หน้าแรก

สวัสดีค่ะมิตรชาวไร่ แม้ปีนี้ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในสภาวะแล้งจนน่าวิตกกังวล แต่สภาพภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้การกระจายตัวของน้ำฝนผิดปกติไป แน่นอนว่าเหตุการณ์แบบนี้อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตพืชของเกษตรกรได้ ทั้งในด้านการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิต รวมถึงมีการระบาดของศัตรูพืชที่รุนแรง ก็ยิ่งทำให้เกษตรกรมีความเสี่ยงในการลงทุนมากยิ่งขึ้น

ในด้านอ้อย ศัตรูอ้อยที่เป็นมักเป็นปัญหาในสภาพอากาศร้อนแห้ง มีหลายชนิด โดยเฉพาะระยะอ้อยแตกกอ เช่น หนอนกอ และโรคแส้ดำ มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มเป็นห่วงชาวไร่จึงขอแนะนำแนวทางในการป้องกันกำจัดศัตรูอ้อยในภาวะแล้ง

How to ป้องกันกำจัดศัตรูอ้อยในภาวะแล้ง

1. หนอนกออ้อย

หนอนกออ้อย คือนักทำลายอ้อยที่เราพบบ่อย มักทำลายอ้อยทุกระยะการเจริญเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะอ้อยแตกกอทั้งอ้อยปลูกใหม่และอ้อยตอ จะระบาดรุนแรงในสภาพที่อุณหภูมิสูง ความชื้นต่ำ ภาวะแห้งแล้งที่เกิดจากฝนทิ้งช่วง ซึ่งหนอนกออ้อย ที่สำคัญที่พบเข้าทำลายอ้อย มี 3 ชนิด คือ หนอนกอลายจุดเล็ก หนอนกอสีขาว และหนอนกอสีชมพู

หนอนกอลายจุดเล็ก เป็นหนอนที่เจาะกออ้อยบริเวณโคนระดับผิวดินเข้าไปกัดกินส่วนที่กำลังเจริญเติบโตภายในหน่ออ้อย ทำให้ยอดแห้งตาย ทำให้ผลผลิตอ้อยลดลง 5-40% นอกจากนี้ ยังเข้าทำลายอ้อยในระยะอ้อยย่างปล้อง โดยเข้าไปกัดกินอยู่ภายในลำต้นอ้อย ทำให้อ้อยแตกแขนงใหม่ และแตกยอดพุ่ม

หนอนกอสีขาว จะเจาะไชจากส่วนยอดเข้าไปกัดกินยอดที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้ยอดแห้งตายโดยเฉพาะใบที่ยังม้วนอยู่ ใบยอดที่หนอนเข้าทำลายจะหงิกงอและมีรูพรุน เมื่ออ้อยมีลำจะเข้าทำลายส่วนที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้อ้อยไม่สามารถสร้างปล้องให้สูงขึ้นไปได้อีก ตาอ้อยที่อยู่ต่ำกว่าส่วนที่ถูกทำลายจะแตกหน่อด้านข้างเกิดอาการแตกยอดพุ่ม

หนอนกอสีชมพู จะเจาะเข้าไปกัดกินตรงส่วนโคนระดับผิวดิน เข้าไปกัดกินภายในหน่ออ้อยทำให้ยอดแห้งตาย แม้ว่าหน่ออ้อยที่ถูกทำลายแตกหน่อใหม่ แต่หน่อจะมีอายุสั้น ทำให้ผลผลิตและคุณภาพของอ้อยลดลง

 สำหรับแนวทางในการป้องกันและกำจัดหนอนกออ้อย นอกจากการหมั่นเฝ้าระวังที่แปลงอ้อยแล้ว เมื่อเราพบความผิดปกติที่เกิดจากการทำลายของหนอนกออ้อย ไร่อ้อยที่อยู่ในแหล่งชลประทานควรให้น้ำเพื่อ ให้อ้อยแตกหน่อชดเชย

โดยหากพบการระบาดในระยะกลุ่มไข่ (3-6 วัน) ให้ปล่อยแตนเบียนไข่ไตรโครแกรมมา 3,500 ตัว/ไร่/ครั้ง ปล่อยติดต่อกัน 2-3 ครั้งในช่วงที่พบ

ระยะหนอน (30-35 วัน) ให้ปล่อยแตนเบียนหนอนโคทีเซีย 50-100 ตัว/ไร่

หากพบหนอนกอตัวเต็มวัยให้ปล่อยแมลงหางหนีบไร่ละ 500 ตัว โดยปล่อยให้กระจายทั่วแปลง และควรปล่อยให้ชิดกออ้อย และใช้ใบอ้อยหรือฟางที่เปียกชื้นคลุมจะช่วยให้โอกาสรอดสูงขึ้น และปล่อยซ้ำถ้าการระบาดยังไม่ลดลง

หากมิตรชาวไร่เลือกปล่อยแตนเบียนไข่ไตรโครแกรมมา ไม่ต้องปล่อยแมลงหางหนีบนะคะ เพราะแมลงหางหนีบจะกินแตนเบียนไข่ไตรโครแกรมมาด้วย แต่ถ้าพบว่าอ้อยแสดงอาการยอดเหี่ยวมากกว่า 10% ให้พ่นสารกำจัดแมลง ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีในแปลงที่ปล่อยแตนเบียนไข่ไตรโครแกรมมาและแมลงหางหนีบด้วยค่ะ

