หน้าแรก

ความภูมิใจของพ่อแม่ นอกจากส่งเสียเลี้ยงดูให้ลูกมีการศึกษาและสำเร็จตามสมควรแล้ว การกลับมาสืบทอดกิจการงานในครอบครัว และพัฒนางานที่ดีอยู่แล้ว ให้เจริญก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ คือความภูมิใจสูงสุดของคนเป็นพ่อแม่ เพราะนอกจากลูกจะได้กลับมาอยู่บ้านด้วยกันแล้ว อาชีพที่พ่อแม่สร้างมาจากสองมือจนสร้างความมั่นคงให้ครอบครัวก็ไม่มีวันสูญหายตายจาก

ครอบครัวของแม่ยุพา นามทอง มิตรชาวไร่เมืองดินดำ น้ำสุ่ม หรือเมืองกาฬสินธุ์ วัย 58 ปี คือตัวอย่างครอบครัวที่สร้างความมั่นคงยั่งยืนในชีวิตด้วยอาชีพชาวไร่อ้อย แม่ยุพาและสามีประกอบอาชีพนี้จนส่งเสียเลี้ยงดูลูก ๆ ให้สำเร็จการศึกษา และที่สำคัญคือ ลูกชายสองคนของครอบครัว ตั้งใจมาสานต่อกิจการไร่อ้อยจนเฟื่องฟูมาถึงปัจจุบัน

ก่อนจะไปพูดคุยกับทายาทเถ้าแก่ไร่อ้อยแห่งเมืองกาฬสินธุ์ แม่ยุพาได้เริ่มเล่าให้ฟังถึงเรื่องราวก่อนจะมาทำไร่อ้อยจนร่ำรวยถึงทุกวันนี้

“เมื่อก่อนแม่ก็ทำไร่มัน ปลูกเห็ด ปลูกผักขาย ทำเยอะมากนะแต่เห็นแค่เงินหมื่นเงินแสน พอโรงงานมิตรผลมาสร้างที่นี่  ก็เลยลองปลูกอ้อยร่วมกับพืชที่เราปลูกอยู่ พอได้ปลูกอ้อยมันเห็นเงินเป็นกอบเป็นกำ เลยเลิกปลูกทุกอย่างหันมาปลูกอ้อยอย่างเดียว ยิ่งทำเยอะ ยิ่งได้เยอะ จากที่ไม่เคยเห็นเงินล้านก็ได้เห็น”

แม่ยุพาเล่าให้ฟังว่า แม่โชคดีที่ได้อยู่ใกล้มิตรผล จึงได้มีโอกาสได้เห็นการปลูกอ้อยสมัยใหม่และนำแนวทางมาปรับใช้ในไร่ของตนเอง

“เจ้าหน้าที่ส่งเสริมเข้ามาดูแลชาวไร่ตลอด แม่ได้มีโอกาสเข้าไปประชุม ไปอบรม ดูงานสุพรรณ ด่านช้าง แม่ไม่เคยปฏิเสธนะ ไปร่วมทุกครั้ง เราได้เห็นว่าเขาทำไร่อ้อยกันยังไง ปลูกอ้อยทุกวันนี้สบายกว่าเมื่อก่อน ผลผลิตดีกว่า ลดแรงงาน ทำงานได้เร็วขึ้น”

“ที่สำคัญเราอยู่ใกล้โรงงาน เราสามารถนำกากหม้อกรอง นำวีแนสมาใส่ เพื่อปรับปรุงดินในไร่ได้ ทำให้ดินเราดี อ้อยก็งาม ผลผลิตที่ได้ก็ดีด้วย นี่แม่ยังคิดเลยว่า ถ้าโรงงานย้ายไปที่อื่นนี่เสียวสันหลังมากเลยนะ เพราะเรามอบกายถวายชีวิตให้อ้อยไปแล้ว”

แม่ยุพากล่าวถึงความตั้งใจต่อการประกอบอาชีพไร่อ้อยในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันที่มีลูกชายสองคนมารับช่วงต่อ

