หน้าแรก

ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของไทย นั่นก็คือ “วันจักรี” อันเป็นวันที่ปวงพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า จะได้ร่วมกันน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ รวมถึงมหาจักรีบรมราชวงศ์ ที่ทรงคุณต่อแผ่นดิน และทรงทำให้แผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ อยู่กันอย่างเป็นปึกแผ่นตราบเท่าทุกวันนี้

ด้วยเพราะพระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์แห่งราชวงศ์จักรี วันนี้ Celeb Online จะพาผู้อ่านทุกท่านไปทำความรู้จักกับความสำคัญของวันจักรีผ่าน 5 เรื่องราว ที่จะทำให้คนไทยได้ซึมซับถึงความผูกพันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ กับประชาชนชาวไทยที่มีมาช้านาน อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทย

      1. เป็นวันครบรอบการก่อตั้งราชวงศ์จักรี วันจักรี ภาษาอังกฤษคือ Chakri Memorial Day ตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือพระรามาธิบดีที่ 1 เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ดังนั้น ในวันที่ 6 เมษายนของทุกปี
      2. เป็นวันครบรอบกรุงเทพมหานคร นอกจากจะเป็นวันแห่งการก่อตั้งราชวงศ์จักรีแล้ว ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ยังเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างกรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของไทยอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบัน (พ.ศ. 2565) กรุงเทพมหานครมีอายุครบ 240 ปี
      3. ในวันจักรีตามธรรมเนียมโบราณราชประเพณี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ จะเสด็จฯ บำเพ็ญพระราชกุศลให้กับบูรพมหากษัตริย์ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว และเสด็จฯ วางพวงมาลา ณ พระบรมราชานุสรณ์ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า

        IMG_2943.jpg

      4. นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือพระรามาธิบดีที่ 1 เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี จนถึงทุกวันนี้ราชวงศ์จักรีมีผู้สืบเชื้อสายราชสกุลทั้งหมด 131 ราชสกุล โดยสมาชิกราชสกุลที่ไม่ได้มีชั้นยศ ตั้งแต่ระดับ ม.จ., ม.ร.ว. และ ม.ล. นั้น จะใช้คำเติมท้ายนามสกุลว่า “ณ อยุธยา” ด้วยเหตุผลว่า องค์ปฐมพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงสืบเชื้อสายมาจากสกุลใหญ่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จึงใช้ “ณ อยุธยา” สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
      5. นับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนาราชวงศ์จักรีขึ้น จนถึงวันนี้มีอายุกว่า 236 ปี แต่รัชสมัยของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ล้วนมีประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าแก่การจารึกไว้ในแผ่นดิน โดยเฉพาะ เรื่องการแต่งกายตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 9 นั้น การแต่งชุดไทยของผู้คนในยุคกรุงรัตนโกสินทร์นั้น มีความสวยงามไม่แพ้ชาติใดในโลก

IMG_2944.jpg

โดยในสมัยรัชกาลที่ 1 ไม่ได้แตกต่างจากสมัยกรุงศรีอยุธยา และกรุงธนบุรีมากนัก ทรงผมของผู้หญิงในยุคนั้นจะเปลี่ยนจากการปล่อยยาวทั้งหมด มาเป็นผมสองชั้นด้านบนเปิดเสยใส่น้ำมัน ส่วนผู้ชายไว้ผมทรงมหาดไทย และการแต่งกายนั้น ผู้หญิงจะห่มสไบเฉียงนุ่งผ้าจีบไว้ชายพกมีชายสะบัดสามเหลี่ยม ส่วนผู้ชายนุ่งผ้าจีบคล้ายนุ่งโสร่ง ไม่สวมเสื้อ

IMG_2945.jpg

ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นยุคที่ประเทศไทยได้ติดต่อกับชาติตะวันตก โดยมีเจ้านายหลายพระองค์เสด็จไปทรงศึกษายังประเทศตะวันตก ดังนั้นการแต่งกายในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีความแตกต่างจากสมัย ร.1-ร.4 อย่างชัดเจน โดยผู้ชายเลิกไว้ทรงผมมหาดเล็ก แต่เปลี่ยนมาไว้ผมยาวแบบฝรั่ง และการแต่งกายนั้นผู้ชายจะนุ่งโจงกระเบน เสื้อราชปะแตน ส่วนผู้หญิงจะใส่เสื้อลูกไม้แขนหมูแฮมหรือแขนพอง อันเป็นแบบเสื้อที่ได้รับความนิยมจากประเทศตะวันตก โดยนุ่งกับโจงกระเบน พร้อมสวมถุงน่องและใส่รองเท้าเช่นเดียวกับผู้ชาย

IMG_2946.jpg

สำหรับสมัยของรัชกาลที่ 9 ทรงผมผู้ชายจะไว้แบบสากล ส่วนผู้หญิงจะเกล้าผมเก็บให้เรียบร้อย ส่วนการแต่งกายนั้นผู้หญิงสวมใส่ชุดไทยพระราชนิยม อันเป็นชุดที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้ทรงเป็นผู้พระราชทานไว้ ด้วยทรงตั้งชื่อชุดตามพระที่นั่งต่างๆ ในพระบรมมหาราชวัง ไม่ว่าจะเป็นชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยบรมพิมาน ชุดไทยจักรี ชุดไทยศิวาลัย เป็นต้น โดยลักษณะของเสื้อนั้นจะเป็นคอแบบต่างๆ มาสวมใส่กับผ้าถุง ผ้านุ่ง หรือกระโปรง ส่วนผู้ชายนั้นสวมเสื้อทรงกระบอก นุ่งโจงกระเบน หรือใส่แบบสากล

ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้คนไทยทุกคนได้เข้าใจถึงวันจักรี ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่วันหยุดราชการธรรมดาๆ แต่เป็นวันที่คนไทยควรระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ที่ทรงแผ่พระบารมีปกเกล้าชาวไทย ให้ร่มเย็นเป็นสุขตราบเท่าทุกวันนี้

 

ที่มาข้อมูล-ภาพ

https://mgronline.com/

https://www.sanook.com/

 

ข่าวปักหมุด