หน้าแรก

คุณสมรและคุณถนอม ภูวงษ์ไกร คู่สามีภรรยาเลือดอีสานจาก อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น หนึ่งในมิตรชาวไร่ที่ต้องปวดหัวกับปัญหาคุณภาพดิน โดยสภาพดินในพื้นที่ของคุณถนอมและคุณสมรซึ่งรวมแล้วมีประมาณ 600 ไร่ เป็นพื้นที่ดินร่วนปนดินทรายที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ยิ่งช่วงหน้าแล้ง น้ำในลำห้วยต่าง ๆ จะตื้นเขินไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้เลย

“สมัยก่อนมีคนมาดูดินทำไร่อ้อยเราแล้วก็ส่ายหัว บอกให้เราย้ายหนีไปเถอะ ปลูกอะไรไม่ได้หรอก ดินแบบนี้ แต่เราบอกว่าไม่ย้าย เราจะสู้ ก็จะให้ย้ายไปที่ไหนนี่คือบ้านของพวกเรา” คุณสมรเล่าย้อนความหลังให้พวกเราฟัง

ปัญหามีไว้สู้ ไม่ได้มีไว้ถอย

หลังจากตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะอยู่สู้ทำไร่อ้อยบนผืนแผ่นดินของตนเอง คุณสมรและคุณถนอม ก็มุ่งมั่นหาวิธีที่จะจัดการพลิกฟื้นผืนดินทราย ให้กลายเป็นพื้นที่ทำการเกษตรที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว จนได้มารู้จักกับมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ซึ่งเน้นเรื่องระบบการปลูกอ้อยรูปแบบใหม่ที่กลุ่มมิตรผลได้พัฒนาขึ้น

บนพื้นที่ปลูกอ้อยเท่าเดิม แต่ได้ผลผลิตที่มากกว่า และยังรักษาอ้อยตอให้มีคุณภาพมีความสมบูรณ์ของธาตุอาหารเพื่อการเก็บเกี่ยวในครั้งต่อ ๆ ไป

“ตอนที่ได้ฟังโรงงานน้ำตาลมาแนะนำการปลูกอ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ตอนนั้นคิดอยู่อย่างเดียวว่า เราต้องลอง เพราะจากปัญหาดินทรายที่เราเผชิญอยู่ตอนนั้นก็เรียกว่าหนักมาก ถ้าเราไม่ลองปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำไร่ เราจะอยู่ไม่ได้แน่นอน เราต้องหาวิธีลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ซึ่งเป็นหลักการที่สอดคล้องกับของมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม เราเลยตัดสินใจเปลี่ยนพื้นที่ที่มีอยู่ทั้งหมด 600 กว่าไร่ มาเดินตามแบบมิตรผล” คุณถนอมกล่าว

หลักสี่เสาประยุกต์สู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน

“เราทำตามหลักสี่เสาของมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มมา 3 ปีแล้ว เรียกได้ว่าเป็นคนแรก ๆ ของแถบภูเวียงที่หันมาทำ ทดลองทำ ลองผิดลองถูกด้วยกันมา พบว่าปัญหาดินทรายนี้ ถ้าเราบำรุงให้ดีและใช้มันสมองสองมือของเราจัดการมัน ปัญหาที่เราเคยคิดว่าหนักหนา ที่จริงก็ไม่เท่าไหร่หรอก” คุณสมรและคุณถนอมกล่าว

หลักสี่เสาของมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มนี้ เป็นเสมือนคัมภีร์ให้พี่น้องมิตรชาวไร่ได้ยึดถือไว้เป็นแนวทางการทำไร่อ้อยยุคใหม่ให้ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามหลักสี่เสานี้มิได้เป็นเหมือนตำราเรียนอันเป็นสูตรตายตัวให้มิตรชาวไร่ทำตามเพียงอย่างเดียว หากแท้จริงแล้ว หลักความสำเร็จอย่างยั่งยืนนั่นคือ การศึกษาและนำหลักการมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ สภาพภูมิอากาศ และความพร้อมของมิตรชาวไร่แต่ละคน