“อุปสรรคในการทำไร่อ้อยเมื่อก่อน ไม่มีรถตัด ยากลำบากมาก หาคนงานยาก บางทีเบิกตังค์ไปก่อนไม่มาทำงานให้เราก็มี บางทีไปใช้รถร่วมกับเขา เขาก็ไม่มาตัดให้ สมัยก่อนออกรถตัดยาก ต้องไปนั่งเฝ้าให้เขาอนุมัติ เรายังไม่พร้อม แต่เราอยากออก อยากได้ พอตอนนี้มีรถตัดสบายมาก ตัดได้วันละหลายไร่ ตัดอ้อยสดมีแต่ได้กับได้ น้ำหนักดี ความหวานดี ดีทุกอย่าง ตอนนี้ยิ่งดีเพราะมีลูกชายมาอยู่เบื้องหน้าแทนแล้ว แม่ไปอยู่เบื้องหลังแทน อนาคตก็ให้เป็นลูกหลานนี่แหละสืบทอดต่อ เพราะแม่มองว่า ไม่มีอาชีพไหนที่ให้เราได้มากขนาดนี้ เรามีทั้งที่ดิน มีเงิน มีอาชีพที่มั่นคงยั่งยืน”

แน่นอนว่าสิ่งที่แม่ยุพาภูมิใจมากที่สุดคือ มีทายาทมาสืบทอดกิจการไร่อ้อยต่อ นั่นคือลูกชายทั้งสองคนของแม่ยุพา ได้แก่นายยุทธนา นามทอง หรือ เป้า พี่ชายวัย 30 ปี ของนายวิชยา นามทอง หรือป็อป เถ้าแก่หนุ่มวัย 25 ปี

จุดเริ่มต้นของการเริ่มทำไร่อ้อย

เป้ากับป็อบเล่าให้ทีมงานฟังถึงจุดเริ่มต้นก่อนจะมาทำไร่อ้อยของครอบครัวว่า ทั้งสองคนต่างทำหน้าที่ของเด็กคือตั้งใจเรียนหนังสือ จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทั้งคู่ เป้าคนพี่ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม คณะศิลปศาสตร์ ส่วนเป้าคนน้อง จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะเกษตร สาขาพืชไร่นา

“พี่เป้าเริ่มทำไร่มาก่อนผม คือเราช่วยพ่อแม่ทำมาตั้งแต่เด็ก ๆ พอเรียนจบก็มาช่วยงานเต็มตัว แต่ผมไปทำงานที่มิตรผล 2 ปี อยู่ฝ่ายส่งเสริม แต่กิจการครอบครัวเริ่มขยายใหญ่ขึ้น มีเครื่องจักรเยอะขึ้น ผมเลยออกมาช่วยทำตรงนี้” ป็อปกล่าว

บทบาทหน้าที่ในไร่

“พวกเราช่วยกันบริหารจัดการทำไร่อ้อย ตั้งแต่ต้นจนถึงเก็บเกี่ยว ทั้งของตนเองแล้วก็ที่รับจ้างตัดด้วย เป็นกำลังหลักในการวางแผนการทำไร่อ้อยร่วมกับพ่อแม่ ช่วยกันดูแลเครื่องจักร ขับรถตัด บำรุงรักษาเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ น้องก็มาช่วยดูเครื่องอัดใบอ้อยด้วย ก็ช่วยกันทุกอย่างครับ”

เป้าเล่าให้ฟังถึงบทบาทหน้าที่ของสองหนุ่มในไร่อ้อยของตระกูลนามทอง ที่มีไร่อ้อยของครอบครัวเอง 280 ไร่ และพื้นที่เช่าปลูกอีก 700 กว่าไร่ รวมพื้นที่ปลูกอ้อยที่ต้องช่วยกันบริหารจัดการกว่าพันไร่เลยทีเดียว

เคล็ดลับการทำไร่อ้อยให้ได้ผลผลิตดี ไว้ตอนาน

เป้ากับป็อปเล่าถึงเคล็ดลับการทำไร่ให้ได้ผลผลิตดีว่า พวกเขาเน้นทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบโมเดิร์นฟาร์ม เน้นการนำเครื่องจักรมาใช้ ดูแลปรับปรุงดินให้ดีด้วยวีแนสและกากหม้อกรองจากโรงงาน เพราะเชื่อว่าถ้าดินดี อ้อยก็จะดีด้วย ซึ่งผลผลิตปี 64/65 ได้อ้อยปลูกเฉลี่ย 18 ตัน/ไร่ อ้อยตอเฉลี่ย 13 ตัน/ไร่ และมีค่าความหวานเฉลี่ย 13.65 C.C.S.ซึ่งเป็นผลผิตที่อยู่ในเกณฑ์ดี

