หน้าแรก

กราบสวัสดี...พี่น้องมิตรชาวไร่ทีเคารพรักทุกท่านนะคะ ก่อนอื่นเลย ต้องขอแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักกับ "ฝ่ายพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน" ในฐานะผู้ร้อยเรียงและถ่ายทอดเรื่องราวดี ๆ จากพี่น้องเกษตรกรในชุมชน สู่อ้อมอกอ้อมใจของมิตรชาวไร่ และหวังว่าเราจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้สาระดี ๆ จากชุมชน ส่งตรงถึงมิตรชาวไร่จากนี้ไปในทุกฉบับนะคะ

พวกเราทีมงานฝ่ายพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน กลุ่มมิตรผลทำหน้าที่เป็นภาคีร่วมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยมิตรผล กว่า 1,600 ครัวเรือน ภายใต้โครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ในพื้นที่ 9 ตำบลนำร่อง เมื่อปี พ.ศ. 2555 และในปีนี้เราได้ขยายพื้นที่ดำเนินการเพิ่มขึ้นอีก 12 ตำบล ทำให้ปัจจุบันเรามีพื้นที่ดำเนินการรวม 287 หมู่บ้าน ใน 8 จังหวัด จากวันนั้นถึงวันนี้รวมระยะเวลาเกือบ 5 ปี แล้วค่ะ ที่พวกเราร่วมอยู่ ร่วมเรียนรู้ ร่วมพัฒนา และสร้างความเจริญ ให้กับพี่น้องชาวไร่อ้อย ดังปรัชญาของกลุ่มมิตรผลของเราที่ว่า "ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ" ด้วยการสร้างระบบเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ควบคู่ไปกับ การสร้างความมั่นคง มั่งคั่งในการทำไร่อ้อยอย่างยั่งยืน ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

กล่าวคือ เป็นการส่งเสริมให้พีน้องชาวไร่อ้อย เกิดการเรียนรู้ เข้าใจถึงสาเหตุ สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ รวมไปถึงการทำให้พี่น้องชาวไร่อ้อยสามารถค้นพบศักยภาพในตนเอง และวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ผ่านการศึกษาเรียนรู้ ดูงาน การอบรม และการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกร โดยเริ่มจากการส่งเสริมให้พี่น้องชาวไร่อ้อยมิตรผลแบ่งพื้นที่ในไร่อ้อยส่วนหนึ่งในการสร้างแหล่งอาหารของครัวเรือน ทำการปลูกพืช ผักสวนครัว "ปลูกอยู่ ปลูกกิน" การเลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา ทำให้ชาวไร่มีอาหารที่สดและปลอดสารเคมีไว้บริโภค รวมถึงการส่งเสริมกิจกรรมอื่น ๆ ได้แก่ การเลี้ยงหมูหลุม การผลิตปุ๋ยอินทรีย์

และน้ำหมักชีวภาพ การผลิตฮอร์โมนบำรุงพืช ไว้ใช้เองในแปลงเกษตร เพื่อให้ชาวไร่สามารถพึ่งพาตนเอง และเป็นการลดรายจ่ายในครัวเรือนลงได้ เฉลี่ยเดือนละ 2,000-3,000 บาท

จากการดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ตลอด ระยะเวลาเกือบ 5 ปี เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของครัวเรือนเกษตรกร ทำให้กลุ่มมิตรผลมีนโยบายในการขยายผลต่อยอดและพัฒนา รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและชุมชนที่มิตรผลร่วมดำเนินงานอยู่ ทำให้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เกิด โครงการทำตามพ่อ ปลูกเพ(ร)าะสุข ขึ้น ภายใต้การประสานงานของกลุ่มธุรกิจกลุ่มงานอ้อย ร่วมกับ กลุ่มงานบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน ด้วยการนำแนวทาง เกษตรทฤษฎีใหม่ มาเสริมสร้างความมั่นคงและเข็มแข็งในการดำรงชีวิตและการทำไร่อ้อยอย่างยั่งยืน การทำไร่อ้อยอย่างยั่งยืน จุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้กับชาวไร่อ้อยในการดำรงชีวิตแบบพอเพียง ทำให้ชาวไร่อ้อยสามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติรอบตัว ให้สามารถเกื้อกูลและอยู่ร่วมกับพี่น้องชาวไร่อ้อยได้อย่างสมดุล

โครงการฯ มีเป้าหมายที่จะส่งเสริมและพัฒนา เกษตรกรกว่า 300 ครัวเรือน ที่สนใจและสมัครเข้าร่วมโครงการฯ พัฒนาสู่การเป็น ศูนย์เรียนรู้ "ปลูกเพ(ร)าะสุข" จำนวน 70 แห่ง กระจายอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี สิงห์บุรี ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ เลย อำนาจเจริญ และตาก เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ให้กับชาวไร่อ้อยมิตรผล คนในชุมชน และบุคคลทั่วไปที่สนใจ อีกกว่า 7,000 คน ภายในปี พ.ศ. 2562

