หน้าแรก

สวัสดีค่ะเพื่อนมิตรชาวไร่ทุกท่าน “มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม” คือการทำไร่อ้อยสมัยใหม่ที่นำนวัตกรรมการเกษตรและองค์ความรู้ระดับโลกมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและอากาศของประเทศไทย เราเน้นย้ำเสมอว่า การทำไร่อ้อยของแต่ละคน แต่ละพื้นที่มีปัจจัยแวดล้อมหลายอย่างที่แตกต่างกัน ดังนั้นมิตรชาวไร่ที่นำหลักการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มไปใช้ จึงสามารถปรับเปลี่ยน ดัดแปลงหลักการทำไร่ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเองให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุด

มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มวันนี้ เรากำลังยกตัวอย่างมิตรชาวไร่ต้นแบบความสำเร็จ ที่นำหลักการทำไร่อ้อยสมัยใหม่ ผนวกกับแนวคิด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ของมิตรชาวไร่ภูเขียวสองพ่อลูกที่ก่อร่างสร้างไร่ จากคนโยนอ้อยสู่ชาวไร่ที่กวาดรางวัลหลายสาขา จนกลายเป็นตำนานให้ลูกหลานกล้าสานต่อความสำเร็จสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างภาคภูมิใจ

ท่านนี้คือพ่อปัญญา ทวยศิริ วัย 54 ปี มิตรชาวไร่ภูเขียวรุ่นแรก หนึ่งในสมาชิกกลุ่มหนองแซงโมเดล ผู้ซึ่งกวาดรางวัลจากการทำไร่อ้อยมากมายหลายสาขา ทั้งรางวัลจากมิตรผลและรางวัลยิ่งใหญ่ระดับประเทศจาก สอน. วันนี้พ่อปัญญาพร้อมลูกชาย คุณสุทัศน์หรือเปา พร้อมจะเปิดเผยเรื่องราวสู่ความสำเร็จให้พี่น้องมิตรชาวไร่ได้ติดตามไปพร้อม ๆ กันค่ะ

จุดเริ่มต้นสู่อาชีพชาวไร่อ้อย

พ่อปัญญาเริ่มต้นการทำงานในไร่อ้อยด้วยวัย 25 ปี ด้วยอาชีพโยนอ้อย รับค่าจ้างวันละ 2-3 ร้อยบาท ทำงานนี้อยู่สักพัก เริ่มสังเกตว่ารายได้ของรถขนอ้อยดีมาก ๆ ทำให้พ่อปัญญาอยากมีรถเป็นของตัวเอง จึงมุ่งมั่นตั้งใจทำงานเก็บเงินจากการโยนอ้อยมาซื้อรถสิบล้อคันแรก แม้จะไม่ใช่สิบล้อขนาดใหญ่ แต่ก็สามารถเปลี่ยนบทบาทของพ่อปัญญาจากคนโยนอ้อยสู่การเป็นเถ้าแก่ได้ ด้วยการรับจ้างบรรทุกอ้อย

“พอมีรถเป็นของตัวเอง ก็เริ่มเข้าสู่โหมดชาวไร่อ้อย เริ่มเปิดโควตาของตัวเอง จาก 50 ตัน เป็น 500 ตันจาก 500 ตัน สู่ 1,000 ตัน มาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบันปีการผลิต 2564/65 สัญญาอยู่ที่ 3,000 ตัน ด้วยพื้นที่ปลูกอ้อยรวม 200 ไร่ อ้อยตอ 100 ไร่ อ้อยปลูก 100 ไร่ เครื่องจักรที่มีคือรถตัดอ้อย 2 คัน รถสิบล้อ 1 คัน และรถแทรกเตอร์หลาย ๆ รุ่นอีก 6 คัน รวมถึงอุปกรณ์ต่อพ่วงต่าง ๆ ครบชุด”

