หน้าแรก

“ต้นทุนชีวิต” เป็นคำสั้น ๆ แต่มีความหมายต่อชีวิตของคนหนึ่งคนมากมายมหาศาล

“ต้นทุนชีวิต” เปรียบเสมือนรากฐาน ที่สามารถกำหนดทิศทางของคนในครอบครัวได้เป็นอย่างดี

หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “เพราะต้นทุนชีวิตของแต่ละคนต่างกัน จึงทำให้คนนั้นประสบความสำเร็จ คนนี้ต้องดิ้นรนอย่างยากลำบาก” ถามว่าต้นทุนชีวิตมีส่วนผลักดันให้ชีวิตของเราประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มีส่วนสำคัญ บางคนใช้ต้นทุนชีวิตที่มีอยู่สูง ต่อยอดความสำเร็จไปเรื่อย ๆ บางคนแม้ต้นทุนชีวิตต่ำ แต่เขาก็สามารถนำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด เป็นแรงผลักดันให้ชีวิตประสบความสำเร็จได้อย่างน่าชื่นชมเช่นกัน

วารสารมิตรชาวไร่ฉบับนี้ พบกับมิตรชาวไร่ตัวอย่าง ที่ถึงแม้ต้นทุนชีวิตของเขาเริ่มจากไม่มีอะไรเลย มีเพียงความมุ่งมั่น ขยันหมั่นเพียร และกำลังใจจากครอบครัว ทำให้การเริ่มชีวิตจากศูนย์ ก้าวไปสู่ร้อยได้อย่างน่าภาคภูมิใจ จากความสำเร็จที่เขาสร้างขึ้นมา ทำให้เขากลายเป็นไอดอลให้แก่ทายาท ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ เข้ามาสานต่อกิจการในไร่อ้อยได้อย่างเต็มภาคภูมิ

003.jpg

เรากำลังพูดถึง “พ่อบุญทัน ประยูรวงษ์” เถ้าแก่ไร่อ้อยวัย 73 ปี แห่งเมืองสุพรรณ เจ้าของพื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 1,000 ไร่ สัญญาตันอ้อยปี 2567/68 จำนวน 10,000 ตัน ประสิทธิภาพรถตัดปี 2564/65 เป้าหมาย 8,000 ตัน ผลผลิตปีการผลิต 2566/67 อยู่ที่ 12,436.43 ตัน ผลผลิตเฉลี่ยอ้อยปลูก 16 ตัน/ไร่ อ้อยตอ 12 ตัน/ไร่ C.C.S. 11.55 ซึ่งผลผลิตที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ การันตีความสำเร็จด้วยรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นของ สอน.ปี พ.ศ.2564

กว่าจะมาเป็นเถ้าแก่ไร่อ้อยในวันนี้

พ่อบุญทัน เติบโตมาจากครอบครัวชาวนา ที่มีพี่น้องรวมกัน 10 คน ชีวิตวัยเด็กเรียกว่าอัตคัดก็ไม่ผิด ด้วยความที่พ่อแม่มีลูกหลายคน การทำนาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ไม่ได้ทำให้ชีวิตครอบครัวสุขสบาย พ่อบุญทันเล่าว่า “ก่อนจะมาปลูกอ้อย ผมก็เลี้ยงควายทำนากับพ่อแม่มาก่อน ลำพังทำนาแค่พอกิน ไม่มีอะไรเหลือ ไม่มีอะไรก้าวหน้า แม่เลยพาขี่จักรยานมาจากสองพี่น้อง มาหาลู่ทางทำกิน พอดีมีเถ้าแก่ที่อยู่ใกล้บ้านเขาปลูกอ้อย ผมก็มารับจ้างขึ้นอ้อยกับเขา ทำไปทำมาก็เกิดอยากปลูกอ้อยบ้าง เลยไปหาที่ทางปลูก ก็ใช้จอบเรานี่แหละ ขุดร่องปลูกไปเรื่อย จนได้เริ่มปลูกอ้อยครั้งแรกในชีวิต ประมาณ 5 ไร่ ใช้กำลังตนเองทั้งหมดในวัย 17 ปี”

พ่อบุญทันเล่าว่า การเริ่มต้นมักมีอุปสรรคเสมอ สมัยก่อนปลูกอ้อยไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ต้องดิ้นรนขวนขวายให้ได้ปัจจัยต่าง ๆ เพื่อให้อ้อยเจริญเติบโต

“เมื่อก่อนผมเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ก็ไปดำเนินการขอน้ำ ขอไฟหลวงมาเพื่อให้ได้ทำไร่กัน คนเห็นด้วยก็มี คนไม่เห็นด้วยก็แยะ เราก็ไม่คิดอะไรมาก คิดแค่ว่า เราลงมือทำแล้วก็อยากให้ประสบความสำเร็จ อยากได้กำไร ปลูกอ้อยไม่หวังกำไร เราจะปลูกไปทำไม จริงไหม ?”