โดยการประสานความร่วมมือกับ ผู้ใหญ่สมศักดิ์ เครือวัลย์ ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติสองสลึง จ.ระยอง และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำปี 2558 ร่วมกับปราชญ์ชุมชน ที่อยู่ใกล้โรงงาน รวม 8 ท่าน ได้แก่ อ.เฉลิมชัย อินทรชัยศรี คุณปรีชา หงอกสิมมา คุณเฉลิมศักดิ์ ถนอมสิทธิ์ คุณประยงค์ บุญทอง คุณรังสรรค์ บุญมาแคน คุณณธรา แย้มพิกุล คุณประหยัด ชำนาญรบ และคุณสมมาตร บุญฤทธิ์ มาเป็นภาคีร่วมพัฒนาให้คำปรึกษา และให้ความรู้ สร้างแรงบันดาลใจในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่แก่ชาว ไร่อ้อยกลุ่มเป้าหมาย เริ่มจากการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวางแผนและกำหนดแนวทางการดำเนินโครงการฯ ร่วมกับ ปราชญ์ชุมชน ผู้บริหารและพนักงานกลุ่มงานอ้อยและฝ่ายพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสองสลึง จ.ระยอง จากนั้นได้ดำเนินการฝึกอบรมชาวไร่ทั้ง 8 จังหวัด เพื่อให้ความรู้เชิง ทฤษฎีและเทคนิคที่จำเป็นในการทำการเกษตร การออกแบบพิมพ์เขียวแปลง และการวางแผนพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ การขยายพันธุ์พืชและสัตว์ การทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ การทำอาหารสัตว์ สามารถนำกลับไปปรับใช้และพัฒนาพื้นที่ของตนเองได้จริง เมื่อเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2560 ในพื้นที่สังกัดโรงงานต่าง ๆ ได้แก่

  1. โรงงานน้ำตาลมิตรผล ภูหลวง ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง จ.เลย ปราชญ์ชุมชน อ.เฉลิมชัย อินทรชัยศรี
  2. โรงงานน้ำตาลมิตรผล ภูเขียว ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง จ.เลย ปราชญ์ชุมชน อ.เฉลิมชัย อินทรชัยศรี
  3. โรงงานน้ำตาลมิตรผล ภูเวียง ณ วนพรรณการ์เด้นท์ เกษตรทฤษฎีใหม่ จ.ขอนแก่น ปราชญ์ชุมชน คุณปรีชา หงอกสิมมา
  4. โรงงานน้ำตาลมิตรผล กาฬสินธุ์ ณ ศูนย์กสิกรรม ธรรมชาติ จ.กาฬสินธุ์ ปราชญ์ชุมชน คุณเฉลิมศักดิ์ ถนอมสิทธิ์
  5. โครงการขยายอำนาจเจริญ ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง จ.อำนาจเจริญ ปราชญ์ชุมชน คุณประยงค์ บุญทอง
  6. โรงงานน้ำตาลมิตรผล สิงห์บุรี ณ ศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ ปราชญ์ชุมชน คุณรังสรรค์ บุญมาแคน
  7. โรงงานน้ำตาลมิตรผล ด่านช้าง ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ปราชญ์ชุมชน คุณณธรา แย้มพิกุล
  8. โรงงานแม่สอดพลังงานสะอาด ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านศรีวิไล ต.มหาชัย อ.ไทรงาม จ.กำแพงเพชร ปราชญ์ชุมชน คุณสมมาตร บุญฤทธิ์

หลังจากที่ทุกโรงงานได้ดำเนินการอบรมให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เข้าร่วมโครงการฯ แล้ว ยังได้สนับสนุนปัจจัยการผลิตบางส่วนในรูปแบบกองทุนหมุนเวียนเพื่อความยั่งยืนให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้แก่ ปัจจัยด้านการเกษตร เช่น พันธุ์พืชผลไม้ พันธุ์กล้าไม้ เมล็ดพันธุ์ผัก ฯลฯ ปัจจัยด้านประมง เช่น พันธุ์ปลาและกบ ฯลฯ ปัจจัยด้านปศุสัตว์ เช่น ไก่พันธุ์ไข่ หมูพ่อแม่พันธุ์ ฯลฯ กว่า 30 ชนิด

ทีมงานด้านอ้อยและฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ มุ่งมั่นเดินหน้าขับ เคลื่อนโครงการทำตามพ่อ ปลูกเพ(ร)าะ สุข กันอย่างต่อเนื่อง เพื่อ ให้เกิดแรงบันดาลใจและแนวทางในการสร้างความ "พอเพียง มั่นคง และยั่งยืนของอาชีพชาวไร่อ้อย" ให้กับพี่น้องชาวไร่อ้อยมิตรผล รวมถึงประชาชนทั่วไป

ข่าวปักหมุด