หน้าแรก

สวัสดีพี่น้องมิตรชาวไร่ค่ะ คนเก่งเกษตรสมัยใหม่วันนี้จะพาทุกท่านไปรู้จักกับมิตรชาวไร่คนเก่งแห่งภูเขียว ด้วยประสบการณ์การทำไร่อ้อยมาอย่างยาวนานร่วมสี่ทศวรรษ การันตีความเก่งด้วยรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นประจำปี 2561 เขาคนนี้ได้ฝากฝีไม้ลายมือไว้ด้วยผลงานเด่นเป็นที่ประจักษ์มากมายให้เพื่อนบ้านมิตรชาวไร่ ที่ต้องแวะเวียนกันมาขอเคล็ดลับการทำไร่ให้สำเร็จบนวิถีเกษตรสมัยใหม่ตามแนวทางของมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม...และคนเก่งเกษตรสมัยใหม่ของเราท่านนี้คือ “พ่อจำนงค์ อรัญภูมิ”

ย้อนเวลากลับไปช่วงวัยเด็กกว่าจะมาเป็นชาวไร่มากประสบการณ์

“ตอนเด็ก ๆ เราสนุกกับการวิ่งเล่นในท้องนา ได้เห็นรวงข้าวสวย ๆ ได้เห็นพ่อแม่ทำไร่นาด้วยรอยยิ้มเสมอมันทำให้เรารู้สึกผูกพันกับวิถีชีวิตแบบนี้ พอโตขึ้นก็ช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนาอย่างเดียว ทำเรื่อย ๆ จนเป็นวัยรุ่น ปี 2527 เริ่มเห็นแล้วว่าสิ่งที่บ้านเราทำอยู่มันได้กำไรไม่ดีเท่าที่ควร เพราะตอนนั้นเรายังไม่มีความรู้เกี่ยวกับการทำนาที่ถูกต้อง ตั้งหน้าตั้งตาทำไปอย่างเดียว ไม่ยอมศึกษาวิธีการดูแลข้าวที่ถูกต้องจนไม่สามารถรับมือกับวัชพืชที่มากเกินไปได้ผลที่ได้คือขาดทุนย่อยยับบวกกับที่นาตรงนั้นก็ไม่ใช่ของเรา ไปเช่าเขามาทำให้เราต้องมองหาพืชพันธุ์ที่มันทำกำไรได้ดีและดูแลรักษาง่ายกว่าข้าว ที่สำคัญต้องเป็นพืชที่คนในละแวกนี้ยังไม่นิยมปลูกกัน ซึ่ง 'อ้อย' เป็นสิ่งแรก ๆ ที่เรานึกถึง”

เส้นทางเริ่มชีวิตชาวไร่ในวัยสามสิบ

“ตัดสินใจผันตัวเองจากชาวนามาเป็นชาวไร่อ้อยในวัยสามสิบ การปรับตัวรับสิ่งใหม่ในช่วงเวลานั้นนับว่าท้าทายชีวิตคนหนุ่มมากพอสมควร เราเห็นปัญหาเมื่อครั้งตอนทำนามาแล้วว่า สิ่งที่เราต้องทำเพิ่มเติมคือการหาความรู้ใหม่ ดังนั้นเราจึงเริ่มต้นชีวิตการทำอ้อยจากการไปเป็นลูกไร่ของชาวไร่รายใหญ่เขาก่อน ขอไปดูไปเห็นว่าเขาทำกันอย่างไรก่อน”

