หน้าแรก

เราต่างทราบกันดีอยู่แล้วว่า อ้อยจะเจริญเติบโตได้ดี ให้ผลผลิตสูง ดินที่ใช้ปลูกอ้อยต้องมีพื้นฐานดีที่จะหล่อเลี้ยงอ้อยตลอดการเจริญเติบโตได้ ซึ่งดินนั้นต้องมีองค์ประกอบพื้นฐานที่สมบูรณ์ทั้งโครงสร้าง ความสมบูรณ์ รวมถึงปริมาณสิ่งมีชีวิตในดินที่จะย่อยสลายกลายเป็นอินทรียวัตถุสร้างคุณค่าทางอาหารให้อ้อยต่อไป

แน่นอนว่าดินแต่ละพื้นที่กัน จะมีความอุดมสมบูรณ์ต่างกัน แต่มิตรชาวไร่สังเกตไหมว่า ดินบางที่แม้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน แต่ก็แตกต่างกันอย่างสุดขั้วก็มี บางคนไร่ติดกัน ดินของคนนี้ดี อุดมสมบูรณ์ แต่ดินของอีกคนกลับมีสภาพเสื่อมโทรม คุณภาพของดินไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก

003.jpg

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของเจ้าของที่ดิน ที่ใช้ที่ดินทำมาหากินโดยขาดการบำรุงรักษา ซึ่งมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มวิเคราะห์แล้วว่า 2 พฤติกรรมใหญ่ ๆ ของชาวไร่ ที่ทำร้ายดินโดยไม่รู้ตัวนั้น มีอะไรบ้าง

1.การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรขนาดใหญ่อย่างรถแทรกเตอร์ รถบรรทุกอ้อย ซึ่งมีน้ำหนักมาก วิ่งบดอัดอยู่บนแปลงอ้อยติดต่อกันหลายปีโดยไม่มีการพักดิน ทำให้ดินอัดแน่นจนเป็นดินดาน มีลักษณะแน่นทึบ ซึ่งดินลักษณะนี้ รากอ้อยไม่สามารถแทงทะลุลงไปได้ เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของอ้อย อ้อยจะชะงักและไม่โต เก็บอากาศและน้ำในดินได้น้อย ทำให้อ้อยดูดน้ำและธาตุอาหารได้จำกัด

2.การไถพรวนที่มากเกินจำเป็น เป็นการทำลายโครงสร้างดินเช่นเดียวกัน ทำให้ดินย่อยออกเป็นเม็ดเล็ก ๆ เหมือนฝุ่น ช่องว่างในดินลดลง เมื่อดินมีโครงสร้างไม่ดีก็ไม่สามารถอุ้มน้ำเก็บอากาศได้ สิ่งมีชีวิตและจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ก็อาศัยอยู่ไม่ได้เช่นกัน ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ทำให้ปริมาณและการกระจายตัวของฝนไม่สม่ำเสมอเป็นเหตุให้น้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของอ้อย ยิ่งเมื่อถึงหน้าแล้งจะยิ่งเห็นผลกระทบรุนแรงต่อผลผลิตและคุณภาพของอ้อยอย่างชัดเจน ลักษณะทางเคมีของดินที่ไม่เหมาะสมนี้ เกิดจากดินที่มีความเป็นกรดเป็นด่างมากเกินไป เป็นเหตุมาจากการทำปฏิกิริยาทางเคมีของแร่ธาตุต่าง ๆ ในดิน เกิดการตกตะกอนหรือเปลี่ยนชนิดสารในดิน ส่งผลต่อการละลายของแร่ธาตุในดินได้

2 พฤติกรรมดังกล่าวข้างต้นนี้ เป็นกิจกรรมสำคัญในไร่อ้อยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อดิน ก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เช่นกัน ในเมื่อดินคือปัจจัยพื้นฐานลำดับแรกที่จะช่วยหล่อเลี้ยงอ้อยให้เจริญเติบโตจนกลายเป็นผลผลิตให้แก่ชาวไร่

004.jpg

ดังนั้นทางออกของปัญหาจากพฤติกรรมดังกล่าวแก้ไขได้โดยการปล่อยให้ดินได้พักตามช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งการทำไร่อ้อยสมัยใหม่ตามแบบฉบับมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มได้ย้ำเสมอในหลักสี่เสาพลัส ที่มีเสาหลักที่ 1 การพักดินปลูกพืชตระกูลถั่ว หลังจากปลูกอ้อยต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน เสาหลักที่ 2 การควบคุมแนวล้อวิ่ง ทำให้เครื่องจักรกลการเกษตรในทุกกิจกรรมสามารถวิ่งตามแนวร่องที่กำหนดไว้ และไม่เหยียบย่ำไปบนเบดฟอร์ม ช่วยลดการบดอัดของชั้นดิน และเสาหลักที่ 3 คือการไถพรวนให้น้อย เพื่อรบกวนดินให้น้อยที่สุด

เรามั่นใจว่าหากมิตรชาวไร่ปรับพฤติกรรมตามหลักเกษตรสมัยใหม่ของมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มแล้วนั้น ปัญหาดินเสื่อมโทรมขาดความอุดมสมบูรณ์จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน และที่สำคัญอย่าลืมตรวจวิเคราะห์ดินตามความเหมาะสม เพื่อให้ทราบถึงคุณลักษณะของดินในพื้นที่ตนเอง เพื่อการบำรุงรักษาดินให้อุดมสมบูรณ์เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของอ้อยต่อไป

ที่มา : หนังสือ Blueprint ดินทราย

 

 

 

ข่าวปักหมุด