หน้าแรก

มิตรชาวไร่ทราบหรือไม่ว่า การใส่ปุ๋ย แม้เป็นอีกหนึ่งวิธีเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดินที่ปลูกอ้อย แต่การใส่ปุ๋ยเคมีในปริมาณมากเกินกว่าความต้องการของพืช ไม่ใช่เรื่องคุ้มค่าอย่างที่คิด เพราะธาตุอาหารจากปุ๋ยเคมีที่เราใส่ไปนั้น พืชสามารถดูดใช้ได้ไม่ถึง 100% สาเหตุมาจากสภาพแวดล้อมที่ควบคุมไม่ได้ เช่น การถูกชะล้างด้วยน้ำ การถูกดูดยึดไว้กับอนุภาคของดิน รวมถึงการระเหิด การระเหย เพราะอุณหภูมิสูงของแสงแดดและลม

ด้วยเหตุนี้สภาพดินในพื้นที่เกษตรกรรมบางแห่งจึงแน่นทึบ ไม่จับตัวเป็นเม็ด และมีคุณสมบัติเป็นกรด ไม่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช ทำให้ผลผลิตของพืชลดต่ำลง แม้จะใส่ปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้นก็ตาม นั่นเป็นเพราะการใส่ปุ๋ยเกินความต้องการต่อเนื่องและสะสมหลายปี

จากปัญหาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการคิดค้น ปุ๋ยควบคุมการปลดปล่อย (Controlled Release Fertilizer) หรือ “ปุ๋ย Controlled Release” ของบริษัท ปุ๋ยซอยล์เมต จำกัด ซึ่งเป็นปุ๋ยที่สามารถควบคุมการปลดปล่อยธาตุอาหารให้แก่พืชตามช่วงเวลาที่พืชต้องการ

ตัวอย่างปุ๋ย Controlled Release ที่มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มอยากแนะนำให้มิตรชาวไร่รู้จักคือ ยูเรียโค๊ดติ้ง (Urea Coating) หรือปุ๋ยยูเรียควบคุมการปลดปล่อย ยูเรียเป็นปุ๋ยที่ให้ธาตุไนโตรเจนแก่พืช และพืชจะดูดใช้ไนโตรเจนเพื่อสร้างและขยายจำนวนเซลล์ทุกส่วน ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ตามปกติ ดังนั้นธาตุไนโตรเจนจึงเป็นธาตุที่สำคัญที่สุด แต่มากกว่า 60% ของธาตุไนโตรเจน จะสูญเสียระหว่างการใช้งานของเกษตรกรและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม

ปุ๋ยControl-003.jpg

ซึ่งปัจจัยหลักที่เป็นตัวควบคุมการปลดปล่อยธาตุอาหารในเม็ดปุ๋ย Controlled Release คือ อุณหภูมิ และความชื้นในดิน เพราะเม็ดปุ๋ยถูกเคลือบด้วยพอลิเมอร์ ซึ่งมีรูพรุนขนาดเล็กที่สามารถยืดหยุ่นปิดเปิดรับความชื้น ทำให้ธาตุอาหารละลายซึมออกมาได้ตามการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิภายนอกโดยรอบ

สำหรับระยะเวลาการปลดปล่อยธาตุให้แก่พืชของปุ๋ย Controlled Release นั้น ขึ้นอยู่กับการออกแบบสารเคลือบพอลิเมอร์กับระยะเวลาที่พืชต้องการทำให้พืชดูดใช้ธาตุอาหารจากปุ๋ยได้อย่างเพียงพอและต่อเนื่องตลอดช่วงอายุการเจริญเติบโต

ปุ๋ย Controlled Release คือการคิดค้นเทคโนโลยีของมิตรผลที่ช่วยให้การใช้ปุ๋ยของมิตรชาวไร่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า และไม่ต้องกังวลกับปัญหาปุ๋ยตกค้างในดิน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ดินเสื่อมอีกต่อไป

ที่มา : วารสารมิตรชาวไร่

เอกสารอ้างอิง :โชคชัย  วนภู และสิริมา  พิณเพียงจันทร์. (2558). การควบคุมการสูญเสียปุ๋ยยูเรียโดยการเคลือบสารไบโอพอลิเมอร์. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.

นิษฐา  คูหะธรรมคุณ และ สายันต์  แสงสุวรรณ. (2560). ปุ๋ยควบคุมการปลดปล่อยยูเรียเพื่อประยุกต์ใช้ในทางเกษตรกรรม. วารสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปีที่19 ฉบับที่ 3 กันยายน - ธันวาคม 2560.

ข่าวปักหมุด