หน้าแรก

สวัสดีค่ะมิตรชาวไร่ ก่อนหน้านี้เราได้นำเสนอ 5 ปัจจัยหลักสำคัญที่จะทำให้ได้ผลผลิตอ้อยสูงกว่า 20 ตันต่อไร่ ซึ่งได้แก่

  1. การจัดการทันเวลา และมีเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ
  2. มีน้ำเพียงพอและระบบให้น้ำที่เหมาะสม
  3. ต้องมีการพักดินและบำรุงดิน
  4. ต้องปลูกอ้อยให้งอกมากกว่า 80 %
  5. ต้องตรวจสอบคุณภาพงานของผู้รับเหมา

อย่างไรก็ดีค่ะ ยังมี 4 ปัจจัยรองที่สำคัญไม่แพ้ 5 ปัจจัยหลักข้างต้น ที่จะช่วยให้มิตรชาวไร่บรรลุเป้าหมาย ผลผลิตอ้อยทะลุ 20 ตันต่อไร่ ดังนี้

1.เจ้าของแปลงหรือผู้ดูแลแปลงต้องมีความชำนาญ มีประสบการณ์

03_4-ปัจจัยรองที่สำคัญไม่แพ้ปัจจัยหลักที่จะพ-04.png

จากปัจจัยหลักทั้ง 5 ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะไม่มีทางทำให้ดีได้เลย ถ้าเจ้าของแปลงหรือผู้ดูแลแปลงอ้อยขาดความชำนาญ มีประสบการณ์น้อย เมื่อขาดสิ่งเหล่านี้ กิจกรรมจัดการไร่ต่าง ๆ ก็จะไม่ทันเวลา การเตรียมและจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ก็ไม่มีประสิทธิภาพ การกำหนดมาตราฐานและการติดตามตรวจสอบคุณภาพงานจะทำได้ไม่ดี ถูกผู้รับเหมาหลอก เกิดปัญหาขึ้นก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ เกิดความเสีบหาย ผลผลิตก็ไม่ได้ตามเป้า

ดังนั้นเจ้าของแปลงหรือผู้ดูแลแปลงอ้อย จะต้องมีความรู้เรื่องอ้อย มีความรู้เรื่องการใช้เครื่องจักรกลในไร่อ้อย โดยเฉพาะการทำไร่แบบ Mitr Phol ModernFarm มีความสามารถในการวางแผน การปฏิบัติงาน มีทักษะในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยความรู้และทักษะเหล่านี้สามารถเพิ่มเติมได้

2. เลือกพันธุ์อ้อยที่เหมาะสมกับสภาพดิน และสภาพแวดล้อม

4-ปัจจัยรองที่สำคัญไม่แพ้ปัจจัยหลักที่จะพ-05.png

ตามหลักวิชาการเกษตรการทำไร่อ้อยให้ได้ผลผลิตสูงจะเกิดจากอิทธิพลของความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ปัจจัย คือ พันธุ์ (genetic) และสภาพแวดล้อม (Environment) ถ้ามีอ้อยพันธุ์ดีแต่ปลูกในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ดินเลว ขาดน้ำ ผลผลิตก็ไม่สูง ในทางกลับกันถึงแม้สภาพแวดล้อมดี แต่เลือกปลูกพันธุ์ที่ไม่เหมาะสม ผลผลิตอ้อยก็ไม่สูง ปัจจุบันพันธุ์อ้อยเพื่อการค้าในประเทศมีหลากหลายมากขึ้น แต่ละพันธุ์จะถูกคัดเลือกภายใต้สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน จึงเหมาะสำหรับสภาพแวดล้อมนั้น ๆ ตัวอย่างของพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้

3. ต้องตรวจสอบแปลงอ้อยอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบอาการผิดปกติจากโรคและแมลงต้องแก้ไขทันที

โรคและแมลงเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้เราได้ผลผลิตต่ำกว่า 20 ตันต่อไร่ แต่ถ้าเรารู้และแก้ไขได้ทันที ก่อนที่จะระบาดทำความเสียหายมากขึ้นจะทำให้ลดผลกระทบหรือไม่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของอ้อยเลย แนวทางปฏิบัติสำหรับข้อนี้คือ ต้องหมั่นตรวจแปลงอ้อยอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยเดือนละครั้ง สังเกตการเจริญเติบโตของอ้อยในช่วงวิกฤตต่าง  ๆ เช่น ช่วงตั้งตัว (อายุ 1 เดือน) เมื่อแตกกอ (อายุ 3-4 เดือน) และเมื่อสะสมน้ำตาล (อายุ 8 เดือน) การตรวจแปลงดังกล่าว เมื่อพบอาการผิดปกติรีบแจ้งผู้บังคับบัญชาหรือผู้เชี่ยวชาญ โดยเก็บตัวอย่างอ้อยที่ผิดปกติให้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ ให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหา และดำเนินการแก้ไข