“ระหว่างนั้นเลยเริ่มปลูกอ้อยเป็นของตัวเอง จนมาถึงปี 2535 ก็ตัดสินใจเปิดโควต้าเอง เริ่มที่ 900 ตันก่อน จนตอนนี้สัญญาปี 64/65 8,000 ตันแล้วนะ (พ่อจำนงค์ยิ้ม) ในช่วงเริ่มต้นเราต้องลงมือทำเองก่อนเกือบทั้งหมด บางทีก็ดึงญาติพี่น้องเข้ามาช่วยกันบ้างเป็นครั้งคราว แล้วก็พอจะได้ชาวไร่รายใหญ่สนับสนุนบ้างเรื่องค่ายา ค่าปุ๋ย และค่าอื่น ๆ เบี้ยบ้ายรายทางอยู่บ้าง ก็เรียกได้ว่าเราลองผิดลองถูกของเรามาตั้งแต่แรกเลยมากกว่า สมัยนั้นเรายังปลูกอ้อยห่างกันแค่ 1.20-1.30 เมตรคนอื่นเขามาเห็นก็ว่าปลูกห่างแล้วนะ เขาปลูกกันถี่ ๆ ติดกันกว่านั้นอีกนะถือเป็นปกติกันของเมื่อก่อนที่เขาจะเริ่มไถกันตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์เตรียมดินไว้รอปลูกใหม่ช่วงเดือนเมษายนจนถึงมิถุนายน”

เริ่มค้นพบต้นเหตุแห่งปัญหา

เมื่อวิเคราะห์ต้นเหตุแห่งปัญหาอยู่พักใหญ่ พ่อจำนงค์จึงออกไปมองหาเทคนิควิธีการทำไร่อ้อยอย่างไรให้ประสบความสำเร็จจากมิตรชาวไร่ละแวกใกล้เคียงที่ได้ผลผลิตดี จนมาถึงบางอ้อพบสิ่งสำคัญอยู่ที่การให้น้ำ

“เราได้ลองถูก ลองผิดกันมาสักพักใหญ่ เริ่มไปถามบ้านที่เขาทำไร่อ้อยได้เป็นสิบ ๆ ตัน ถึงได้รู้ว่าเขาใช้วิธีสูบน้ำเข้าไร่จากบ่อบาดาล ในเมื่ออ้อยต้องการน้ำปีนึงอยู่ราว ๆ 1,200-1,600 มิลลิเมตร อันนั้นคือเรารู้ แต่ที่เรายังไม่รู้คือฟ้าฝนจะยอมตกต้องตรงตามฤดูกาลหรือเปล่าซึ่งหากฝนไม่มาตามนัด การให้น้ำเสริมได้ในช่วงที่อ้อยต้องการน้ำจะช่วยเพิ่มผลผลิตให้เราได้มากขึ้นเป็นเท่าตัว จากปกติใครทำได้ 15 ตันต่อไร่ อาจเพิ่มขึ้นเป็น 25-30 ตันต่อไร่ได้เลยนะ เคล็ดลับเขาอยู่ตรงนี้กันนี่เอง

นอกจากนี้เรื่องน้ำ เรายังได้ทำเรื่องขอเข้าไปดูงานที่โรงงานน้ำตาลมิตรผลภูเขียวใกล้บ้านเรา มิตรผลเขาดีนะ ตอบรับและต้อนรับชาวไร่รายย่อยอย่างเรา เขาพาเราลงไปดูผลงานของมิตรชาวไร่ที่สำเร็จจากการทำเกษตรสมัยใหม่ ทำไร่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ซึ่งนอกจากจะได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์อย่างมากแล้ว เขายังแถมปุ๋ยให้เรามาใช้ฟรีอีกด้วย ไร่ละ 2 ถุง ถุงละ 50 กิโลกรัม ถ้าเรามี 40 ไร่ เขาก็จะให้ปุ๋ยเรามา 80 ถุง พ่อนี่ประทับใจมากเลยนะ ถือว่าได้ช่วยให้ชาวไร่ตัวเล็ก ๆ อย่างเราประหยัดเงินในส่วนนี้ พอทุ่นแรงไปได้เก็บหอมไว้ใช้ในส่วนอื่นได้อีก”