ความสำเร็จไม่ได้มาได้เพราะโชคช่วย

จากประสบการณ์กว่า 50 ปี ที่คลุกคลีอยู่ในวงการอ้อย พ่อบุญทันกล่าวว่า การจะปลูกอ้อยให้ประสบความสำเร็จต้องมีเป้าหมาย ซึ่งเป้าหมายของพ่อบุญทันคือ ปลูกแล้ว ต้องได้กำไร

“กำไร คือเป้าหมายในการปลูกอ้อย เมื่อเรามีเป้าหมาย เราก็ลงมือทำ สิ่งไหนที่จะช่วยให้อ้อยเจริญเติบโตให้ผลผลิตงอกงาม เราก็นำมาใช้ในไร่ของเรา ผมไม่กลัวที่จะปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ไม่กลัวที่จะทดลองจนกว่าจะเจอสิ่งที่ดีที่สุดกับไร่ของเรา อย่างเช่นพันธุ์อ้อย เราไม่รู้ว่าพันธุ์ไหนปลูกแล้วให้ผลผลิตดี เราก็ทดลองปลูกหลาย ๆ พันธุ์แล้วมาเปรียบเทียบ มาวิเคราะห์ดูว่า ดินประเภทนี้เหมาะกับอ้อยพันธุ์ไหน รวมถึงการเปลี่ยนวิธีทำไร่ให้ทันสมัยมากขึ้น ทุกอย่างเกิดจากการเรียนรู้ สิ่งสำคัญคือผู้สนับสนุน ซึ่งผู้สนับสนุนของผมและครอบครัวคือมิตรผล เรามีผู้สนับสนุนดี เราจึงรู้หลักและเทคนิคการปลูกอ้อยที่ทำให้เราประสบความสำเร็จมาถึงทุกวันนี้”

จุดเริ่มต้นสู่การทำไร่อ้อยแบบโมเดิร์นฟาร์ม

พ่อบุญทันเล่าว่า สมัยก่อนปลูกอ้อยไม่มีการเว้นระยะร่องตายตัว ไม่มีเครื่องมือ หรือเทคนิคอะไรในการทำไร่อ้อย แต่พอได้มารู้จักกับมิตรผล ได้มีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการทำไร่อ้อยแบบโมเดิร์นฟาร์ม จึงได้นำหลักการมาปรับใช้ในไร่ของตนเองและครอบครัว

“สิ่งที่ผมได้จากมิตรผลคือหลักการปลูกอ้อยแบบโมเดิร์นฟาร์ม อย่างแรกคือการปลูกอ้อยระยะร่อง 1.85-2.00 เมตร ซึ่งเมื่อเราเว้นระยะแบบนี้ ทำให้เราสามารถนำเครื่องจักรเข้ามาใช้งานในไร่ได้สะดวกสบายมากขึ้น อ้อยก็มีพื้นที่ให้เจริญเติบโตตามวัย”

เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้การปลูกอ้อยง่ายนิดเดียว

ไร่อ้อยพ่อบุญทัน เน้นการใช้เครื่องจักรในการบริหารจัดการไร่อ้อยเป็นหลัก ตั้งแต่กระบวนการปลูก ฝังปุ๋ย พรวนกำจัดวัชพืช ไปจนถึงการตัดอ้อยสด ด้วยรถตัด

“ตัดอ้อยสด มีแต่ได้กับได้ ในเมื่อเรามีเครื่องจักร เราก็อยากส่งอ้อยคุณภาพดีเข้าโรงงาน ไร่ของผมตัดอ้อยสด 100% ไม่ตัดอ้อยเผาใบ เว้นแต่ว่าเป็นอุบัติเหตุลามมาจากไร่คนอื่น ซึ่งอันนั้นเหนือการควบคุมของเรา ตอนนี้เครื่องมือทางการเกษตรที่ผมมี คือ มีรถตัด Case 1 คัน รถแทรกเตอร์ใหญ่ 3 คัน ขนาด 110, 108 และ 90 แรงม้า รถแทรกเตอร์เล็ก 24 แรงม้า 1 คัน รถกล่อง 5 คัน เครื่องปลูก 2 ตัว โรตารี่ 1 ตัว ผาลสับใบอ้อย 1 ตัว เครื่องฝังปุ๋ย 2 ตัว เครื่องใส่ปุ๋ย 1 ตัว ริปเปอร์ 4 ขา พร้อมถังฝังปุ๋ย”

หัวใจสำคัญของการปลูกอ้อย

สำหรับหัวใจสำคัญหรือปัจจัยหลักที่ทำให้อ้อยเจริญเติบโต พ่อบุญทันยกให้ “น้ำ” เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

“ถ้าอ้อยเราไม่มีน้ำ อ้อยตายหมด ผมจึงทำระบบน้ำในไร่อ้อย เป็นระบบน้ำหยด 80% บ่อบาดาล 7 บ่อ มีสระน้ำพื้นที่ 30 ไร่ ใช้กักเก็บน้ำเผื่อใช้ในไร่อ้อยของตนเอง และเพื่อสาธารณประโยชน์ให้ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง ให้เขานำน้ำไปใช้กับพืชเกษตรอื่น ๆ เช่น อ้อย ไร่สับปะรด ข้าวโพด เรามีน้ำ ปลูกอะไรก็ได้หมด”

 นอกจากนี้พ่อบุญทันยังเล่าว่า พ่อได้ยึดหลักตามรอยพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ในการแบ่งพื้นที่ทำกิน เช่น หากเรามีที่ 10 ไร่ จะขุดบ่อน้ำ 1 ไร่ ปลูกสวนครัวบนคันสระ แบ่งพื้นที่ใช้สอยให้พอเพียง ด้วยแนวคิดนี้ พ่อบุญทันจึงได้รับรางวัลศาสตร์พระราชาภาคกลาง เป็นเครื่องหมายยืนยันถึงความสำเร็จของชีวิตเกษตรกร

004.jpg

พ่อบุญทันกล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า อ้อยให้มีทุกอย่างในชีวิต ทำให้ครอบครัวมีความสุข ปัจจุบันพ่อได้แบ่งปันไร่ให้ลูก ๆ ได้ดูแล “ตอนนี้พ่อยังทำไหว พ่อก็ยังทำต่อไป แต่อนาคตก็อยากให้ลูกสานต่อเต็มร้อย” เพราะอ้อยนี่แหละที่จะเลี้ยงดูลูกหลานอย่างยั่งยืนต่อไป

ที่มา : วารสารมิตรชาวไร่

ข่าวปักหมุด