หน้าแรก

โซล่าร์รูฟท๊อป (Solar Rooftop) หรือพลังแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา หนึ่งในไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ซึ่งสามารถผลิตได้จากการติดตั้งแผงโซล่าร์บนหลังคาที่อยู่อาศัย หลังคาโรงงาน หรือแม้กระทั่งหลังคาโรงจอดรถ ซึ่งระบบของแผงโซล่าร์จะเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้กลายเป็นไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยในกระบวนการผลิตไฟฟ้าจะไม่มีการเผาไหม้เหมือนเชื้อเพลิงชนิดอื่น ๆ ทำให้การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์ บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 สู่ชั้นบรรยากาศ จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกมาประกาศสนับสนุนพลังงานสะอาด เดินหน้าปลดล็อคการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา ไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอีกต่อไป

ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขกฎกระทรวง คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2567 เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า ส่งเสริมการให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจใช้พลังงานสะอาด มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน คาดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 500 tCO2/เมกะวัตต์/ปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 62,500 ต้น

โดยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้ประสานข้อมูลกับภาคเอกชน อาทิ ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคศูนย์การค้า ภาคโรงแรม และภาคบริการ พบว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ต้นทุนการติดตั้งโซล่าเซลล์มีราคาที่ถูกลง ทำให้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจที่ประสงค์จะติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) เป็นจำนวนมาก เช่น อาคารโรงงาน ศูนย์การค้า โรงแรม มหาวิทยาลัย เป็นต้น ซึ่งตามกฎหมายโรงงานเดิมกำหนดว่าการติดตั้ง Solar Rooftop ที่มีกำลังผลิตเกินกว่า 1,000 กิโลวัตต์ หรือ 1 เมกะวัตต์ เข้าข่ายเป็นโรงงานต้องขอรับใบอนุญาต

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการผลิตโซล่าเซลล์มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณมากโดยใช้จำนวนแผงเซลล์แสงอาทิตย์หรือพื้นที่ติดตั้งลดลงกว่าเดิมถึง 2.7 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2557 อีกทั้งยังมีมาตรฐานควบคุมด้านความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การปลดล็อคดังกล่าวมีประโยชน์อย่างไร

  1. ช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจจากการติดตั้ง Solar Rooftop ได้ง่ายขึ้น
  2. สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 500 tCO2/เมกะวัตต์/ปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 62,500 ต้น
  3. เป็นการผลักดันให้ผู้ประกอบการเกิดการขับเคลื่อนทางธุรกิจอย่างสมดุลและยั่งยืนใน 4 มิติ ทั้งด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจต่าง ๆ
  4. ส่งเสริมการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
  5. การได้รับการยอมรับจากสังคม ความลงตัวกับกติกาสากล ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมสู่อุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อโอกาสทางธุรกิจตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก
  6. เป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนจากการขยายตัวของธุรกิจติดตั้งโซล่าเซลล์

มิตรชาวไร่ทราบหรือไม่ว่า ทำไมรัฐจึงให้ความสำคัญกับการปลดล็อคให้โซล่าร์รูฟท๊อป ไม่ต้องขอใบอนุญาตโรงงาน เพราะรัฐเชื่อว่าการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดดังกล่าว จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) ของประเทศไทย ต่อไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย MIND ใช้หัวและใจปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน

หากมีความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการโซล่าร์รูฟท๊อป มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มจะนำมาอัพเดตอย่างต่อเนื่อง

ขอบคุณที่มาข้อมูล-ภาพ

https://www.ryt9.com/

https://www.greennetworkthailand.com/

 

 

 

ข่าวปักหมุด