สู้ยิบตาประยุกต์เสาที่หนึ่ง : บำรุงดินด้วยข้าวไร่

หลักการแรกของโมเดิร์นฟาร์มนั้น ได้แนะให้ชาวไร่ปลูกพืชตระกูลถั่ว เพื่อให้สารอาหารกับดิน แต่คุณถนอมและคุณสมรพบว่า ด้วยพื้นดินที่เป็นดินทรายนั้นทำให้พืชตระกูลถั่วเติบโตค่อนข้างยาก ดังนั้น พืชทางเลือกที่สองสามีภรรยานักสู้เลือกทดลองนำมาปรับใช้บำรุงดินแทนพืชตระกูลถั่วคือ “ข้าวไร่”

“ปีนี้ ระหว่างที่พักดินปลูกอ้อย ผมก็ลองปลูกข้าวไร่เพิ่มเป็น 70 ถุง ข้อดีของข้าวไร่คือปลูกง่าย ใช้น้ำน้อย นอกจากเราได้บำรุงดินแล้ว ผลพลอยได้ คือ บ้านผมแทบจะไม่ต้องซื้อข้าวกิน เรานำผลผลิตมากินกันในบ้าน ได้แบ่งปันให้เพื่อนบ้านด้วย แถมยังมั่นใจว่าเป็นข้าวที่เราปลูกเองปลอดสารพิษแน่” คุณถนอมพูด

อย่างภูมิใจ

สู้ยิบตาประยุกต์เสาที่สอง : ลดการไถพรวนบดอัดหน้าดินด้วยการพูนโคน

จากหลักการโมเดิร์นฟาร์มที่สนับสนุนให้มิตรชาวไร่ยกร่องหรือ ขึ้นเบดฟอร์ม (bed form) ก่อนการปลูกอ้อยเพื่อลดภาระในการเตรียมดิน แต่ในทางปฏิบัติแล้ว คุณสมรคุณถนอมกลับพบว่าการปลูกอ้อยในพื้นที่ดินทรายนั้นจำเป็นต้องสร้างแนวเบดฟอร์มหลังจากที่ลงท่อนพันธุ์ไปแล้ว และยังต้องลงท่อนพันธุ์ให้ลึก จาก

นั้นจึงค่อยใช้วิธีพูนโคน โดยการไถดินระหว่างร่องเข้ามากลบที่โคนอ้อย ซึ่งก็จะช่วยให้เกิดร่องระหว่างแถวอ้อยได้

สู้ยิบตาประยุกต์เสาที่สาม : ปรับปรุงแปลง ควบคุมแนววิ่งรถตัด

คุณสมรและและคุณถนอมได้เล็งเห็นความสำคัญของการใช้เครื่องจักรทางการเกษตร จึงตัดสินใจปรับรูปแบบแปลง และเปลี่ยนวิธีการทำไร่เดินตามแนวทางของมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม

“เดิมทีที่เราเป็นแปลงเล็ก ๆ มีคันนากั้น เราก็เห็นว่าถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ไม่ได้เรื่องแน่ เพราะการจะใช้หัวรถลากหรือรถตัดอ้อยให้มันได้เต็มสมรรถนะ ถ้าจะให้ได้ผลดีมันต้องใช้บนไร่แปลงใหญ่ ๆ มันจะไม่เสียเวลามามัวแต่กลับรถกันอยู่ และไม่เปลืองน้ำมันด้วย เราเลยรื้อคันนาเพื่อรวมแปลงเล็กแปลงน้อยเข้า เราก็พยายาม ปรับกันมาเรื่อย ๆ จนตอนนี้เรามีรถตัดเป็นของตัวเองแล้ว 1 คัน ซึ่งก็ตัดอ้อยได้ปีละเกือบ 2 หมื่นตันเลยนะ”