เส้นทางเริ่มต้นของการปลูกอ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม 

“ผมเริ่มทำไร่อ้อย พร้อม ๆ กับที่มิตรผลมาสร้างโรงงาน แล้วมีโอกาสได้เข้าไปศึกษาดูงาน เห็นการทำไร่อ้อยของโรงงานแล้วประทับใจ โดยเฉพาะการใช้รถต่าง ๆ เข้ามาทำงานในไร่ เราก็ได้รับการสนับสนุนจากโรงงานมาโดยตลอด ตั้งแต่รถคีบ รถไถ รวมถึงรถตัด เราพร้อมเปลี่ยนแปลงให้ได้ตามเขา เพราะเห็นแล้วว่าโรงงานทำแล้วประสบความสำเร็จ ผมก็พยายามถอดแบบโมเดิร์นฟาร์มตามโรงงาน เพราะผมชอบมาก”

พ่อปัญญาเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่เป็นเส้นทางสู่การทำไร่อ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มที่ตั้งใจจะถอดแบบให้ได้ตามที่เห็น แต่ก็มีบางอย่างที่ทำให้พ่อปัญญาเข้าใจว่า ตนเองทำได้ไม่เหมือนโรงงานเท่าที่ควร จึงพยายามมองหาจุดต่างและปรับให้เหมาะสม และสิ่งที่พ่อปัญญาค้นพบคือ เรื่องของดิน

“แปลงอ้อยของเรายังทำได้ไม่ดี ผมก็มานั่งคิดว่าเป็นเพราะอะไร จึงรู้ว่าเป็นเรื่องของดิน ของแปลงอ้อย เพราะเราเคยเผาอ้อยมาก่อน ดินเลยเสื่อม บางที่แตกระแหง ผมเลยเริ่มพัฒนาดินควบคู่ไปกับการทำโมเดิร์นฟาร์ม”

004.jpg

เคล็ดลับการทำไร่อ้อย ให้ได้ผลผลิตดี ไว้ต่อได้นาน

พ่อปัญญาแบ่งการจัดการอ้อยให้ได้ผลผลิตดี ไว้ตอได้นาน ออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ การเตรียมดิน การให้ปุ๋ย และการให้น้ำ

สำหรับการเตรียมดินพ่อปัญญาเน้นการตัดอ้อยสด 100% และไว้ใบคลุมดินบางส่วน คลุกใบอ้อยปิดโคนอ้อยตอ เพื่อรักษาความชื้นให้ดิน

“ผมไม่ชอบการเผาอ้อย เพราะที่ผ่านมา เผาแล้วดินเสื่อมสภาพมาก ทั้งสร้างมลพิษ ฝุ่นควันเยอะ สร้างความสกปรกให้ชุมชน สิ่งแวดล้อมก็แย่ เขตหนองแซงโมเดลเราไม่มีใครเผาอ้อยกันแล้ว เว้นแต่จะโดนกลั่นแกล้งหรือไฟป่าลามเข้ามา เพราะปัจจุบันตัดอ้อยสด ไว้ใบคลุมดินสร้างคุณค่าให้ดินเยอะมาก และได้เงินตัดอ้อยสดสนับสนุนจากหลายฝ่าย ค่าความหวานก็ดีอีกด้วย”

ถัดจากการเตรียมดิน เคล็ดลับต่อมาของพ่อปัญญาในการทำไร่อ้อยให้ประสบความสำเร็จคือ การใส่ปุ๋ย ซึ่งขั้นตอนนี้พ่อปัญญามีแนวคิดที่แตกต่างจากคนอื่นคือ “เลี้ยงอ้อยให้เหมือนเลี้ยงเด็ก”

“แนวคิดผมคือ เลี้ยงอ้อยให้เหมือนเลี้ยงเด็ก เราหลอกล่อให้เด็กกินอาหารที่มีวิตามิน อ้อยก็เหมือนกัน ถ้าเราให้เขากินอะไร อ้อยก็จะกินตามสิ่งที่เราให้ ผมไม่อยากให้อ้อยผมกินปุ๋ยเคมีมากเกินไป อยากให้กินปุ๋ยชีวภาพมากกว่า ผมก็หลอกอ้อยให้กินส่วนนี้ อ้อยก็จะเคยชินและเจริญเติบโตได้เอง ที่ผมทำอยู่คือ ใช้ปุ๋ยเคมีของโรงงาน 1 กระสอบ ผสมกับปุ๋ยชีวภาพ 5 กระสอบ ให้ทางน้ำ ปริมาณ 5 ไร่ ต่อ 5 กิโลกรัม ซึ่งวิธีนี้ผมทดลองมาประมาณ 2 ปี สังเกตได้ชัดเจนว่า อ้อยที่เราให้ปุ๋ยทางน้ำหยดที่เป็นปุ๋ยชีวภาพ ให้ผลผลิตดีกว่าปุ๋ยเคมีล้วน ๆ ไว้ตอได้นานด้วย ตอไม่เสีย ดินก็ต่างกัน ประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ยได้อีกด้วย ผมเลยตั้งเป้าจะลดการใช้เคมีลงเรื่อย ๆ”

