หน้าแรก

นวัตกรรมการเกษตรในปัจจุบันถูกพัฒนาออกมาในรูปแบบเครื่องจักรกล เครื่องยนต์ เครื่องทุ่นแรงต่าง ๆ ที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถทำกิจกรรมการเกษตรได้อย่างรวดเร็ว ลดเวลา ลดขั้นตอน และประหยัดค่าใช้จ่ายได้ในระยะยาว รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วย

สำหรับพี่น้องมิตรชาวไร่ในปัจจุบัน คงคุ้นเคยกันดีกับนวัตกรรมการเกษตรเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น รถแทรกเตอร์ รถไถ รถตัดอ้อย รถบรรทุกอ้อย รวมถึงเครื่องจักรกลเครื่องยนต์อื่น ๆ ซึ่งเครื่องทุ่นแรงเหล่านี้หากใช้งานเพียงอย่างเดียวไม่บำรุงรักษา เครื่องจักรก็เหมือนคนที่มีแต่จะสึกหรอลงไปทุกวัน

ดังนั้นวันนี้มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มมีวิธีการบำรุงรักษาแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลให้คงประสิทธิภาพการทำงานและปลอดภัยเมื่อต้องใช้งาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหรือความเสียหาย เพราะเมื่อเกิดปัญหาค่าใช้จ่ายที่ต้องซ่อมแซมรักษาก็ต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

How to การบำรุงรักษารถแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลการเกษตร

1. ทำความสะอาดรถแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลการเกษตรเป็นประจำทุกวัน ให้ปราศจากเศษวัสดุ ทางการเกษตร โคลน จาระบี คราบน้ำมันเครื่อง ซึ่งจะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน ป้องกันความร้อนที่จะสะสมกับเครื่องยนต์ ป้องกันการสะสมความชื้นซึ่งจะทำให้เกิดสนิม และลดเวลาที่จะเสียไปเนื่องจากการซ่อมแซม

2. ตรวจสอบน๊อต สกรู ฝาครอบต่าง ๆ ของรถแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลการเกษตรที่จะทำให้เกิด เสียงดัง ถ้าหลุดร่วงเข้าไปยังชิ้นส่วนที่มีการเคลื่อนไหวแล้ว จะทำให้เกิดความเสียหายกับรถแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลการเกษตรได้

3. ทำบันทึกการบำรุงรักษารถแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลการเกษตรตามชั่วโมงการใช้งานของรถ นั้น ๆ

4. ใช้งานรถแทรกเตอร์อย่างถูกวิธี ไม่นำรถแทรกเตอร์ไปใช้งานผิดประเภทหรือใช้งานหนักเกินไป ซึ่งจะทำให้รถแทรกเตอร์เสียหายได้

5. ตรวจสอบและถ่ายฝุ่นออกจากถ้วยดักฝุ่นเครื่องกรอง ตรวจสอบอ่างน้ำมันเครื่องกรองอากาศ ถ้ามีระดับฝุ่นผงมากให้ถ่ายออก ทำความสะอาดและใส่น้ำมันใหม่เข้าไปให้ได้ระดับเดิม

6. ตรวจสอบระดับน้ำมันหล่อลื่นของเครื่องยนต์ โดยรถแทรกเตอร์จะต้องจอดในที่เรียบและดับ เครื่องยนต์ชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้ว เพื่อให้น้ำมันหล่อลื่นไกลกับอ่างเก็บน้ำมัน จากนั้นให้ดึงก้านวัดระดับน้ำมันหล่อลื่นทำความสะอาดด้วยผ้า และใส่ก้านวัดระดับน้ำมันหล่อลื่นกลับเข้าไปให้สุด ดึงก้านวัดออกมาตรวจสอบระดับน้ำมันหล่อลื่น ถ้าระดับน้ำมันหล่อลื่นอยู่ต่ำกว่าขีดล่าง ให้เติมด้วยน้ำมันหล่อลื่นชนิดเดียวกับน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้อยู่

7. ตรวจสอบระดับน้ำระบายความร้อนของเครื่องยนต์ ควรตรวจสอบขณะที่เครื่องยนต์ไม่ร้อน เปิดฝา หม้อน้ำระบายความร้อน ตรวจสอบระดับของน้ำ ระดับของน้ำควรจะอยู่ต่างจากคอของหม้อน้ำประมาณครึ่งนิ้ว ถึง 2 นิ้ว (13 มม. – 51 มม.) ไม่ควรเติมน้ำระบายความร้อนให้มีระดับสูงเกินไป เพราะน้ำจะขยายตัวเมื่อมีอุณหภูมิสูง

8. อัดจาระบี เพื่อหล่อลื่นลูกปืนและเพลา ใช้จาระบีชนิดที่บริษัทกำหนด และเป็นจาระบีที่มีความสะอาด ทำความสะอาดหัวอัดจาระบี ก่อนทำการอัดจาระบี ห้ามอัดจาระบีมากเกินไป เพราะจาระบีส่วนเกินจะวิ่งลงสู่ส่วนอื่น ๆ ได้ เช่น สายพาน ผ้าเบรก ห้ามอัดจาระบีโดยใช้ความดันมากเกินไปสำหรับการหล่อลื่นลูกปืนหรือชิ้นส่วนที่ปิดมิดชิดเพื่อป้องกันฝุ่นและน้ำ เพราะจะทำให้อุปกรณ์ป้องกันฝุ่นและน้ำแตกหรือรั่วได้

9. ตรวจสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ รอบ ๆ รถแทรกเตอร์และจักรกลการเกษตร เช่น ชิ้นส่วนที่หลวมและเสียหาย แป้นและคันบังคับต่าง การรั่วซึมของน้ำ สายพาน ระบบน้ำมันเชื้อเพลิงและระบบไฮดรอลิก เป็นต้น

10. ควรบำรุงรักษาตามชั่วโมงการใช้งาน โดยทั่วไปรถแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลการเกษตรจะต้องมีการบำรุงรักษามากกว่าการบำรุงรักษาประจำวัน ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้ชั่วโมงของการใช้งานเป็นตัวกำหนด โดยผู้ใช้ควรศึกษาคู่มือการใช้รถแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลการเกษตรนั้น ๆ อย่างละเอียด

เพื่อให้รถแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลการเกษตรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง และอยู่กับเราให้ได้นานที่สุด มิตรชาวไร่อย่าละเลยที่จะบำรุงรักษาเครื่องไม้เครื่องมือเหล่านี้ตามวิธีการดังกล่าวข้างต้นที่มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มนำมาฝากกันนะคะ

ที่มาข้อมูล-ภาพ

http://www.pcat.ac.th/

https://www.kubotasolutions.com/

 

 

ข่าวปักหมุด