูงวัยในบ้าน เช่น หากิจกรรมให้ทำ เพราะหลัก ๆ ที่ท่านติดมือถือเพราะไม่มีเพื่อน เหงา หากเราหาสมาคมหรือ ชมรมที่ท่านสามารถเข้าร่วมได้ อาจเบี่ยงเบนความสนใจจากมือถือได้ หรือหากปล่อยให้ท่านเล่นมือถือ ควรหมั่นตรวจเช็กข้อมูลของท่าน เช่น คอยดูแลยอดเงินในบัญชีธนาคาร หรือลบ Application Mobile Banking ออกจากโทรศัพท์มือถือของผู้สูงวัย เพื่อป้องกันการโอนด่วน โอนไวในทุกกรณี
ที่สำคัญอย่าลืมใส่ใจความรู้สึกของท่าน ด้วยการถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ หรือหากิจกรรมให้ท่านทำด้วยนะคะ

ขอบคุณที่มา : 

https://www.istrong.co/

https://thaitgri.org/

https://www.youtube.com/

 

ข่าวปักหมุด