หน้าแรก

สวัสดีค่ะมิตรชาวไร่ ในยุคสมัยที่ความสำเร็จไม่จำกัดอายุ เราได้เห็นคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของเส้นทางอาชีพตั้งแต่อายุยังน้อย พวกเขาเหล่านี้มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นคือความกล้าที่จะสำรวจความสนใจของตัวเอง ด้วยความอยากรู้อยากเห็นที่ไม่มีขีดจำกัด พวกเขาไม่เพียงค้นพบสิ่งที่ตัวเองหลงใหล แต่ยังมีความกล้าที่จะลงมือทำอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเผชิญกับอุปสรรคหรือเสียงวิจารณ์ใด ๆ พวกเขายังคงมุ่งมั่น ทุ่มเทเวลาในการฝึกฝนและพัฒนาทักษะ จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาของตน ความสำเร็จของพวกเขาไม่ได้เกิดจากโชคชะตาหรือพรสวรรค์เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการผสมผสานระหว่างความชอบ ความกระตือรือร้น และความพยายามอย่างไม่ลดละ สิ่งเหล่านี้พิสูจน์ให้เห็นว่า อายุเป็นเพียงตัวเลข และไม่มีใครเด็กเกินไปที่จะเริ่มต้นเส้นทางสู่ความสำเร็จ หากมีหัวใจที่พร้อมจะเรียนรู้และมือที่พร้อมจะลงมือทำ

คนเก่งเกษตรสมัยใหม่วันนี้จะพาทุกท่านไปรู้จักกับ นายนราธิปและนายอภิสิทธิ์ กาญจนะกัณโห ทายาทพ่อธงชัย ชาวไร่สังเคราะห์ 4 แห่งภูหลวง ทายาทต้นแบบเกษตรสมัยใหม่ ที่ใช้ใจและเทคโนโลยีนำทาง สู่การทำไร่อ้อยให้ประสบความสำเร็จ

จุดเริ่มต้นเส้นทางชีวิตของเถ้าแก่หนุ่มแห่งมิตรภูหลวง

นายนราธิป หรือคุณเอ๋ ทายาทคนโตของพ่อธงชัย เป็นตัวแทนน้อง ๆ สองคนเพื่อให้ข้อมูลสัมภาษณ์แก่ทีมงาน คุณเอ๋เริ่มเล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของการเข้ามาช่วยครอบครัวทำไร่อ้อยอย่างเต็มตัว เริ่มตั้งแต่ตนเองสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งในช่วงนั้นพ่อธงชัยได้ลงทุนซื้อรถตัดอ้อยคันแรกของครอบครัว และเรียกได้ว่าเป็นผู้นำรถตัดของมิตรภูหลวงเลยก็ว่าได้

“ผมเรียนจบ พ่อก็ซื้อรถตัดอ้อย และถามว่าผมไหวไหม ผมก็ตอบพ่อว่าไหว เราคุลกคลีช่วยงานในไร่อ้อยมาตั้งแต่เด็ก ๆ ตอนเรียน วันหยุดเสาร์อาทิตย์ ก็กลับมาช่วยงานในไร่ ซึ่งเราชอบงานตรงนี้อยู่แล้ว เลยตัดสินใจมาช่วยครอบครัวทันทีที่เรียนจบ”

เมื่อถามว่าอะไรคือจุดตัดสินใจให้รับปากพ่อเพื่อมาทำไร่อ้อยเต็มตัว คุณเอ๋ตอบรับทันทีว่า

“เพราะความชอบครับ ผมชอบงานในไร่อ้อย มันอิสระ ไม่จำกัดความคิด เราอยากลอง อยากลงมือทำอะไร เราสามารถวางแผนและลองทำได้เลย ผมเคยไปฝึกงานที่บริษัทแล้วครับ แต่งานบริษัทมีกรอบ มีกฎระเบียบที่เราต้องปฏิบัติตาม ไม่ใช่ไม่ดีนะครับ มันก็ดีอีกแบบหนึ่ง แต่สำหรับผม ชอบความอิสระ ความท้าทาย ผมว่างานไร่อ้อยนี่แหละตอบโจทย์ที่สุด และที่สำคัญผมชอบงานในไร่อ้อยมากกว่าครับ”

