หน้าแรก

การได้ทำอะไรที่อยู่บนพื้นฐานของความรักความผูกพันต่อสิ่งนั้น ผลลัพธ์ที่ได้มักออกมาสวยงามเสมอ เพราะเมื่อใดก็ตามที่เรามีความรักต่องานที่ทำ เราจะใส่ใจงานนั้นมากขึ้นและต้องการให้ผลลัพธ์ออกมาสมกับความตั้งใจของเรา คนเก่งมิตรชาวไร่ฉบับนี้ คือตัวอย่างของคนที่ทำไร่อ้อยด้วยความรักความใส่ใจ จากเรื่องอ้อยที่หลายคนมองว่ายากสำหรับวัยของเขา แต่เขาสามารถทำได้อย่างง่ายดาย

“คุณธานินทร์ อินทชัย” หรือต้อม ทายาทคนเก่งของพ่อเสน่ห์ อินทชัย มิตรชาวไร่จากเขตส่งเสริมที่ 6 หนองม่วง ผู้มีประสบการณ์ทำไร่กว่า 12 ปี ด้วยวัยเพียง 31 ปี ชาวไร่อ้อยคนเก่งจากโรงงานน้ำตาลสิงห์บุรี

จุดเริ่มต้นของการทำไร่อ้อย

“ผมช่วยงานในไร่พ่อกับแม่มาตลอดครับ ในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยพอมีเวลาในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ผมจะลงไร่ไปช่วยตลอด จนกระทั่งเรียนจบปริญญาตรี ผมก็ตัดสินใจมาทำไร่อ้อยเต็มตัว เพราะผมรักและผูกพันทั้งกับงานในไร่และกับครอบครัว พูดง่าย ๆ เลยคือผมไม่อยากไปทำงานที่อื่นเพราะคิดถึงบ้านครับ”

บทบาทหน้าที่ในไร่

“ผมมีหน้าที่บริหารจัดการทำไร่อ้อยตั้งแต่ต้นจนเก็บเกี่ยว บำรุงรักษาเครื่องมือเครื่องจักรต่าง ๆ เป็นกำลังหลักในการวางแผนการทำไร่อ้อยร่วมกับพ่อแม่ครับ นอกจากนั้นก็รับจ้างปลูก รับจ้างเตรียมดินและตัดอ้อยด้วย เพราะเรามีรถไถคันใหญ่ 3 คัน อุปกรณ์เตรียมดิน ปลูกอ้อย ครบชุด และรถตัด John Deere CH570 จำนวน 1 คัน ทำให้สามารถรับจ้างบริการกิจกรรมในไร่ให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยอื่น ๆ ได้ครับ”

มองการทำไร่อ้อยจากอดีตสู่การทำไร่อ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มแตกต่างกันอย่างไร

“ผมคลุกคลีการทำไร่อ้อยมาตั้งแต่เด็ก เห็นวิธีทำไร่ของพ่อแม่สมัยก่อน จะค่อนข้างเหนื่อยมาก และผลผลิตไม่คงที่ พอมีการทำไร่แบบโมเดิร์นฟาร์มเข้ามา ทั้งการขยายร่องอ้อยรองรับรถตัด การตัดอ้อยสดไว้ใบคลุมดิน ทุกอย่างมันง่ายขึ้น ผมปลูกอ้อยระยะร่อง 1.85 เมตร 100% นะครับ เน้นการใช้เครื่องจักรเข้ามาทำงาน ทั้งปลูก ฝังปุ๋ย กำจัดวัชพืช และตัดอ้อยสด ผมมองว่าตัดอ้อยสดเร็วกว่ามาก งานเสร็จไว ได้เงินดี ผลผลิตปี 64/65 ที่ผ่านมา อ้อยปลูกเฉลี่ย 20 ตัน/ไร่ อ้อยตอเฉลี่ย 15 ตัน/ไร่ ค่าความหวาน (C.C.S.) เฉลี่ย 13.55 ครับ ”

เคล็ดลับการทำไร่อ้อยให้ได้ผลผลิตดี

“เรื่องเคล็ดลับผมยกให้เรื่องน้ำเป็นอันดับหนึ่ง ทำอ้อยจะพึ่งพาฝนฟ้าอากาศอย่างเดียวไม่ได้ ผลผลิตจะไม่ได้ตามเป้าหมายแน่นอน ต้องสร้างระบบชลประทานในไร่ขึ้นมาด้วย ผมมีสระน้ำ 10 สระ บ่อบาดาล 1 บ่อ แล้วใช้ระบบน้ำหยดในไร่ ให้น้ำตั้งแต่เริ่มปลูกและพออ้อยเริ่มงอกก็ให้น้ำอีกรอบ ยิ่งให้น้ำรอบที่ 3 ยิ่งได้ผลผลิตดี”

“นอกจากน้ำก็มีปุ๋ย ผมใช้ปุ๋ยซอยล์เมตสูตร 21-7-18 ลองมาหลายยี่ห้อแล้ว อันนี้ถูกใจที่สุดครับ แล้วก็มีเรื่องของการทำแต่ละกิจกรรมให้ทันตามเวลาครับ ผมมองว่าแต่ละช่วงมีความสำคัญ เราต้องวางแผนให้ทำงานได้ตามกำหนด ถ้าล่วงเลยไป ทุกอย่างก็ล่าช้า เร่งปลูกให้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด พื้นที่ปลูกอ้อยของเรามี 200 ไร่ รวมของครอบครัวด้วยก็ 400 ไร่ ดังนั้นต้องวางแผนดี ๆ ครับ”

มีแนวคิดในการพัฒนาไร่อ้อยในอนาคตไปในทิศทางใด

“ผมต้องการเรียนรู้และพัฒนาอาชีพการทำไร่ให้เป็นเชิงธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ให้ความสำคัญเรื่องการใช้เทคโนโลยี เน้นเรื่องการจัดการให้ทันเวลา และตั้งใจจะขยายพื้นที่ปลูกไปเรื่อย ๆ ครับ”

หัวใจสำคัญในการทำไร่อ้อย

“ผมรักในการทำไร่อ้อยครับ รักงานตรงนี้มาก เลยใส่ใจกับทุกขั้นตอนที่ทำ พอเรารักที่จะทำแล้ว เรื่องที่หนักก็จะเบา เรื่องที่ยากก็จะง่ายทันที เพราะเราไม่ได้ฝืนทำ ผมมองว่าการทำไร่อ้อยในปัจจุบันทำได้ง่ายมาก เพราะเรามีเทคโนโลยีเข้ามาใช้งาน มีเครื่องจักรที่สามารถทดแทนคนงานได้ 100% งานเสร็จเร็วขึ้น คนเหนื่อยน้อยลง”

จากมุมมองของคนเก่งมิตรชาวไร่ในวันนี้ พิสูจน์ให้เห็นว่า แม้อายุยังน้อย แต่เมื่อเขารักและผูกพันกับอาชีพชาวไร่อ้อย ความสำเร็จจะถูกถ่ายทอดออกมาผ่านกระบวนการทำงานที่ใส่ใจทุกขั้นตอน ทำให้ได้ผลผลิตงดงามตามความรู้สึก และสร้างความภูมิใจให้แก่ครอบครัว กลายเป็นคนเก่งที่น่ายึดเป็นแบบอย่างและเห็นอนาคตอาชีพไร่อ้อยจากสายตาคนรุ่นใหม่แล้วว่า อาชีพนี้จะยังคงอยู่กับเกษตรกรไทยสืบไป

ข่าวปักหมุด