ต่อมาคือเรื่องการให้น้ำอ้อย พ่อปัญญาเลือกการให้น้ำด้วยวิธีน้ำหยด เพราะประหยัด และอ้อยได้รับน้ำทั่วถึง การให้น้ำหยดทำให้วัชพืชเกิดเฉพาะบริเวณตออ้อย สามารถจัดการได้ง่าย โดยใช้รถปั่นตามร่องอ้อยรอบเดียว แต่หากใช้น้ำราดน้ำพุ่ง วัชพืชจะเกิดเยอะมาก

005.jpg

ไร่อ้อยสมัยใหม่นำเทคโนโลยีอะไรเข้ามาใช้ในไร่อ้อยบ้าง

นอกจากเครื่องจักรที่นำมาใช้ทั้งรถตัด รถไถ รถคีบ และอื่น ๆ พ่อปัญญาใช้เทคโนโลยีการพยากรณ์อากาศเข้าใช้เพื่อตรวจสอบสภาพอากาศ เพื่อเตรียมการตามปฏิทินไร่อ้อย ทั้งการวางแผนให้ปุ๋ย ให้น้ำ และกิจกรรมอื่น ๆ

“ผมใช้การพยากรณ์อากาศเพื่อตรวจดูสภาพอากาศในแต่ละวัน และใช้ Agcura เพื่อดูความชื้นของอ้อย เราสามารถวัดความต้องการน้ำในไร่อ้อย และเทคโนโลยีที่สำคัญคือ ผมใช้โซล่าร์เซลล์ในระบบน้ำหยดทั่วทั้งไร่ แทนการใช้ไฟฟ้า เพราะค่าไฟแพงมาก ใช้โซล่าร์เซลล์ที่โรงงานมาติดให้ ใช้ประมาณ 10 ชุด สบายใจมาก ผมชอบเรื่องเทคโนโลยี อันไหนที่ลงทุนแล้วช่วยลดต้นทุนระยะยาวได้ ก็ลงทุนไป อันไหนประหยัดได้ก็นำมาใช้”

006.jpg

รางวัลแห่งความภาคภูมิใจจากการทำไร่อ้อย

ตลอดระยะเวลากว่า 25 ปี ที่พ่อปัญญาประกอบอาชีพชาวไร่อ้อย นอกจากความสำเร็จด้านกายภาพ รายได้ เงินทอง และเครื่องจักรต่าง ๆ ที่มีให้เห็น ยังมีความภาคภูมิใจอีกอย่างที่พ่อปัญญารู้สึกเป็นเกียรติและมีความสุขทุกคครั้งที่ได้เล่าถึงที่มาของสิ่งนี้ให้ทุกคนได้ฟัง นั่นคือรางวัลมากมายที่พ่อเคยได้รับ

003.jpg

“รางวัลคือสิ่งที่ภูมิใจมากที่สุดในการทำไร่อ้อย โดยเฉพาะรางวัลเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของ สอน. ที่มีคณะกรรมการมาประเมินเราถึงที่ แล้วได้ไปรับรางวัลที่เมืองทองธานี ได้รับรางวัล ผมมองว่าผมทำไร่อ้อยสไตล์ธรรมชาติ ผมชอบต้นไม้ก็ปลูกอ้อยร่วมกับปลูกป่า และผมไม่เน้นการใช้สารเคมีมากเกินไป ใช้เทคนิคของตนเอง เลี้ยงอ้อยแบบดูแลดิน ให้อ้อยได้รับชีวภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนปีนี้จะได้รางวัลการจัดการน้ำ ผมภูมิใจมาก ๆ กับทุกรางวัล รวมถึงรางวัลชาวไร่ดีเด่นจากมิตรผลด้วย เหล่านี้ก็คือกำลังใจที่ทำให้เรามุ่งมั่นทำไร่ต่อไปให้เต็มความสามารถ”

ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับทายาทอย่างไร 

การทำงานในไร่อ้อยของพ่อปัญญา จะขาดหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญคนนี้ไปไม่ได้เลยนั่นคือ คุณสุทัศน์ ทวยศิริ หรือเปา ทายาทที่จะสืบงานในไร่ต่อจากพ่อ ซึ่งปัจจุบันเปาคือผู้ช่วยพ่อปัญญาในการบริหารจัดการไร่ ช่วยงานขับรถตัดอ้อยช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ดูแลงานซ่อมบำรุงพื้นฐานของรถ  การไถเตรียมดิน การปลูกอ้อยทั้งของตนเองและรับเหมาสมาชิกกลุ่มตัดอ้อย นอกจากนี้เปายังช่วยดูแลงานบำรุงรักษาอ้อย โดยเฉพาะงานวางสายระบบน้ำหยดในไร่ การกำจัดวัชพืชและการใส่ปุ๋ยด้วย ซึ่งกิจกรรมทุกอย่างพ่อปัญญาสอนและให้เปาลงมือเรียนรู้ควบคู่กันไป

“ลูกชายเข้ามาช่วยงานในไร่ตั้งแต่ ม.3 เริ่มจากช่วยขับรถคีบอ้อย จากนั้นก็ทำอย่างอื่นมาเรื่อย ๆ  ผมก็สอนให้เขารู้ทุกอย่างจากเรา  ทำด้วยกันมาตลอก จนตอนนี้ลูกชายคือเป็นมือเป็นเท้าให้ผมไปแล้ว”

007.jpg

เส้นทางอนาคตของไร่

 “อนาคตลูกก็ยินดีรับช่วงต่อจากเรา ทั้งลูกชายลูกสาว ผมว่าทำอะไรก็ไม่สู้ทำอ้อย ยิ่งอนาคตน้ำมันแพง ก็ส่งผลต่ออ้อยนะ เพราะอ้อยเชื่อมโยงกับราคาน้ำมัน อีกอย่างอ้อยสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ลูก ๆ ก็คงเห็นประโยชน์ตรงนี้ ที่สำคัญปลูกอ้อยมีทั้งภาครัฐ และโรงงานให้การสนับสนุนอย่างดี ไม่โดดเดี่ยวแน่นอน ก็ทำกันได้ต่อไปแบบนี้ยาว ๆ”

ด้านเปา ทายาทของพ่อปัญญาก็ยินดีที่จะสานต่องานในไร่อ้อย เพราะมองว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่มั่นคง และตัวเขาเองก้รักในการทำไร่อ้อยเช่นเดียวกับพ่อ และจะสืบสานอาชีพของครอบครัวต่อไป

สุดท้ายพ่อปัญญาฝากแนวคิดการทำไร่อ้อยถึงเพื่อนมิตรชาวไร่ว่า

“อ้อยคือสิ่งมีชีวิต ถ้าเราเลี้ยงเขาให้มีชีวิต เขาก็จะแข็งแรง โรคภัยไม่มี และน้ำหนักดีอีกด้วย”

และนี่คือสองพลังที่ยิ่งใหญ่ของคู่พ่อลูก ปัญญา-สุทัศน์ ทวยศิริ มิตรชาวไร่จากภูเขียว ที่มุ่งมั่นปลูกอ้อยตามแนวทางของตนผสานกับการทำไร่อ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม จนกลายเป็นไร่อ้อยที่ไร้มลพิษ (ไม่เผาอ้อย) เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นตัวอย่างชาวไร่ที่ทำไร่อ้อยด้วยความรักจนประสบความสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้ค่ะ

 

 

ข่าวปักหมุด