คุณสมบัติโดดเด่นของชาวไร่ กับบทบาทผู้เชี่ยวชาญในด้านการบริหารจัดการการตัดอ้อย

ด้วยคุณสมบัติของชาวไร่ที่โดดเด่น ทั้งเรื่องการเรียนรู้และอยากพัฒนาไร่อ้อยด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้คุณเอ๋มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการการตัดอ้อย และสามารถให้คำปรึกษาแก่สมาชิกโดยรอบในพื้นที่ใกล้เคียงได้เป็นอย่างดี

“ต้องขอบคุณมิตรผลที่ให้โอกาสได้เข้าอบรมโครงการ Smart Farmer ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดโลกให้กับผมมาก ได้เรียนรู้การใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ในการทำไร่อ้อย มีทั้งระบบน้ำ การเตรียมดิน การใช้ระบบ GPS ในไร่อ้อย เมื่อก่อนเราจะเห็นครอบครัวปลูกอ้อยสมัยเก่า ไม่รู้จักระบบน้ำหยด ไม่มีระบบโซล่าร์เซลล์ ไม่มีพืชบำรุงดิน สิ่งเหล่านี้ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมอบรมของโรงงาน ยิ่งพวกเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย ยิ่งทำให้เรามองเห็นการทำไร่อ้อยที่ง่ายและสะดวกสบายขึ้น ผมเป็นคนชอบเครื่องจักร เครื่องมืออยู่แล้ว เลยไม่รู้สึกว่ามันยาก กลับรู้สึกอยากลองมากกว่า”

จากความอยากรู้ อยากลอง ทำให้คุณเอ๋ ที่มีประสบการณ์บริหารงานตัดมามากกว่า 5 ปี มีทักษะเรื่องการใช้รถตัดอ้อย การซ่อมบำรุง และการวางแผนบริหารจัดการอ้อย สามารถให้คำปรึกษาการเตรียมแปลงรองรับรถตัดให้กับสมาชิกรถตัดได้ ให้คำแนะนำสมาชิกที่ปลูกแล้วรถตัดไม่สามารถตัดได้ทั้งหมด หาสาเหตุและคำแนะนำให้แก่สมาชิก

“บางคนยังไม่เข้าใจการใช้งานรถตัดอย่างเต็มที่ หรือบางคนอยากใช้รถตัดแต่ไม่กล้าใช้ เพราะกลัวอ้อยหล่น ตัดอ้อยไม่หมด จากการเข้าไปช่วยเหลือแต่ละแปลง ทำให้ผมรู้ว่าปัญหาแต่ละแปลงเป็นอย่างไร ผมก็จะแนะนำเป็นรายบุคคล บางทีทางโรงงานจัดอบรม ก็ได้ไปให้คำแนะนำชาวไร่ท่านอื่นเป็นระยะครับ”

การจัดการไร่อ้อยด้วย Farm Layout และเทคโนโลยีสมัยใหม่ นำไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน

จากการเข้าร่วมอบรมกับโรงงาน คุณเอ๋ยังได้นำเทคนิคการจัดการแปลง หรือ การทำ Farm Layout เข้ามาใช้ในไร่อ้อยของครอบครัว แม้ช่วงแรกจะมีอุปสรรค จากความกังวล และความไม่มั่นใจจากคนในครอบครัว แต่คุณเอ๋ได้พิสูจน์แล้วว่า การทำ Farm Layout ที่ดี คือรากฐานสู่การทำไร่อ้อยให้ประสบความสำเร็จ