“เราปลูกอ้อยสด 100% และปลูกอ้อยระยะร่อง 1.85 เมตร 100% ครับ เรื่องการให้น้ำก็สำคัญ เรามีบ่อบาดาล 2 บ่อ ให้น้ำอ้อยให้เพียงพอ ส่วนกระบวนการอื่น ๆ เช่น ปลูก ฝังปุ๋ย พรวนกำจัดวัชพืช ตัดอ้อย เราใช้เครื่องจักรทำงานแทน งานเร็วขึ้น สะดวกขึ้น ทำงานได้ทันเวลา” ป็อปกล่าว

นำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมการเกษตรมาใช้ในไร่ส่วนใดบ้าง

ป็อปกล่าวว่า “อย่างที่บอกครับ เราใช้เครื่องจักรร้อยเปอร์เซ็นต์ มีรถตัดอ้อย 1 คัน รถบรรทุก 5 คัน รถพ่วง 1 พ่วง รถกล่อง 7 กล่อง เครื่องอัดใบอ้อย 1 เครื่อง ทั้งการฉีดยา ใส่ปุ๋ย การปลูก ตลอดจนการเก็บเกี่ยว เครื่องจักรช่วยให้เราลดการใช้แรงงานคน  ตอนนี้เราใช้คนงานน้อย แต่ใช้เครื่องจักรเยอะมาก จนเป็นธุรกิจครอบครัว ทำของตัวเองด้วย รับจ้างคนอื่นด้วย ประสิทธิภาพรถตัดปี 64/65 เป้าหมาย 20,000 ตัน เกิดจริง 21,400 ตัน”

มีแนวคิดในการพัฒนาไร่อ้อยในอนาคตในทิศทางใด

สำหรับแนวคิดการพัฒนาไร่อ้อยในอนาคต ป็อบสนใจและให้ความสำคัญเรื่องการใช้เทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการในไร่อ้อยให้เกิดความแม่นยำ และการเพิ่มประสิทธิภาพการทำไร่อ้อย 

“ผมคิดว่าอยากจะทำไร่ให้มันปราณีตกว่านี้ อยากนำเครื่องมือต่าง ๆ มาใช้ เช่น เรดาร์ตรวจสุขภาพพืช  นำโดรนลงไปสำรวจพื้นที่ เพราะเราจะได้ไม่ต้องลงไปดูทุกอย่าง บางทีฝนฟ้าไม่แน่นอน ถ้าเรามีเทคโนโลยีตัวนี้ เราจะสะดวกขึ้นมาก แถวนี้ยังไม่มีใครใช้ ผมก็อยากลองดู ทุกวันนี้ดูพยากรณ์อากาศตามข่าว แล้วก็ดูแอปฯวินดี้ ก็สะดวกดีนะครับ”

ส่วนเป้า เห็นด้วยกับป็อปคือ อยากนำโดรนเข้ามาใช้งานในไร่อ้อย และต้องการเรียนรู้และพัฒนาอาชีพการทำไร่

“ผมสนใจอยากศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงพันธุ์อ้อยใหม่ ๆ ด้วย แล้วก็อยากพัฒนาให้การทำไร่ ง่าย สบาย มั่นคง และยั่งยืน เพราะการทำไร่อ้อย ผมมองว่ามันไม่ใช่แค่อาชีพ แต่ไร่อ้อยคือมรดกและภูมิปัญญาที่เราจะสร้างและพัฒนาต่อไปให้ลูกหลานได้ครับ”

มุมมองต่ออาชีพชาวไร่อ้อยกับอนาคตของลูกหลาน

ป็อบกับเป้าต่างมีมุมมองเดียวกันคือ ต้องการวางรากฐานอาชีพชาวไร่อ้อยไว้ให้ลูกหลาน พวกเขาต้องการพัฒนาให้การทำไร่ทันสมัย ง่าย และเร็วขึ้น โดยลดขั้นตอนการทำงานที่ต้องมาพึ่งพาแรงงานคน และนำเครื่องจักรหรือนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่เข้ามาช่วยงานให้มากขึ้น

“ถ้ายึดหลักโมเดิร์นฟาร์ม ผมมองว่าการทำไร่อ้อยของเราไปต่อได้ไกลถึงลูกถึงหลานแน่นอนครับ” เป้ากล่าวทิ้งท้าย ถึงหลักการทำไร่อ้อยสมัยใหม่ตามแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ที่พวกเขามองว่ามาถูกทางและจะพัฒนาต่อไปให้อาชีพนี้เป็นมรดกที่สำคัญและภูมิปัญญาที่ยั่งยืนควรค่าแก่การสานต่อจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อพัฒนาภาคเกษตรกรรมของไทยให้ก้าวหน้าต่อไป

ข่าวปักหมุด