4. การเก็บเกี่ยวผลผลิตต้องมีคุณภาพ

การเก็บเกี่ยวอ้อยเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่มีผลต่อผลผลิตอ้อย เนื่องจากมีการสูญเสียในกระบวนการเก็บเกี่ยวอาจถึง 2 ตันต่อไร่ ในขณะที่เราพิถีพิถันในการปลูก และดูแลรักษา เพื่อให้ได้ผลผลิตมากกว่า 20 ตันต่อไร่ จะเป็นที่น่าเสียดาย ถ้าผลผลิตที่เราใช้เวลาสร้างนาน 1 ปี ต้องสูญเสียไปจากการเก็บเกี่ยวเพียงวันเดียว ดังนั้นในการจัดการไร่อ้อยเพื่อผลผลิต 20 ตันต่อไร่จึงต้องมีข้อปฏิบัติ “การเก็บเกี่ยวต้องมีคุณภาพ” เข้ามากำหนดไว้ด้วย

วิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้มีคุณภาพ เริ่มจากการตัดอ้อยในช่วงอายุที่เหมาะสมไม่อ่อนหรือแก่เกินไป ถ้าอ้อยอ่อนเกินไปน้ำหนักและความหวานยังไม่สูง เราก็จะได้ผลผลิตไม่เต็มที่ ถ้าอ้อยแก่มากจะออกดอกหรือแตกตาข้าง ทำให้น้ำหนักและความหวานลดลง การพิจารณาแปลงตัดที่เหมาะสมทำได้โดยนำข้อมูลพันธุ์อ้อย เช่น พันธุ์เบา พันธุ์กลาง พันธุ์หนัก ประเภทอ้อย เช่น อ้อยปลูก อ้อยตอ ฯลฯ และอายุอ้อยมาพิจารณาร่วมกัน

การตัดอ้อยไม่ชิดดินก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราสูญเสียผลผลิตอ้อยไปตั้งแต่ 0.5 ถึง 2 ตัน ขึ้นอยู่กับความสูงของตออ้อย และที่สำคัญในส่วนโคนของอ้อยจะมีน้ำตาลมากกว่าส่วนอื่น ๆ การตัดอ้อยตอสูงทำให้เราสูญเสียความหวานด้วย การตัดอ้อยสะอาดโดยไม่ให้สูญเสียน้ำหนัก เนื่องจากถ้าเราตัดอ้อยไม่สะอาดมีสิ่งเจิปน เช่น ยอด ราก ใบ ดิน และทราย จะทำให้ CCS ลดลง ขณะเดียวกันถ้าเราใช้รถตัดอ้อยแล้วปรับพัดลมให้เป่าสิ่งเจอปนออกแรงเกินไป จะทำให้ท่อนอ้อยถูกเป่าทิ้งไปด้วยทำให้สูญเสียผลผลิต ดังนั้นพนักงานขับรถตัดจะต้องปรับพัดลมให้เป่าสิ่งเจอปนออกให้มากที่สุด และท่อนอ้อยติดไปน้อยที่สุด

การเผาอ้อยก่อนตัดก็เป็นส่วนที่ทำให้สูญเสียผลผลิตและความหวาน รวมทั้งสูญเสียอินทรีย์วัตถุที่จะกลับไปสู่ดิน นอกจากนี้การตัดอ้อยแล้วทิ้งไว้ค้างไร่ ค้างลาน ไม่นำเข้าหีบทันทีจะทำให้น้ำหนักอ้อยลดลงวันละ 2% และ CCS ลดลงทุกวันอีกด้วย

เป็นอย่างไรบ้างคะ กับ 4 ปัจจัยรองที่ส่งผลต่อผลผลิตและคุณภาพอ้อย ที่จะช่วยให้มิตรชาวไร่ผลิตอ้อยได้สูงกว่า 20 ตันต่อไร่  แม้จะไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่ก็มีส่วนสำคัญต่อผลผลิตอ้อยเป็นอย่างมาก ซึ่งหากเราสามารถทำได้ดีทั้งปัจจัยหลักและปัจจัยรอง มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มเชื่อว่า เป้าหมายที่ตั้งไว้อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอนค่ะ

 

 

 

 

ข่าวปักหมุด