IMG_3472.JPG

2. โรคแส้ดำ

โรคแส้ดำ (Smut) นั้น เกิดจากเชื้อรา ชื่อว่า อัสทิลาโก สิธามิเนีย (Ustilago scitaminea) จัดว่าเป็นโรคที่สำคัญมากโรคหนึ่งของอ้อยในประเทศไทย ทั้งนี้เพราะทำความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการปลูกอ้อยเป็นอันมาก

โรคแส้ดำตัวร้ายนี้จะระบาดมากในฤดูปลูก เมื่ออ้อยอายุประมาณ 3-6 เดือน ส่วนมากเป็นกับอ้อยตอมากกว่าอ้อยปลูกใหม่ ทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลงหรือเก็บเกี่ยวไม่ได้เลย คุณภาพลดลง ในพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคปริมาณน้ำตาลจะต่ำกว่าปกติ 10-28 เปอร์เซนต์ น้ำหนักลดลง 70-75 เปอร์เซนต์ อ้อยแห้งตายได้ทุกระยะการเจริญเติบโต โรคนี้ทำให้ผลผลิตลดลง 2.4-9.6 ตันต่อไร่ คุณภาพความหวานลดลง 0.5-2 ซี.ซี.เอส.

ทั้งนี้ความเสียหายจะมากหรือน้อยขึ้นกับปัจจัยเหล่านี้

  1. ระยะการติดเชื้อ คือเชื้อติดมากับท่อนพันธุ์เดิมหรือได้รับเชื้อในภายหลัง
  2. ประเภทของอ้อย คือ อ้อยปลูกใหม่หรืออ้อยตอ
  3. อายุและการติดเชื้อ คือ ต้นฤดูหรือปลายฤดู
  4. พันธุ์อ้อยที่ปลูก

อาการของโรคนี้จะพบได้ทั้งอ้อยปลูกและอ้อยตอ โดยอ้อยตอจะพบมากกว่าโดยสังเกตจากอาการส่วนยอดอ้อยที่ถูกทำลาย มีลักษณะคล้ายแส้ยาวสีดำ จึงเรียกว่า โรคแส้ดำ ส่วนในหน่ออ้อยอาการพบได้ในทุกระยะการเจริญ โดยเชื้อเข้าทำลายตายอดให้ยืดยาวออกและสร้างสปอร์ที่ผิวของยอดที่ยืดยาวออก ในระยะแรกจะมีเยื่อบาง ๆ สีขาวหุ้มอยู่ ต่อมาเยื่อบางค่อย ๆ แตกออก มีสีดำลักษณะเป็นฝุ่นผง อาการแส้ดำนี้เกิดมาจากยอดอ้อยที่มาจากท่อนพันธุ์อ้อยที่ติดเชื้อ หรือปลูกท่อนอ้อยลงในดินที่มีเชื้อ อ้อยที่ถูกเชื้อเข้าทำลายมีอาการแคระแกรน ลำเล็ก แตกกอคล้ายตะไคร้อ้อยไม่ย่างปล้อง ถ้าเป็นรุนแรงมาก อ้อยอาจแห้งตายทั้งกอได้ กอที่บางลำในกอเจริญเป็นลำ ลำอ้อยจะผอมลีบกว่าลำอ้อยปกติ

การแพร่ระบาดของโรค ส่วนใหญ่เป็นลมพัดพาสปอร์แพร่ไป นอกจากนี้ก็มี ฝนและน้ำ หรือท่อนพันธุ์อาจได้รับเชื้อทางสัมผัสโดยตรง หรือจากสปอร์ที่มีอยู่ในดินก่อนที่จะปลูก

มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ขอเสนอแนวทางป้องกันและแก้ไข ดังนี้

  1. ก่อนปลูกอ้อย ต้องไม่ใช้พันธุ์อ่อนแอปลูกในแหล่งระบาด โดยให้เลือกใช้พันธุ์ต้านทาน หรือพันธุ์ปลอดโรค หากไม่ทราบความต้านทาน ให้แช่ท่อนพันธุ์ในสารไตรอะไดมิฟอน นาน 30 นาที
  2. ช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม สิ่งสำคัญคือ มิตรชาวไร่ควรตรวจไร่อย่างสม่ำเสมอหลังจากปลูกอ้อย เมื่อพบกออ้อยเริ่มแสดงอาการแส้ดำ ควรตัดแส้ดำออกขณะเริ่มปรากฏอาการ ก่อนที่เยื่อหุ้มแส้ดำจะหลุดออก นำใส่ถุงไปทำลายนอกแปลงปลูก หรือขุดกอเป็นโรคออกเผาทำลาย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปยังกอข้างเคียง
  3. สำหรับพื้นที่ที่พบการระบาดของโรคแส้ดำมากกว่า 30 เปอร์เซนต์ ให้ไถรื้อปลูก ซึ่งการทำลายเชื้อราในดิน ทำโดยไถพื้นที่เตรียมดินไว้ และให้น้ำเพื่อให้เชื้อรางอก
  4. หากปลูกอ้อยมาต่อเนื่องยาวนาน ควรพักดินเพื่อสลับปลูกพืชอื่น อาทิ พืชตระกูลถั่วหลังจากรื้อแปลงอ้อยตอ เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคในแปลงปลูก และได้ฟื้นฟูสภาพดินไปในตัวด้วย

แปลงอ้อยตอ เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคในแปลงปลูก และได้ฟื้นฟูสภาพดินไปในตัวด้วย

ขอบคุณที่มา

https://www.doa.go.th/

http://www.ocsb.go.th/

https://www.fkx.asia/

https://www.unilife.co.th/

 

ข่าวปักหมุด