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญสู่ความสำเร็จ

“เราตั้งใจไว้มากว่าอยากทำได้แบบเขาบ้าง เรารู้มากขึ้นและมีแรงบันดาลใจจากการได้ไปเห็นผลงานของคนอื่นที่เขาสำเร็จด้วยตาตัวเองมาแล้ว จากที่เมื่อหลายสิบปีก่อนเราต้องเริ่มต้นใหม่จากศูนย์ เคยทำนาก็หันมาทำไร่อ้อย ต้องไปเช่าที่คนอื่นต้องเสียเงินจ้างคนมาตัดอ้อยสด 10-20 คน ช่วงแรก ๆ ได้อ้อยมา 6-7 ตัน เราก็ว่าเก่งแล้วนะ ยิ่งถ้าเห็นแปลงไหนทำได้ถึง 10 ตัน นั่นมันคือฟลุกเลยล่ะ แรก ๆ ยอมรับว่าเหนื่อย เสียค่าใช้จ่ายไปเยอะมากจนบางทีก็ท้อเหมือนกันว่าเราลงทุนไปกับอ้อยนี่มันจะคุ้มจริงหรือ? ยิ่งหลังจากนั้นไม่นานพอคนตัดอ้อยเริ่มเหลือน้อยลงแล้ว ชาวไร่เขาก็นิยมเผาอ้อยกันมากขึ้นเรื่อย ๆ เราก็เอากับเขาบ้าง แต่พอเผาเสร็จทีนี้กลายเป็นอ้อยไฟไหม้ จริงอยู่มันก็ดูเหมือนว่าจะตัดง่ายกว่า ช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้บ้างเหมือนกันเพราะมันใช้คนแค่ 4-5 คนงานก็เสร็จแล้ว แต่ผลผลิตที่ได้มันคืออ้อยไฟไหม้ 100% ไง ซึ่งสร้างปัญหาตามมาไม่รู้จบอ้อยไฟไหม้นี่นะ พอเรานำไปส่งโรงงานน้ำตาลก็อาจจะโดนปฏิเสธกลับมาได้นะ เพราะอ้อยมีกลิ่นไหม้ติดมามากเลยมันใช้ไม่ได้หรอก สรุปคือแทนที่จะดีกลายเป็นเสียทั้งเงินทั้งเวลา เพราะเราเคยผ่านมาหมดแล้วเลยต้องกลับมาคิดทบทวนอีกทีว่าที่เราเคยทำกันลงไปนี่มันแก้ปัญหาไม่ถูกจุดนะ ต้องหาทางออกใหม่นะ หลังจากนั้นเลยต้องหันหน้าเข้าหาเทคโนโลยีสมัยใหม่ตามที่มิตรผลเขาบอก”

ผันตัวสู่วิถีเกษตรสมัยใหม่

บนเส้นทางสายเกษตรสมัยใหม่ที่พ่อจำนงค์ เริ่มผันตัวมาสู่นั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากการมองหาเครื่องจักรกลเกษตรทันสมัยน้อยใหญ่เข้ามาใช้ในกิจกรรมการทำไร่ นับตั้งแต่ปี 2550 จวบจนถึงทุกวันนี้ครอบครัวอรัญภูมิมีรถตัดอ้อย 2 คัน รถบรรทุกร่วม 2 คัน รถพ่วงตนเอง 5 พ่วง รถแทรคเตอร์ 140 แรงม้า 1 คัน รถแทรคเตอร์ 108 แรงม้า 1 คัน รถแทรคเตอร์ 95 แรงม้า 1 คัน รถแทรคเตอร์ 24 แรงม้า 2 คัน ผานสับใบ เครื่องใส่ปุ๋ย 2 ขา เครื่องใส่ปุ๋ย 4 ขา Power Harrow และเครื่องปลูกอ้อย ถือเป็นชาวไร่ที่มาไกลและพร้อมมากสำหรับการทำไร่อ้อยยั่งยืนในแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม

