หน้าแรก

ฮัลโหลลลลล มิตรรักชาวไร่ของ มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ทุกคน คุณเคยมีคำถามไหมคะว่า การทำไร่อ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ตามมาตรฐาน BONSUCRO เราจะใช้ปุ๋ยเคมีได้หรือไม่? ติ๊ก ต๊อก ติ๊ก ต๊อก ติ๊กต๊อก….ใช้ได้สิคะ เพราะหากจะว่าตามหลัก 3 ใช่แล้วละก็ การใช้ปุ๋ยเคมีในไร่อ้อยสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ภายในกรอบของ เวลาที่ใช่.. วิธีที่ใช่.. และ..ปริมาณที่ใช่ นะจ๊ะตัวเอง                     

สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ใส่ปุ๋ยให้ถูกต้องต่อความต้องการ

การใส่ปุ๋ยเคมีให้ถูกต้อง จะต้องสอดคล้องกับชนิดและปริมาณ นั่นก็คือ ชนิดของดิน และปริมาณความต้องการของอ้อย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี การใส่ปุ๋ยโดยที่ดินนั้น ๆ มีธาตุอาหารเพียงพออยู่แล้ว จะเป็นการลงทุนที่เปล่าประโยชน์ โดยปุ๋ยส่วนที่เกินความต้องการของอ้อยจะถูกชะล้างลงสู่บ่อ คู คลอง และแหล่งน้ำใต้ดิน ก่อให้เกิดมลพิษอย่างรุนแรงได้

การใช้ปุ๋ยในไร่อ้อยให้ถูกต้องนั้น มิตรชาวไร่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจลักษณะทางเคมีของดิน เพราะมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต และการให้ผลผลิตของอ้อยมาก เนื่องจากเป็นลักษณะที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของดิน และปริมาณธาตุอาหารในดิน ที่จะเป็นประโยชน์แก่อ้อย รวมถึงความเป็นพิษของธาตุบางตัวด้วย

การประเมินว่าดินที่ใช้ปลูกอ้อยอยู่จะมีคุณสมบัติทางเคมีที่ดีหรือไม่เพียงใดนั้นสามารถทำได้หลายวิธีได้แก่

  1. การสังเกตอาการขาดธาตุอาหารของอ้อย วิธีนี้ต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์มาวินิจฉัยอาการผิดปรกติที่ปรากฏที่ใบและต้นอ้อยว่า เป็นอาการขาดธาตุใด จึงสรุปได้ว่าดินมีธาตุนั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการของอ้อย
  2. การทดลองใส่ปุ๋ยให้กับอ้อย อาจทำในกระถาง หรือในไร่นา โดยเปรียบเทียบกับดินที่ไม่มีการใส่ปุ๋ย ถ้าอ้อยที่ใส่ปุ๋ยชนิดต่าง ๆ มีการเจริญเติบโตแตกต่างไปจากดินที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ย แสดงว่าดินชนิดนั้นยังมีธาตุอาหารไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของอ้อย
  3. การวิเคราะห์ดิน โดยนำตัวอย่างดินมาตรวจสอบหาปริมาณธาตุต่าง ๆ วิธีนี้เป็นการประเมินที่ถูกต้องแม่นยำกว่าสองวิธีแรก แต่ชาวไร่อ้อยไม่สามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง ต้องส่งตัวอย่างดินไปยังหน่วยบริการต่าง ๆ ซึ่งจะใช้วิธีทางเคมี วิเคราะห์องค์ประกอบของดินในส่วนที่เป็นธาตุอาหาร เพื่อประเมินว่าดินนั้นขาดธาตุอะไรบ้าง และควรใส่เพิ่มเท่าไหร่จึงจะเพียงพอต่อความต้องการของอ้อย
  4. การวิเคราะห์พืช วิธีนี้เป็นวิธีที่ถูกต้องแม่นยำที่สุด แต่ปฏิบัติได้ยุ่งยากกว่า มีวิธีการเช่นเดียวกับการวิเคราะห์ดิน คือ นำตัวอย่างพืชมาใช้วิธีทางเคมีแยกองค์ประกอบของเนื้อเยื่อพืช เพื่อให้ทราบว่า มีธาตุอาหารใดสูงต่ำมากน้อยเพียงใด และนำมาเทียบกับค่าวิกฤต แล้วจึงประเมินเป็นปริมาณธาตุอาหารที่ต้องใส่ให้แก่อ้อย

การใช้ปุ๋ยในไร่กรณีที่ไม่มีการวิเคราะห์ดิน

สำหรับมิตรชาวไร่ที่ไม่ได้นำดินไปตรวจวิเคราะห์ ทำให้ไม่ทราบถึงลักษณะทางเคมีและธาตุอาหารในดิน การใช้ปุ๋ยเคมีจึงจำเป็นต้องพิจารณาตามลักษณะทางกายภาพของดิน ดังนี้

  1. การใช้ปุ๋ยเคมีกับอ้อยที่ปลูกในดินเหนียวหรือดินร่วน

ดินลักษณะนี้มักจะมีธาตุฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมอยู่บ้างจึงเน้นหนักทางด้านธาตุไนโตรเจน ซึ่งแนะนำเป็นปุ๋ยเคมีสูตร 14-14-14, 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 40-50 กิโลกรัม/ไร่ โดยใส่ครั้งแรกพร้อมปลูก หรือหลังแตกกอทันที ใส่ครั้งที่ 2 หลังปลูกหรือแตกกอ 2-3 เดือน

  1. การใช้ปุ๋ยเคมีกับอ้อยในดินทราย

ดินทรายมักจะขาดธาตุโพแทสเซียม เนื่องจากอนุภาคดินถูกชะล้างได้ง่าย จึงแนะนำให้ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 12-12-12, 13-13-13 หรือ 14-14-21 อัตรา 40-60 กิโลกรัม/ไร่ โดยใส่พร้อมปลูกหรือหลังแตกกอ 20 กิโลกรัม ส่วนที่เหลือใส่ครั้งที่ 2 ร่วมกับปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 30-40  กิโลกรัม/ไร่ หรือ 46-0-0 อัตรา 15-20 กิโลกรัม/ไร่ โดยใส่หลังปลูกหรือหลังแตกกอ 60 วัน อาจใช้ปุ๋ยเคมีสูตรอื่นที่มีขายตามท้องตลาดได้ เช่น 16-8-14, 15-5-20 หรือ 16-11-14 โดยใส่ในอัตราเดียวกัน คือ 40-6กิโลกรัม/ไร่ สำหรับอ้อยที่มีน้ำชลประทานให้เพิ่มปุ๋ยยูเรีย อัตรา 15-20 กิโลกรัม/ไร่ หรือปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต อัตรา 25-30  กิโลกรัม/ไร่ ในการใส่ครั้งที่ 2 เช่นเดียวกับใน สภาพดินเหนียวและดินร่วน

ได้คำตอบชัดเจนแล้วใช่ไหมคะ สรุปคือ การใช้ปุ๋ยเคมีให้เป็นคุณนั้น จะต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในดิน หากเลือกใช้ปุ๋ยให้ถูกต้อง และเหมาะสมกับปริมาณที่อ้อยต้องการ นอกจากจะส่งผลดีต่อผลผลิตแล้ว แน่นอนว่าจะลดการเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในไร่อ้อย พร้อมทั้งลดต้นทุนที่เกินความจำเป็นได้อย่างแน่นอนค่ะ

ข่าวปักหมุด