หน้าแรก

ปัจจุบันการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิตในภาคเกษตรกรรมนิยมกันอย่างแพร่หลาย แต่ก็ยังมีเกษตรกรบางส่วนที่ใช้ปุ๋ยเคมีตามกระแส ใช้ตามคำแนะนำของร้านค้า โดยไม่ได้เลือกใช้ปุ๋ยตามความต้องการของพืชและดินในพื้นที่เพาะปลูกของตนเองอย่างแท้จริง

ซึ่งหากใส่ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารน้อยกว่าความต้องการของพืชก็จะทําให้พืชเจริญเติบโตช้า แคระแกรน ให้ผลผลิตตํ่า หากใส่มากเกินไปหรือใส่ไม่ตรงตามความต้องการของพืช นอกจากจะมีต้นทุนสูงกว่าที่ควรจะเป็นแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืชอีกด้วย

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าดินของเราเหมาะกับปุ๋ยสูตรอะไร ?

การวิเคราะห์ดิน คือคำตอบที่จะทำให้เรารู้ว่า ดินของเราเหมาะกับปุ๋ยสูตรอะไร ปริมาณมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการวิเคราะห์ดิน มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้เกษตรกรได้ทราบถึงความอุดมสมบูรณ์ของดิน ปริมาณธาตุอาหารพืชที่จําเป็น ลักษณะของดิน ความเหมาะสมของดินสําหรับพืชแต่ละชนิด ความเป็นกรด-เป็นด่างของดิน เพื่อให้การปรับปรุงบำรุงดินเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้การปลูกพืชมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตตามเป้าหมาย

ปัจจุบันการประเมินหรือวิเคราะห์ความอุดมสมบูรณ์ของดินก่อนการปลูกพืช สามารถประเมินได้หลายวิธี ทั้งการใช้เครื่องมือ และการเก็บตัวอย่างไปตรวจที่สำนักงานเกษตรอำเภอ เบื้องต้นเกษตรกรสามารถจำแนกดินและประเมินสภาพเบื้องต้นด้วยตนเองได้ตามลักษณะดิน 3 ลักษณะ คือ

ดินเหนียว ประเมินได้ว่ามีความอุดมสมบูรณ์สูงกว่าดินลักษณะอื่น ๆ

ดินร่วน ประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดินตํ่ากว่าดินเหนียว แต่สูงกว่าดินทราย

ดินทราย หรือ ดินร่วนปนทราย ประเมินเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่ตํ่าสุด

จากการประเมินโดยวิธีข้างต้น การวัดความอุดมสมบูรณ์ของดินสามารถวัดได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบัน การประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดินสามารถทําได้ละเอียดมากขึ้น คือการวัดจากค่าวิเคราะห์ดิน ซึ่งวิธีการวิเคราะห์ ดินในปัจจุบันมีขั้นตอนที่ง่ายขึ้น มีเครื่องมือที่สามารถทําได้รวดเร็ว ค่าวิเคราะห์ดินที่ได้ ได้แก่ อินทรียวัตถุ ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และเนื้อดิน

003.jpg

ซึ่งอาจได้จากการตรวจสอบ จากโปรแกรมดินไทยและธาตุอาหารพืช หรือเก็บตัวอย่างดินวิเคราะห์ เพื่อให้ทราบถึงปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในดิน สภาพความเป็นกรด-เป็นด่าง แล้วนํามาเปรียบเทียบกับปริมาณความต้องการธาตุอาหารของพืชที่ปลูกในแต่ละฤดู

วิธีเก็บตัวอย่างดินเพื่อวิเคราะห์ค่าความอุดมสมบูรณ์ของดิน

ช่วงเวลาเก็บตัวอย่างดิน ช่วงเวลาที่เหมาะสม คือหลังจากเก็บเกี่ยวพืชผลแล้ว ไม่ควรเก็บตัวอย่างดินในขณะที่ดินยัง เปียกมาก ไม่ควรเก็บตัวอย่างดินในบริเวณที่เป็นบ้านเก่า คอกสัตว์เก่า หรือบริเวณที่มีปุ๋ยตกค้างอยู่

วิธีเก็บตัวอย่างดิน ต้องถางหญ้าหรือกวาดเศษพืช และใบไม้ที่คลุมดินอยู่ออกทิ้งเสียก่อน แล้วใช้จอบ เสียม หรือพลั่ว ขุดหลุมเป็นรูปตัว V ลึกประมาณ 15 เซนติเมตรหรือ 6 นิ้วจากผิวดิน สําหรับการปลูกพืชไร่ทั่ว ๆ ไป หากเป็นไม้ยืนต้นลึก ประมาณ 30 -60 เซนติเมตร หลังจากนั้นแล้วจึงใช้เสียมแซะดินขนานลงไปจากปากหลุมถึงก้นหลุมให้หนาประมาณ 2-3 เซนติเมตร แล้วงัดขึ้น ดินที่ต้องการก็จะติดตามมาบนพลั่วจอบหรือเสียม เอาดินนี้ไปใส่ถังหรือกระบุง ทําอย่างนี้จนครบทุกหลุม

โดยปกติแปลงขนาดเนื้อที่10-20 ไร่ ควรขุดประมาณ 10-20 หลุม ในที่ต่าง ๆ กันให้กระจายทั่วแปลง โดยยึดหลักการที่ว่า พื้นที่ที่มีความลาดเทแตกต่างกัน สีดิน เนื้อดิน ปลูกพืชต่างชนิดกัน เคยใส่ปุ๋ยหรือหินปูนต่างกัน ต้องเก็บแยกกันเป็นคนละตัวอย่าง

หลังจากขุดดินครบทุกหลุม ตามที่ต้องการแล้ว นําดินเหล่านี้มาทุบให้เป็นก้อนเล็ก ๆ หากดินเปียกให้ผึ่งไว้ในที่ร่ม จนแห้ง คลุกเคล้าให้ทั่วสมํ่าเสมอ แล้วแบ่งดินประมาณ 1 กิโลกรัม ใส่ถุงพลาสติกที่สะอาด พร้อมเขียนรายละเอียดต่าง ๆ ตามแบบฟอร์มของสำนักงานเกษตรอำเภอ (หากมีมากกว่า 1 ตัวอย่างให้นําไปถ่ายเอกสารก่อน) จากนั้นให้พับใส่ถุงพลาสติกแล้วใส่ไว้ข้างใน ถุงพลาสติกที่ใส่ตัวอย่างดินอีกที เพื่อป้องกันรายละเอียดของข้อมูลที่กรอกเลอะเลือน จากนั้นให้ส่งตัวอย่างดิน ผ่านหมอดินอาสาสํานักงานเกษตรอําเภอแต่ละพื้นที่

ทั้งนี้ค่าวิเคราะห์ที่อ่านได้จะต้องนํามาประเมินให้ได้ระดับความอุดมสมบูรณ์ ของดินและนําไปใช้ในการเลือกสูตร และอัตราปุ๋ยได้อย่างถูกต้องตามความต้องการของอ้อย เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และลดต้นทุนการผลิต

เมื่อทราบแน่ชัดแล้วว่าดินของเราต้องการปุ๋ยสูตรอะไร ท่านสามารถไปเลือกซื้อสินค้าได้ที่ https://soilmate.co.th/fertilizer เรามีบริการปุ๋ยครบทุกสูตรทั้งปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยเคมี และปุ๋ยสูตรพิเศษค่ะ

ขอบคุณที่มา

https://www.ldd.go.th/

https://th.wikipedia.org/

ข่าวปักหมุด