"พื้นที่ปลูกอ้อยทุกแปลงของเราทั้ง 750 ไร่ วันนี้เราปลูกอ้อยระยะห่าง 1.85 เมตร หมดแล้วจากแต่ก่อนเคยปลูกร่องห่าง 1.20-1.30 เมตร ก็ขยับมาเป็น 1.65-1.70 เมตร ซึ่งชาวไร่ละแวกบ้านเราเขายังไม่มีใครกล้าทำร่องห่างขนาดนี้มาก่อนเลย แต่พอเราเอารถลงมาใช้ในไร่กลับได้ผลไม่ค่อยดีเท่าที่หวังไว้ทั้งเรื่องใส่ปุ๋ยเรื่องกำจัดหญ้าด้วย เลยไปปรึกษาที่โรงงานน้ำตาลมิตรผลภูเขียว เขาจึงแนะนำให้ปรับระยะห่างระหว่างร่องให้พอดีกับล้อรถเป็น 1.85 เมตร เราก็ว่าท่าจะจริงเลยปรับมันทุกแปลงเลย ซึ่งมันก็ได้ผลดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก"

พ่อจำนงค์เล่าด้วยความภาคภูมิใจและยังไม่หยุดเรียนรู้ที่จะนำสิ่งที่มีอยู่ในไร่มาช่วยกำจัดวัชพืชซึ่งเป็นปัญหาตลอดกาลของเหล่ามิตรชาวไร่

“ใคร ๆ ก็คงไม่ต้องการให้มีหญ้าอยู่ในแปลง เรา จึงต้องตัดอ้อยสดไว้ใบคลุมดินแบบ 100% ทั่วทั้งไร่ พร้อมกับฉีดยาคุมบาง ๆ ไม่ให้หญ้าขึ้นซึ่งมันช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าเราที่เคยต้องเสียไปกับค่าสารควบคุมวัชพืชได้ปีละ 3-4 แสนบาท เมื่อไม่มีหญ้าแล้ว อ้อยจะขึ้นได้เต็มที่และมีปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ พอเราได้เห็นผลงานที่ได้ ทำให้เรายิ่งภูมิใจที่เราทำทุกอย่างให้งอกเงยมาได้จนถึงทุกวันนี้”

ภูมิใจใช้เกษตรสมัยใหม่สู้ภัยแล้ง

และสิ่งที่ทำให้พ่อจำนงค์ภูมิใจในความเป็นมิตรชาวไร่พันธุ์แกร่งแห่งภูเขียวคือการเอาชนะภัยแล้งได้สำเร็จ อย่างเมื่อฤดูแล้งปี 2562 “ที่ผ่านมาอาจเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับเกษตรกรหลายคนเราเองก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ด้วยความที่เราเป็นเกษตรกรมาครึ่งค่อนชีวิตเราเจอปัญหามาแล้วทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะปรับระยะร่องอ้อยที่ไม่พอดี การเผาอ้อยเพราะความไม่รู้ หรือแม้แต่ภัยแล้งที่เราเองไม่สามารถกำหนดฟ้าฝนอะไรได้ แต่สิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้คือการหาวิธีรับมือกับมันด้วยวิธีที่ได้ผลมากที่สุดตามสถานการณ์หนนี้เราสู้โดยใช้ระบบน้ำหยดก็ให้น้ำไปอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ให้น้ำครั้งแรกแล้วประมาณ 10-20 วัน หรือจนกว่าฝนจะมาเราเตรียมรับมือไว้แล้ว เรามีบ่อบาดาลที่ขุดไว้ถึง 32 บ่อ และระบบโซล่าเซลล์อีก 8 ชุด ทำให้แล้งหนนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปเพราะสิ่งเหล่านี้ช่วยป้องกันอ้อยขาดน้ำได้เป็นอย่างดี แม้ผลผลิตจะน้อยกว่าที่เคยได้ไปบ้างแต่แล้งล่าสุดก็ไม่เจ็บตัวเท่าไหร่”