“ก่อนที่เราจะปรับระยะร่องเป็น 1.65 -1.85 เมตร ระยะร่องของเราคือ 1.20-1.30 เมตร แรก ๆ แม่ผมก็มีความกังวล เพราะร่องห่างเกินไป กลัวได้ผลผลิตน้อย เพื่อนชาวไร่คนอื่นก็ตกใจ คิดว่าจะได้ผลจริงเหรอ เพราะจากร่อง 1.20 เมตร กระโดดมาที่ 1.65-1.85 เมตร แต่ความคิดผมตอนนั้น คือ ผมมองที่ตอนจบของงาน มองเห็นว่าเราสามารถใช้เครื่องจักรในไร่ได้ นั่นคือความสบายของการทำไร่ อยากทำไร่ให้ง่ายขึ้น เราเห็นแล้วว่าถ้าทำงานแบบใช้แรงตลอดเวลาก็ไม่ไหว ถ้าปรับปรุงระบบได้ เราก็ทำงานสะดวกสบายมากขึ้น”

หลักสำคัญในการจัดทำ Farm Layout ของไร่กาญจนะกัณโห คุณเอ๋กล่าวว่า

“ต้องทำให้ดินเรียบที่สุด ต้องจัดการตอไม้ และหินให้ได้มากที่สุด ถ้าหินเยอะต้องเก็บ 2-3 รอบ ถ้าเป็นพื้นที่ที่ยากเกินไป ต้องใช้แบล๊คโฮลมาปรับพื้นที่ หากพื้นที่ไหนเป็นร่องหรือสระตรงกลาง ต้องถมให้แล้วย้ายสระไปที่ขอบไร่ เพื่อให้เครื่องจักรทำงานได้สะดวก พอปรับพื้นที่เสร็จ ต้องมาร์กร่องระยะปลูกตามแนวระยะห่าง 1.65 ม. 1.85 ม. จากนั้นก็กลบร่อง พูนโคนตามปกติ"

เมื่อจัดการแปลงได้ดี จนเครื่องจักรสามารถเข้าทำงานในไร่ได้แล้ว การทำงานในไร่อ้อยก็สะดวกสบายยิ่งขึ้น คุณเอ๋เล่าว่า บ้านกาญจนะกัณโหเป็นรุ่นบุกเบิกรถตัดเจ้าแรกของมิตรภูหลวงที่นำรถตัดเข้ามาใช้งานตัดอ้อยสดในไร่อ้อย นอกจากนี้ยังใช้รถไถประเภทต่าง ๆ เข้ามาจัดการไร่อ้อย ทำให้ลดปัญหาเรื่องจัดการแรงงานได้

“เมื่อก่อนตัดอ้อยต้องมีคนงาน 40 คน ทั้งคนขึ้น คนกอง คนตัด ต้องวิ่งรับส่งทุกวัน ส่งข้าว ส่งน้ำ แต่ทุกวันนี้เราใช้เครื่องจักร มีคนงานประมาณ 7 คน ในการบำรุงตอ ใช้รถไถใหญ่ รถไถ 24 แรง เข้าใส่ปุ๋ย หว่านปุ๋ย ฉีดยาอ้อยได้ ลดการใช้แรงงานไปได้เยอะ ตอนนี้เรามีรถตัด 1 คัน ตัดอ้อยสด 100% พื้นที่ไหนรถเข้าตัดไม่ได้ ก็ใช้คนงานตัด ข้อดีของการตัดอ้อยสด คือ อ้อยสะอาด ได้ทิ้งใบอ้อยคลุมดิน ทำใหเดินมีอินทรีย์วัตถุเยอะ”

พักดิน บำรุงดิน ปัจจัยเสริมให้อ้อยเจริญเติบโต

เทคนิคการทำไร่อ้อยที่โดดเด่นอีกประการของครอบครัวกาญจนะกัณโห คือ การพักดินและการบำรุงดิน คุณเอ๋เล่าว่า ที่ไร่จะต้องพักดินทุกปีประมาณ 100 ไร่ เพื่อปลูกอ้อยเดือนตุลาคม การพักดินที่นี่จะปลูกปอเทือง เพื่อให้ได้ปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน

อีกเทคนิคที่สำคัญคือ เมื่อสังเกตว่าแปลงไหนได้ผลผลิตอ้อยต่ำ ไว้ตอได้น้อยกว่า 3 ปี จะต้องรื้อแปลงเพื่อบำรุงดิน ด้วยการใช้กากหม้อกรอง ซึ่งจากการทดลองพบว่า เพียง 1 ปี แปลงที่ดินมีปัญหาจะกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

“ผมจะเลือกบำรุงเป็นจุด วิธีการคือใส่กากหม้อกรอง ไถพรวนแล้วมาร์กร่องปลูก เรืองน้ำก็สำคัญ ที่ไร่ของเราจะวางระบบน้ำหยด 100% ให้น้ำหยดแบบ Fully Irrigation เมื่ออ้อยอายุ 2 เดือน จะฝังปุ๋ยอีกรอบ ถ้าปีไหนแล้ง เราก็ให้น้ำเลย อ้อยเดือนที่ -3-4 ก็พูนโคนอ้อย ให้รถวิ่งได้ จากนั้นให้ฮอร์โมนปุ๋ย โดยใช้โดรนฉีดพ่น”

ทำไร่อ้อยต้องใส่ใจ เพื่อเป้าหมายสู่ความสำเร็จ

พ่อธงชัย นับว่าเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ทายาท จากการทำไร่อ้อยเพียง 20 ไร่เมื่ออดีต สู่ธุรกิจไร่อ้อยกว่าพันไร่ ที่เปรียบเสมือนศูนย์รวมของคนในครอบครัว ได้ต่อยอดธุรกิจไร่อ้อยของตนเอง

ความสำเร็จที่เกิดขึ้น คุณเอ๋มองว่า การทำไร่อ้อยไม่ได้แตกต่างกันมากนัก แต่สิ่งที่ต่างกันคือ ความใส่ใจ

“นอกจากเรื่องเครื่องจักรแล้ว หัวใจสำคัญของการทำไร่อ้อยให้ประสบความสำเร็จ ผมว่าคือ ความใส่ใจ การทำไร่ไม่ได้แตกต่างกัน แต่อยู่ที่ความใส่ใจ ยิ่งเราทำเยอะ เราต้องไปดูแลทุกแปลง เราถึงจะสามารถสั่งคนงานให้ไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ ถ้าเราเก็บรายละเอียดแต่ละจุดได้ จะเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มคุณภาพของอ้อยได้ ผมว่าทำพื้นฐานให้ได้และทำให้ทันเวลา อ้อยก็งามแล้วครับ”

เมื่อให้มองแผนการทำไร่อ้อยในอนาคต คุณเอ๋และครอบครัวมองว่า การขยายไร่อ้อยขณะนี้มีปริมาณที่เพียงพอแล้ว จะมุ่งไปที่การบำรุงพื้นที่ เพื่อเพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่ให้ได้มากขึ้น นอกจากนี้ก็มองถึงธุรกิจรับเหมาตัดอ้อยที่ตนเองมีประสบการณ์กว่า 5 ปี เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระเพื่อนชาวไร่รายอื่นที่ยังไม่มีรถตัดและอยากตัดอ้อยสด

นอกจากนี้คุณเอ๋ยังได้ทิ้งท้ายถึงทายาทชาวไร่ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจเข้ามาทำงานในไร่อ้อยอย่างจริงจังว่า

การทำไร่อ้อย ตอบโจทย์ของคนที่อยากทำอาชีพส่วนตัว ชอบความท้าทาย และที่สำคัญ อ้อยสร้างเงินได้เยอะ การปลูกอ้อยไม่ยุ่งยาก ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย โรงงานพร้อมให้การช่วยเหลือแนะนำอย่างดี ขอแค่เปิดใจลอง แล้วโอกาสต่าง ๆ จะเข้ามาหาเราเอง

และนี่คือทายาทต้นแบบเกษตรสมัยใหม่จากครอบครัวกาญจนะกัณโห

ที่มาข้อมูล :  วารสารมิตรชาวไร่

ข่าวปักหมุด