สู้ยิบตาประยุกต์เสาที่สี่ : ไม่เผาอ้อย เน้นใช้รถตัดอ้อยสดเพื่อความยั่งยืน

คุณถนอมและคุณสมรใช้รถตัดเพื่อตัดอ้อยสดรักษาคุณภาพดิน อ้อยสดที่ได้ก็ยังได้ราคาดีกว่าอ้อยไฟไหม้ “เราชอบตัดอ้อยสดอยู่แล้ว ไม่ชอบให้รถตัดของเราต้องไปตัดแปลงอ้อยไฟไหม้เลย เอารถตัดไปตัดอ้อยไฟไหม้ ก็จะไปเจอยางยืดเหนียวเข้า แถมมลพิษจากการเผาอ้อยก็มีทั้งฝุ่นควัน คราบเขม่านี่ทำให้แสบปากแสบจมูกไปหมด ถ้าเลือกได้ตัดอ้อยสดดีกว่าเห็น ๆ ราคาอ้อยสดก็ดีกว่า ที่สำคัญดินของเราเป็นดินทรายกักเก็บน้ำและธาตุอาหารในดินได้น้อยอยู่แล้วถ้ายิ่งเผาอ้อย ก็ยิ่งเป็นการทำลายดินโดยไม่รู้ตัว”

ปลูกอ้อยข้ามแล้ง เพื่อผลกำไรที่ดีกว่าและเพื่อรักษาคุณภาพดิน

คุณถนอมและคุณสมรเลือกปลูกอ้อยข้ามแล้ง คือจะปลูกหลังฝนหมดไปแล้วในช่วงปลายเดือนตุลาคมจนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน โดยการปลูกอ้อยข้ามแล้งนั้น สิ่งที่สำคัญเป็นอันดับต้น ๆ คือ การเตรียมดินต้องดี ซึ่งต้นทุนการเตรียมดินจะสูงกว่าการปลูกอ้อยต้นฝน แต่อ้อยจะสามารถแตกกอได้ดีกว่า

“หลักสำคัญของการปลูกอ้อยข้ามแล้ง คือ การใช้น้ำฝนให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยช่วงแรกที่ปลูกอ้อยจนถึงช่วงก่อนย่างปล้อง จะเป็นช่วงที่อ้อยต้องการน้ำน้อยมากที่สุด ช่วงนี้วัชพืชต่าง ๆ ก็ขึ้นยากเพราะขาดน้ำ พอไม่มีหญ้าอ้อยของเราก็จะได้สารอาหารจากดินเต็มที่ และเมื่ออ้อยเริ่มย่างปล้อง ช่วงนี้เขาจะต้องการน้ำมาก เมื่อได้น้ำฝนอ้อยก็จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผลผลิตก็จะออกมาดี” คุณถนอมกล่าวถึงหลักการปลูกอ้อยข้ามแล้ง

 “อ้อยข้ามแล้ง ปลูกแล้วดินไม่เสีย เพราะใบอ้อยจะช่วยปกคลุมพื้นที่แปลงปลูก ช่วยให้หน้าดินไม่พังทลายจากฝนเป็นการปลูกอ้อยแบบยุคใหม่ ที่คำนึงถึงการรักษาผืนแผ่นดินที่เราใช้ทำกินอยู่ทุกวันนี้ส่งต่อให้ลูกหลานรุ่นต่อไปได้ใช้ต่อ”

“ทุกวันนี้ เราทำไร่ เราก็ไม่ได้คิดถึงแค่ผลผลิตที่จะได้เพียงวันนี้พรุ่งนี้อีกต่อไป สู้ยิบตากันมาถึงขนาดนี้ เราก็ภูมิใจที่ทำได้สำเร็จ วันนี้เรามองไปไกลถึงอนาคตเผื่อลูกเผื่อหลานของเรา เพราะเราเห็นว่า มิตรผลโมเดิร์น

ฟาร์มนั้นช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวไร่ได้อย่างแท้จริง และยังสร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพ จากที่เคยสิ้นหวัง เคย

ขาดทุนเพราะคิดว่าดินทรายนั้นปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น แต่ในวันนี้มิตรผลช่วยให้เราลุกขึ้นยืนได้ โชคดีที่ได้มารู้จักมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ไม่อย่างนั้นป่านนี้พวกเราคงย้ายบ้านหนีไปแล้ว” คุณถนอมกล่าวทิ้งท้าย

การนำหลักมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มเข้ามาประยุกต์ใช้กับวิถีชีวิตชาวไร่อ้อยอีสาน นับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนทั้งขั้นตอนวิธีการปลูกอ้อยของชาวไร่และยัง เปลี่ยนทัศนคติการทำการเกษตรของสองสามีภรรยาคนสู้อย่างคุณสมรและคุณถนอม แห่งภูเวียงไปอย่างสิ้นเชิง

ข่าวปักหมุด