แรงใจจากครอบครัวคือพลังสู่ความสำเร็จ

แม้จะสนุกไปกับความสำเร็จจนหลงรักเกษตรสมัยใหม่ แต่สำหรับพ่อจำนงค์แล้วกำลังใจจากครอบครัวคือสิ่งที่ผลักดันและหนุนนำให้ทุกย่างก้าวยิ่งมั่นใจในวิถีนี้

“เราโชคดีที่คนในครอบครัวทุกคนเข้าใจอย่างภรรยาเองก็มาช่วยทำไร่อ้อยเป็นประจำ ก็ช่วยกันมาตั้งแต่เริ่มต้นจากศูนย์ เขาเห็นปัญหาที่เราเจออยู่เรื่อย ๆ แต่เขาก็อยู่เคียงข้างให้กำลังใจมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนลูกชายกับลูกสาวทั้งสองคนเขาเห็นว่าเรามุ่งมั่นกับการทำไร่อ้อย เขาก็ซึมซับความเป็นเกษตรกรจากเราไป หลังจากเรียนจบ ลูกสาว (คุณกรรณิการ์ อรัญภูมิ) และลูกชาย (คุณปรีชา อรัญภูมิ) ก็ได้นำความรู้ที่ร่ำเรียนมาปรับใช้ในกิจการงานไร่ ทำให้เราไม่ต้องไปลำบากให้คนอื่นเขาเข้ามาจัดการ เราเองก็ยิ่งดีใจที่ลูกทั้งสองกลับมาสานต่อกิจการที่เรารักและพวกเขาเองก็รักมันด้วยเหมือนกัน รู้สึกดีใจมากที่ได้สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เก่งกว่ารุ่นเราเสียอีกเพราะปัญหาที่เราเคยเจอมาเราแก้ให้พวกเขาได้เห็นกันแล้ว ไม่ต้องเสียเวลามาจัดการปัญหาเดิม ๆ เอาเวลาไปพัฒนาอย่างอื่นดีกว่าและเมื่อพวกเขาเห็นผลลัพธ์ที่ดีก็จะเกิดความภูมิใจในอาชีพชาวไร่อ้อย และส่งต่อความรู้สึกนี้ยังไปคนรุ่นหลานเราต่อไป”

พ่อจำนงค์ยังฝากข้อคิดถึงเพื่อนมิตรชาวไร่ที่ได้อ่านเรื่องราวของเขาว่า

“อะไรที่ไม่รู้ก็แค่ไปหาความรู้เพิ่มเติม อะไรที่เราไม่เคยทำ เราก็แค่ลงมือทำอย่างเต็มที่ ถึงจะล้มไปบ้างแต่เราก็ต้องรีบลุกให้ไวเพื่อที่เราจะได้ไปหาหนทางทำให้มันดีกว่านี้ให้ได้ สมัยนี้ทุกอย่างเข้าถึงง่ายไม่เหมือนรุ่นเราที่ไม่มีใครบอกอะไร เราต้องเดินไปหาความรู้ด้วยตัวเอง เราลองผิดลองถูกมาพอสมควร เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในการทำไร่มาเยอะ และมันก็เป็นภูมิคุ้มกันอย่างหนึ่งที่ทำให้เราไม่กลัวที่จะเริ่มสิ่งใหม่ คนรุ่นลูกรุ่นหลานโชคดีที่ได้มาทำเกษตรสมัยใหม่ ดังนั้นก็ขอให้ตั้งใจและไม่กลัวที่จะผิดพลาด เมื่อผลลัพธ์ออกมาตามที่ตั้งใจไว้ มันจะช่วยให้เราหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง”

และนี่คือ คนเก่งเกษตรสมัยใหม่จากชัยภูมิ “จำนงค์ อรัญภูมิ”

 

ข่าวปักหมุด